อบรมพัฒนาศักยภาพหน่วยป้องกันรักษาป่าต้นแบบ

อบรมพัฒนาศักยภาพหน่วยป้องกันรักษาป่าต้นแบบ

25 – 26 มีนาคม 2567 มูลนิธิสืบนาคะเสถียร ร่วมกับกรมป่าไม้ จัดการฝึกอบรมโครงการ พัฒนาศักยภาพเจ้าหน้าที่หน่วยป้องกันรักษาป่าต้นแบบ ให้กับหัวหน้าหน่วยและเจ้าหน้าที่ประจำหน่วยป้องกันรักษาป่า จำนวน 24 หน่วย ทั่วประเทศ จำนวน 48 นาย เพื่อพัฒนารูปแบบการปฏิบัติงานของหน่วยป้องกันป่าไม้ในอนาคต 

เนื้อหาการฝึกอบรม ประกอบด้วย แนวทางการบริหารจัดการหน่วยป้องกันป่าไม้ต้นแบบ ภายใต้โครงการหน่วยป้องกันรักษาป่าต้นแบบเพื่อพัฒนาศักยภาพการบริหารจัดการป่าไม้ในระดับพื้นที่ การเพิ่มศักยภาพหน่วยป้องกันรักษาป่าไม้ในระดับพื้นที่ การศึกษาดูงานการบริหารจัดการของหน่วยป้องกันรักษาป่าที่ นว.1 ในภาพรวมการบริหารจัดการหน่วย การจัดการแลการป้องกันรักษาป่า ในมิติการลาดตระเวน การใช้เทคโนโลยีในการดูแลรักษาป่า การส่งเสริมและพัฒนาป่าไม้มิติ งานป่าชุมชน ตลอดจนการดูแลการจัดการป่าไม้ร่วมกับป่าชุมชน 

นอกจากนี้ ยังมีกิจกรรมเชิงปฏิบัติการ ในการจัดทำแผนการจัดการหน่วยป้องกันรักษาป่า การกำหนดวิสัยทัศน์ พันธกิจ ของหน่วยป้องกันรักษาป่าต้นแบบ

ศศิน เฉลิมลาภ กรรมการมูลนิธิสืบนาคะเสถียร และวิทยากรการอบรม อธิบายว่า หน่วยป้องกันรักษาป่าในปัจจุบันยังขาดมิติในเรื่องการจัดการพื้นที่ เพราะเดิมภารกิจเป็นงานจัดการทรัพยากรเสียมากกว่า เช่น งานสัมปทานไม้ในอดีต แต่ภายหลังเมื่อมีการปิดป่าหยุดการทำสัมปทานไม้แล้วแต่ภารกิจยังไม่ถูกปรับตาม ซึ่งมองว่าปัจจุบันหน่วยป้องกันรักษาป่าจำเป็นต้องมีการจัดการในมิติเชิงพื้นที่ให้มากขึ้น เช่น การจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่เหลืออยู่ เรื่องการใช้ประโยชน์จากป่าของชุมชน การจัดสรรที่ดินให้ชาวบ้าน การปลูกป่าเศรษฐกิจ งานความขัดแย้งของชาวบ้านกับกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ ซึ่งเรื่องเหล่านี้กรมป่าไม้ยังไม่เคยปรับภารกิจและโครงสร้างให้เกิดการทำงาน

“ในอนาคต ผมคาดหวังว่าหน่วยป้องกันรักษาป่าจะเป็นเพื่อนกับประชาชนที่ใช้ประโยชน์จากป่า แต่ขณะเดียวกันก็ต้องมีความเข้มแข็งสำหรับรักษาป่าสงวนที่เหลืออยู่ให้ได้ แล้วก็มีหน้าที่ไปสร้างแรงบันดาลใจให้ประชาชนไปปลูกป่าเศรษฐกิจทดแทนพืชเชิงเดี่ยวรอบๆ พื้นที่ป่า ซึ่งปัจจุบันมีแต่อ้อย ข้าวโพด มันสัมปหลัง ยางพารา หาทางทำอย่างไรให้มันเกิดป่าเศรษฐกิจขึ้นมา”

ศศิน ให้ความเห็นต่อว่า ปัจจัยสำคัญที่จะทำให้งานประสบความสำเร็จ ต้องปรับโครงสร้างการทำงานภายในกรมป่าไม้ขึ้นก่อน โดยกรมป่าไม้จะต้องเห็นว่าหน่วยป้องกันรักษาป่าที่มีอยู่กว่า 400 หน่วย เป็นฟังก์ชั่นพื้นฐานของการจัดการทรัพยากรป่าไม้ของประเทศไทย ควรกระจายบุคลากรและงบประมาณลงไปให้เพียงพอ และให้ขึ้นตรงกับสำนักงานจัดการป่าไม้ระดับภูมิภาค และมอบหมายภารกิจให้คนไปจัดการพื้นที่ ซึ่งต้องปรับ Mindset และต้องมีนโยบายของกระทรวงออกมาอย่างเร่งด่วน

ในอนาคต มูลนิธิสืบนาคะเสถียร มีแผนงานสำหรับการฝึกอบรมให้หน่วยและเจ้าหน้าที่ประจำหน่วยป้องกันรักษาป่าหน่วยอื่นๆ เพิ่มเติม

อ่านเรื่องราวเพิ่มเติม ความสำเร็จของหน่วยป้องกันนว.1 แม่กะสี สู่หน่วยป้องกันและพัฒนาป่าไม้ต้นแบบ