เมื่อลิงมี ‘ป่า’ เป็นเสมือน ‘ร้านขายยา’

เมื่อลิงมี ‘ป่า’ เป็นเสมือน ‘ร้านขายยา’

คุณเคยเห็นน้องแมวหรือหรือน้องหมาของคุณกินหญ้าหรือไม่?

ที่สัตว์เลี้ยงของคุณทำเช่นนั้นเพราะการกินหญ้าเข้าไปสามารถช่วยย่อยอาหารของพวกเขาได้ และสัตว์ป่าหลายชนิดก็ใช้สารจากธรรมชาติในการป้องกันและควบคุมโรค รวมถึงเพื่อกำจัดปรสิตในร่างกายเช่นกัน

กระบวนการนี้คือ ‘zoopharmacognosy’ หรือที่เราเรียกกันว่า การรักษาหรือการใช้ยาด้วยตนเองโดยสัตว์ (self-medication)

การปฏิบัตินี้มีฟังก์ชันของการป้องกันหรือการรักษาที่ออกแบบมาเพื่อป้องกันรักษาโรค รวมถึงพฤติกรรมต่าง ๆ เช่น การกินพืชสมุนไพร ดิน หรือการใช้สารในร่างกาย ตัวอย่างเช่น สัตว์หลายชนิดมีการกินสิ่งสกปรกเข้าไป เพื่อรับแร่ธาตุที่จำเป็น รวมถึงช่วยในเรื่องของการย่อยอาหาร ในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมพบพฤติกรรมการรักษาตนเองในสัตว์นี้ อาทิเช่น ช้าง หมี กวางเอลค์ รวมถึงสัตว์กินเนื้อหลายชนิด และเป็นที่รู้จักกันดีในกลุ่มในไพรเมต

ที่ห้องปฏิบัติการ Primatology ของ State University of São Paulo (UNESP) ในประเทศบราซิล ทีมนักวิจัยได้ศึกษาพฤติกรรมทางนิเวศวิทยาของ black lion tamarin (Leontopithecus chrysopygus) หรือที่รู้จักในชื่อ golden-rumped tamarin เป็นลิงโลกใหม่ (neotropical primate) ขนาดเล็ก พบได้เฉพาะถิ่นในป่าดิบชื้นของบราซิลทางฝั่งตะวันออกติดมหาสมุทรแอตแลนติก ปัจจุบันเป็นสัตว์ที่อยู่ในสถานะใกล้สูญพันธุ์ (Endangered) เพราะถิ่นที่อยู่อาศัยถูกทำลายไป จากการเปลี่ยนแปลงเป็นพื้นที่เกษตรกรรมและอุตสาหกรรม และถูกจับไปขายเป็นสัตว์เลี้ยง

ส่วนหนึ่งของโครงการนี้ เป็นหัวข้องานวิจัยของ Olivier Kaisin นักศึกษาปริญญาเอก มหาวิทยาลัย Liège ซึ่งมุ่งเน้นไปที่การศึกษาการตอบสนองทางสรีรวิทยาและพฤติกรรมของ ‘ลิงทามาริน’ ต่อการแตกกระจายของผืนป่า และคุณภาพของถิ่นที่อยู่อาศัยที่ลดลง

ในภาคสนาม นักวิจัยได้ติดตามกลุ่มของ ‘ลิงทามาริน’ ภายในหย่อมป่าแอตแลนติก เพื่อรวบรวมข้อมูลพฤติกรรมและตัวอย่างอุจจาระสำหรับการวิเคราะห์ฮอร์โมน โดยปกตินักวิจัยจะตื่นนอนตอนเช้าและเดินตามลิงทามารินตั้งแต่ลิงทามารินตื่นนอน จนกลับมานอนก่อนที่พระอาทิตย์จะตกดินเล็กน้อย

