อาลัย ‘จิม เฟรเซอร์’ ช่างภาพผู้บุกเบิกการถ่ายทำสารคดีสัตว์ป่า

อาลัย ‘จิม เฟรเซอร์’ ช่างภาพผู้บุกเบิกการถ่ายทำสารคดีสัตว์ป่า

สำหรับผู้ที่ชื่นชอบการชมสารคดีทางธรรมชาติ ชื่อของเซอร์เดวิด แอทเทนเบอเรอห์ (Sir David Attenborough) คงเป็นที่คุ้นหูของนักนิยมไพรทุกคู่

ภายใต้การบรรยายด้วยน้ำเสียงทุ่มที่นุ่มนวล และการร้อยเรียงเรื่องราวสรรพชีวิตอย่างเข้าใจในความหมายของระบบนิเวศ ย่อมทำให้ใครหลายคนยกยอให้เซอร์เดวิดเป็นเอกอุของนักธรรมชาติวิทยา และตำนานที่ยังมีชีวิตของนักสื่อสารธรรมชาติ

แต่ในความสำเร็จนั้น ปฏิเสธไม่ได้ว่า การถ่ายทอด ‘ภาพ’ ของสรรพชีวิตก็มีส่วนสำคัญที่ทำให้สารคดีธรรมชาติของเซอร์เดวิดเต็มไปด้วยความสมบูรณ์แบบ

เครดิตแห่งความงามนั้นคงยกให้ใครอื่นไปเสียไม่ได้ นอกเสียจาก ‘จิม เฟรเซอร์’ (Jim Frazier) ช่างภาพคู่บุญที่ทำงานร่วมกันมาอย่างยาวนาน

ย้อนกลับไปยังปี 1979 – Life on Earth ซีรีย์จำนวน 13 ตอน ที่สร้างชื่อเสียงให้ เซอร์เดวิด แอทเทนเบอเรอห์ ก็มี จิม เฟรเซอร์ นี่ล่ะ ที่อยู่เบื้องหลังการทำงานครั้งนั้น ผ่านการใช้กล้องเป็นเครื่องมือเก็บรายละเอียดของสิ่งมีชีวิตชนิดต่างๆ บนโลก ก่อนเข้าสู่กระบวนการตัดต่อและร้อยเรียงออกมาเป็นซีรีย์สารคดีถูกนำไปฉายมากกว่า 100 ประเทศ 

‘จิม เฟรเซอร์’ เกิดเมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน ค.ศ. 1940 เป็นชาวออสเตรเลีย ชีวิตการงานเริ่มต้นที่พิพิธภัณธ์ธรรมชาติของประเทศ ก่อนมาพบกับ ‘เดนซีย์ ไคลน์’ (Densey Clyne) ช่างภาพและนักเขียนบทผู้หลงไหลในเรื่องราวแมงมุม นำไปสู่การสร้างสารคดีเรื่อง ‘Webs of Intrigue’ อันว่าด้วยการสำรวจโลกของแมงมุมในออสเตรเลีย 

ด้วยเอกลักษณ์ทางมุมมองภาพและการนำเสนอ ทำให้ชื่อของทั้งสองเข้าตาทีมงานสารคดีของ BBC จนในที่สุดทั้ง จิม เฟรเซอร์ และเดนซีย์ ไคลน์ ก็ได้มาร่วมทีมกับเดวิด แอทเทนเบอเรอห์ สร้างสารคดีทางธรรมชาติที่ถ่ายทอดเรื่องราวอันเป็นมนต์ขลังชวนชมออกมาอีกมากมายในภายหลัง

จิม เฟรเซอร์ ไม่ได้มีดีแค่ด้านการถ่ายภาพ แต่เขายังมีความสามารถในเรื่องการประดิษฐ์ 

การถ่ายภาพสิ่งมีชีวิตในธรรมชาติที่เคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลา ทำให้จิมคิดค้นการประดิษฐ์เลนส์ที่สามารถโฟกัสภาพได้ทั้งในระยะใกล้และไกล (บ้างก็ยกยอว่าเป็นถึงระยะอนันต์) เพื่อจับภาพสิ่งมีชีวิตให้ได้ชัดเจนที่สุด และเป็นธรรมชาติมากที่สุดตามกฎเกณฑ์ที่โลกนี้กำหนดเอาไว้แล้ว

อุปกรณ์ดังกล่าวก็ถูกนำมาใช้ในการถ่ายทำ Titanic, Tomorrow Never Dies, Mission Impossible, Amistad, Alien Resurrection และอื่นๆ อีกมากมาย ผ่านสายตาของผู้กำกับมากความสามารถ ไม่ว่าจะเป็น สตีเวน สปีลเบิร์ก (Steven Spielberg) หรือ เจมส์ คาเมรอน (James Cameron) ต่างก็ชื่นชอบในนวัตกรรมที่จิมสรรค์สร้างขึ้น

และนั่นก็ทำให้ จิม เฟรเซอร์ เป็นผู้ชนะรางวัลออสการ์ด้านเทคนิคในปี 1997 จากการประดิษฐ์เลนส์ Frazier

กว่า 40 ปี ของการทำงาน จิม เฟรเซอร์ ฝากผลงานไว้ให้โลกนี้ได้ตระหนักถึงความสำคัญของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมไว้มากมาย

“ผมมีประสบการณ์ที่ไม่ธรรมดามามากมาย เมื่อคุณเดินทางไปทั่วโลก คุณจะได้สัมผัสกับวัฒนธรรมที่แตกต่าง ทัศนคติของผู้คนที่แตกต่างกัน แต่สำหรับผม มันมักจะสอดคล้องกับธรรมชาติและสัตว์ป่า” เขากล่าว

จนถึงวันเกษียรตัวเอง แม้ว่าเขาจะไม่รู้สึกตื่นเต้นกับการเดินทางแล้ว แต่ช่างภาพสัตว์ป่าก็ยังคงทำหน้าที่อุทิศตนเพื่อธรรมชาติ

จิม เฟรเซอร์ ตัดสินใจใช้ชีวิตในห้วงสุดท้ายที่ตอนกลางของนิวเซาท์เวลส์ ปลูกต้นไม้หลายร้อยชนิดเพื่อเป็นบ้านให้กับนกและผีเสื้อ – มุ่งมั่นที่จะเผยแพร่ข้อความการอนุรักษ์

“ผมกังวลมากเกี่ยวกับสิ่งที่มนุษย์ทำกับธรรมชาติ เรากำลังฆ่ามัน” เขากล่าว

“ผมพยายามส่งข้อความออกไปว่า ไม่ว่ายุงหรือแมลงวัน ผีเสื้อหรือนก เราต้องดูแลพวกมัน เราต้องพึ่งพาพวกมันทุกสายพันธุ์”

จวบจนวินาทีสุดท้าย…

จิม เฟรเซอร์ จากไปเมื่อวันที่ 17 กันยายน ด้วยอาการป่วยไข้ในวัยชรา ท่ามกลางธรรมชาติอันเป็นที่รัก

แต่นวัตกรรมและมุมมองของเขายังคงอยู่สืบต่อนานเท่านาน…


อ้างอิง

ผู้เขียน

Website | + posts

โซเชียลมีเดียที่เขียนบันทึกประเด็นปัญหาสิ่งแวดล้อมในยุคแอนโทโปรซีน