ชวนรู้จัก ‘นกชนหิน’ ที่ไม่ได้มีดีแค่หัว

ชวนรู้จัก ‘นกชนหิน’ ที่ไม่ได้มีดีแค่หัว

‘นกชนหิน’ (Helmeted Hornbill) เป็นหนึ่งในนกเงือก 13 ชนิดที่พบได้ในประเทศไทย ปัจจุบันมีการกระจายตัวตามพื้นที่ป่าทางใต้ของไทย นกชนหินถือเป็นตัวชี้วัดความอุดมสมบูรณ์ของผืนป่า และระบบนิเวศเป็นอย่างดี เนื่องจากนกชนหินหรือนกเงือกเป็นตัวกระจายเมล็ด (Seed disposal) ที่สำคัญ หรือที่เราเรียกกันว่า ‘นักปลูกป่า’ นั่นเอง

และล่าสุด คณะรัฐมนตรี เห็นชอบให้นกชนหินเป็นสัตว์ป่าสงวนลำดับที่ 20 ของประเทศไทย เมื่อวันที่ 6 กันยายน พ.ศ. 2565 ที่ผ่านมา

วันนี้แอดมินจะพาทุกท่านมาทำความรู้จักกับ ‘นกชนหิน’ สัตว์ป่าสงวนน้องใหม่ ที่ไม่ได้มีดีแค่หัว!

‘นกชนหิน’ เป็นนกเงือกที่มีขนาดใหญ่ที่สุดจาก 13 ชนิด โดยมีขนาดลำตัวตั้งแต่หัวถึงปลายหางประมาณ 110-127 เซนติเมตร ตัวผู้มีน้ำหนัก 3,060 กรัม และตัวเมียมีน้ำหนักประมาณ 2,610 ถึง 2,840 กรัม นกชนหินจะมีลักษณะพิเศษตรงขนหางคู่กลางจะยาวและเรียวกว่าคู่อื่นๆ ซึ่งยาวประมาณ 30-45 เซนติเมตร 

นกชนหินตัวผู้จะมีลักษณะคอเป็นหนังสีแดงเข้ม ส่วนตัวเมียหนังคอสีฟ้าอ่อนแกมม่วง ปลายปากและโหนกด้านหน้ามีสีเหลือง ส่วนที่เหลือจะมีสีแดงเข้ม ปลายขนปีกบินขาว และนกชนหินจะมีปากที่ค่อนข้างสั้น ซึ่งแตกต่างจากนกเงือกชนิดอื่นที่ค่อนข้างแหลมและเรียวยาว 

ด้วยนกชนหินมีลักษณะโหนกที่แตกต่างจากนกเงือกชนิดอื่น คือ มีโหนกที่ตันเกือบทั้งชิ้น คล้ายกับนอแรด นกชนหินจึงถูกคุกคามจากการล่าเอาโหนกไปขายโดยมนุษย์ เพื่อนำไปทำเป็นเครื่องประดับ หรืองานศิลปะต่างๆ และในปัจจุบันนกชนหินถูกล่าโดยมนุษย์มากขึ้น ด้วยเหตุนี้เองที่ทำให้นกชนหินมีจำนวนประชากรลดลงอย่างต่อเนื่อง 

เสียงร้องของนกชนหินตัวผู้ สามารถดังไปไกลถึง 2 กิโลเมตร! เสียงดังกังวาน โดยเริ่มจากเสียง ‘อู๊ก’ ติดต่อกัน จากนั้นค่อยๆ เร่งจังหวะขึ้นเรื่อยๆ ก่อนถึงจุดพีคสุดตอนท้าย คล้ายกับเสียงหัวเราะ และในบางครั้งจะมีเสียงตัวเมียร่วมร้องด้วย โดยระดับเสียงตัวเมียจะสูงกว่าตัวผู้เล็กน้อย พบได้บ่อยในช่วงฤดูผสมพันธุ์