ในระหว่างทำการศึกษาในแต่ละวัน นักวิจัยสังเกตเห็นว่าลิงทามารินใช้ร่างกายถูไปกับลำต้นของต้นไม้ที่ปกคลุมไปด้วยเรซิน ในตอนแรกนักวิจัยคิดว่าลิงทามารินกำลังทำเครื่องหมายแสดงอาณาเขตของพวกมัน ซึ่งเป็นพฤติกรรมที่พบได้ทั่วไป แต่อันที่จริงลิงทามารินกำลังถูตัวกับลำต้นเพื่อให้เรซินที่อยู่ตามเปลือกไม้หลุดออกมาเคลือบกับขนของมัน สิ่งที่นักวิจัยทำต่อมาคือ มีการเก็บภาพ และเก็บตัวอย่างเปลือกไม้ รวมถึงเรซินเพื่อระบุชนิดพันธุ์ของต้นไม้นี้

เมื่อนักวิจัยนำตัวอย่างเปลือกไม้กลับไปยังบ้านผู้ดูแลที่ดูแลทีมนักวิจัยระหว่างออกภาคสนาม พบว่าผู้ดูแลจำกลิ่นแปลกๆ ของต้นไม้ชนิดนี้ได้ในทันที ซึ่งชาวบ้านเรียกต้นไม้ชนิดนี้ว่า cabreúva ซึ่งอันที่จริง เรซินที่ผลิตได้นั้นมีกลิ่นไม้ที่มีกลิ่นของซินนามอน กานพลู น้ำผึ้งและต้นสน ต่อมาผู้เชี่ยวชาญด้านพฤกษศาสตร์ได้ยืนยันในภายหลังว่า เรซินนี้มาจากต้น cabreúva (Myroxylon peruiferum) ซึ่งเป็นต้นไม้ที่รู้จักกันดีในประเภทของยาแผนโบราณ ซึ่งมีคุณสมบัติในการเป็นยาปฏิชีวนะ ต้านการอักเสบ และต้านปรสิตได้

นักวิจัยจึงได้ตัดสินใจตั้งกล้องดักถ่ายในบริเวณนี้ เพื่อบันทึกการมาเยือนของลิงทามารินในอนาคต และจากกล้องดักถ่ายที่ถ่ายไว้นั้นพบว่า มีสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมจำนวนมากมาที่ต้น cabreúva นี้ โดยรวมแล้วพบกว่า 10 ชนิด โดยจะใช้ลำตัวถูกับต้นไม้ หรือมีการเลียเรซินที่ไหลออกมาจากต้นไม้ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมโลกใหม่ เช่น แมวป่าโอเซลอต ทาแมนดัว โคอาติอเมริกาใต้ ไทรา หมูเพกคารีและเรดดาเกต์

การใช้สารจากธรรมชาติเหล่านี้ชี้ให้เห็นว่า สัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมมีการใช้ประโยชน์จากต้น cabreúva เพื่อรักษาบาดแผลและกำจัดปรสิตสำหรับ black lion tamarin ได้ การใช้เรซินจากต้น cabreúva อาจมีบทบาทสำคัญในการรักษาโรคไข้เหลือง (Yellow Fever) คือโรคติดต่อรุนแรงที่เกิดจากโรคไวรัสไข้เหลือง มียุงเป็นพาหะนำโรค ซึ่งสามารถทำลายประชากรกลุ่มไพรเมตได้

ต้น cabreúva (Myroxylon peruiferum) สามารถเป็นตัวแทนของร้านขายยาทั่วไปสำหรับผู้ที่อาศัยอยู่ในป่าแอตแลนติกของบราซิลได้ และน่าจะเป็นทรัพยากรที่มีคุณค่าและข้อพิพาท ว่าสามารถช่วยให้ชนิดพันธุ์ที่ใช้มันมีสุขภาพที่ดีขึ้น และเพิ่มอัตราการขยายพันธุ์ของมันได้

การค้นพบครั้งนี้อาจมีความหมายถึงการอนุรักษ์ที่สำคัญ เนื่องจากการหายไปจากหย่อมป่าที่เสื่อมโทรมของชนิดพันธุ์นี้ อาจส่งผลต่อการอยู่รอดของชนิดพันธุ์อื่นตามมา


อ้างอิงงานวิจัย 

อ้างอิง

ผู้เขียน

+ posts

สาวแว่นทาสแมวที่ชอบบอกเล่าเรื่องราวผ่านลายเส้น มีธรรมชาติช่วยฮีลใจ และหลงใหลในพระจันทร์เสี้ยว