นกอีโก้ง สีสันแห่งพื้นที่ชุ่มน้ำ

นกอีโก้ง สีสันแห่งพื้นที่ชุ่มน้ำ

หากใครเคยไปยังพื้นที่ชุ่มน้ำ หรือบริเวณหนองน้ำ คงเคยได้เห็นหน้าค่าตาเจ้าตัวสีสันฉูดฉาดตัวนี้มาบ้าง แต่หากใครยังไม่รู้จัก หรือพอคุ้น ๆ หน้าแต่นึกชื่อไม่ออก เกร็ดความรู้ในสัปดาห์นี้แอดมินขอพามาทำความรู้จักกับเจ้านกสีสันสะดุดตา ‘นกอีโก้ง’ สีสันแห่งพื้นที่ชุ่มน้ำ

นกอีโก้ง หรือ Purple Swamphen มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Porphyrio porphyrio เป็นนกชายเลนน้ำจืดนกน้ำขนาดกลาง ที่มาของชื่อภาษาอังกฤษนั้น มาจากสีสันของลำตัวที่มีสีม่วงอมน้ำเงิน มีความโดดเด่นท่ามกลางสีเขียวขจีของพืชน้ำที่ตัดกับสีปาก กระบังหน้าผาก ขา และเท้าที่มีสีแดงสด และหากนกอีโก้งกระดกหางขึ้นก็จะเผยให้เห็นถึงขนคลุมใต้หางที่มีสีขาวสะอาด ถือเป็นนกที่มีสีสันสะดุดตา และสามารถพบได้บ่อยครั้งในพื้นที่ที่มีแหล่งน้ำขนาดใหญ่ซึ่งมีพืชน้ำปกคลุมอยู่ 

นกอีโก้งเป็นทั้งนกประจำถิ่นและนกอพยพ พบบ่อยในบางพื้นที่ สามารถพบได้ตั้งแต่ในยุโรป แอฟริกา อินเดีย จีน ศรีลังกา เมียนมาร์ และมีความหนาแน่นของประชากรในประเทศไทย ลาว เวียดนาม มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ไปจนถึงออสเตรเลีย โดยเฉพาะในพื้นที่พื้นที่ชุ่มน้ำ ป่ากก หนองน้ำ แม่น้ำ และแหล่งน้ำจืดที่มีพืชลอยน้ำปกคลุม

ด้วยความที่นกอีโก้งมีถิ่นอาศัยในพื้นที่ชุ่มน้ำ นกอีโก้งจึงสามารถหาอาหารได้ทั้งพืชและสัตว์ อย่างพืชน้ำ เมล็ด ผลไม้ ปลา กุ้ง หอย รวมถึงแมลงต่าง ๆ ที่พบได้ตามแหล่งน้ำทั่วไป

แม้นกอีโก้งจะเป็นนกที่มีปีกและบินได้ แต่เมื่อประสบกับภัยอันตราย นกอีโก้งกลับเลือกที่จะวิ่งหนีไปบนพื้นน้ำเพื่อไปหลบซ่อนในกอหญ้าเงียบ ๆ จนกว่าสถานการณ์ภายนอกจะปลอดภัย แทนที่จะบินหนีไปไกล ๆ เนื่องจากนกอีโก้งเป็นนกที่บินได้ไม่สูงและระยะทางที่ไม่ไกลมากนัก ประกอบกับลักษณะของช่วงขาและนิ้วเท้าที่เรียวยาว ช่วยให้พยุงตัวและสามารถเดินบนกอพืชลอยน้ำได้เป็นอย่างดี

อีกหนึ่งความมหัศจรรย์ของนกอีโก้งคือการสร้างบ้าน (รัง) จากการนำพืชน้ำมาถักทอขัดสานจนกลายมาเป็นรังหนาที่สามารถวางไข่ได้ โดยที่นกอีโก้งไม่ได้จบสถาปัตยกรรมมาแต่อย่างใด แต่ก็มีความคิดสร้างสรรค์ และมีความเป็นสถาปนิกในตัว เพราะนกอีโก้งทำรังบนพื้นดินริมฝั่งน้ำใหญ่ หรือบริเวณน้ำตื้น ดังนั้นต้องอาศัยความรู้เรื่องโครงสร้างรังที่จะสามารถลอยตัวเหนือผิวน้ำได้ หรือที่เราเรียกสิ่งเหล่านี้ว่า ‘วิวัฒนาการ’

สัตว์ทุกชนิดมีบทบาทและหน้าที่ในระบบนิเวศที่แตกต่างกัน มีความสำคัญเท่ากัน เพราะแต่ละหน้าที่ไม่มีใครทำแทนใครได้ ต้องพึ่งพาอาศัยกัน และต้องเป็นไปตามกลไกของห่วงโซ่อาหารเพื่อให้ธรรมชาติอยู่ในจุดสมดุล เมื่อใดก็ตามที่เราสงสัยในธรรมชาติ ออกไปหามัน แล้วธรรมชาติจะมีคำตอบให้เรา เพราะทุกสิ่งล้วนมีเหตุและผลของมันเสมอ

อ้างอิง

ผู้เขียน

+ posts

สาวแว่นทาสแมวที่ชอบบอกเล่าเรื่องราวผ่านลายเส้น มีธรรมชาติช่วยฮีลใจ และหลงใหลในพระจันทร์เสี้ยว