นกชนหิน

นกชนหินส่วนใหญ่กินผลไม้เป็นหลัก โดยเฉพาะมะเดื่อที่มีหลากหลายสายพันธุ์ในภาคใต้ของประเทศไทย นอกจากมะเดื่อแล้วยังมีผลไม้ชนิดอื่นที่นกชนหินกินได้ เช่น ผลไม้ในวงศ์ยางโอน และวงศ์จันทน์เทศ จากงานวิจัยพบว่าเมล็ดที่ผ่านการย่อยเยื่อหุ้มเมล็ดจากนกเงือกกลับเจริญเติบโตได้ดีกว่าเมล็ดที่หล่นใต้ต้น อีกทั้งนกเงือกขนาดใหญ่จะคอยกระจายเมล็ดที่มีขนาดใหญ่ ที่สัตว์ขนาดเล็กไม่สามารถกินได้อีกด้วย 

ไม่เพียงแต่ผลไม้เท่านั้น นกชนหินยังสามารถกินสัตว์ขนาดเล็ก อาทิเช่น หนูและรังนก รวมถึงนกเงือกที่มีขนาดเล็กกว่าได้ และนกชนหินจะใช้เวลาครึ่งวันในการล่าเหยื่อโดยประมาณ 

นกเงือกไม่ทำรังเองแต่อาศัยโพรงไม้ธรรมชาติ หรือโพรงไม้ที่เกิดจากสัตว์ชนิดอื่นเจาะไว้ให้ โดยฤดูทำรังวางไข่ของนกชนหิน จะอยู่ในช่วงมกราคม-มีนาคม พฤษภาคม และพฤศจิกายน พบว่ารังนกชนหิน 87% จะอาศัยอยู่โพรงไม้วงศ์ Dipterocapaceae รวมทั้ง Hopea, Shorea และ Neobalancarpus ขนาดเส้นรอบวงต้นไม้เฉลี่ย (DBH) 160 เซนติเมตร ความสูงของต้นไม้เฉลี่ย 42 เมตร และความสูงของโพรงเหนือพื้นที่ดินเฉลี่ย 30 เมตร 

เนื่องจากนกเงือกต้องอาศัยโพรงตามธรรมชาติ ที่มีลักษณะเฉพาะต่อการดำรงชีวิต เป็นกิ่งก้านสาขาพอให้ตัวผู้สามารถเกาะเพื่อป้อนอาหารตัวเมียและลูกน้อยได้ รวมถึงป้องกันอันตรายจากศัตรูภายนอกได้ด้วย แต่ปัจจุบันพื้นที่ป่ามีจำนวนลดลง จึงทำให้ต้นไม้หรือโพรงที่เหมาะมีปริมาณลดลงตามไปด้วย นอกจากการล่าโหนกจะเป็นภัยคุกคามที่สำคัญต่อนกชนหินแล้ว ปัญหาการสูญเสียพื้นที่จากการตัดไม้ทำลายป่า ก็ยังคงเป็นภัยคุกคามที่สำคัญต่อนกชนหินรวมถึงนกเงือกทุกชนิดเช่นกัน 

ปัจจุบันนกชนหินอยู่ในสถานภาพเสี่ยงสูญพันธุ์อย่างยิ่ง (Critically endangered) ตาม IUCN Red List ต้องติดตามกันต่อไปว่าแนวโน้มประชากรของนกชนหินในอนาคตจะเป็นเช่นไร และปัญหาการค้าสัตว์ป่าจะลดลงได้หรือไม่ ในเมื่อนกชนหินได้ปรับสถานะจากสัตว์ป่าคุ้มครองเป็น ‘สัตว์ป่าสงวน’ ที่หมายความว่าเราต้องสงวนไว้อย่างยิ่งยวด 

อ้างอิง

ผู้เขียน

+ posts

สาวแว่นทาสแมวที่ชอบบอกเล่าเรื่องราวผ่านลายเส้น มีธรรมชาติช่วยฮีลใจ และหลงใหลในพระจันทร์เสี้ยว