ทำไมเราต้องจริงจังกับการกินอาหารเหลือ เพราะขยะอาหารคือตัวการสำคัญที่ทำให้โลกร้อนขึ้น

ทำไมเราต้องจริงจังกับการกินอาหารเหลือ เพราะขยะอาหารคือตัวการสำคัญที่ทำให้โลกร้อนขึ้น

ทุกคนเคยนับหรือเปล่าว่า… ในหนึ่งวันเรากินอาหารเหลือกันมากแค่ไหน ? 

บางคนเหลือนิดหน่อย บางคนเหลือเยอะหน่อย ถ้าเรากินอาหารเหลือแค่คนเดียวทั้งโลกคงไม่ได้มีปัญหาอะไรเท่าไหร่ แต่ลองคิดดูว่าถ้าทุกคนทั่วโลกกินอาหารเหลือคนละนิดคนละหน่อย มันก็จะกลายเป็นกองขยะอาหารที่นำมาสู่ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมได้เลย

ขยะอาหารคืออะไร

ผู้เชี่ยวชาญในด้านขยะอาหารได้จัดจำแนกประเภทของขยะอาหารออกเป็น 2 แบบ ตามแหล่งกำเนิดของมัน คือ 

1. การสูญเสียอาหาร (Food Loss) เป็นกระบวนการที่เกิดขึ้นก่อนที่จะมาถึงมือผู้บริโภค โดยมีต้นตอปัญหามาจากขั้นตอนการผลิต จัดเก็บ แปรรูป ตลอดจนการจัดจำหน่าย อย่างไรก็ตามการสูญเสียอาหารในลักษณะนี้มักจะเกิดขึ้นกับประเทศที่ยังไม่พัฒนา เนื่องจากการขาดแคลนความรู้ งบประมาณ และเทคโนโลยี ที่สามารถยกระดับประสิทธิภาพการจัดเก็บรักษา

2. ขยะอาหาร (Food Waste) คือ เศษอาหารเหลือจากมื้ออาหารในตอนปลายของห่วงโซ่อาหาร ในส่วนของผู้บริโภาคก็จะเกิดจากทั้งการรับประทานไม่หมด อาหารที่หมดอายุ เศษผักผลที่ใช้ตกแต่งจาน รวมถึงอาหารที่หมดอายุจากการจัดการที่ไม่เหมาะสมของร้านอาหารด้วย 

สาเหตุหลักของการเกิดขยะอาหารทั่วโลกมาจากการขาดประสิทธิภาพของร้านค้าปลีก และพฤติกรรมฟุ่มเฟือยของผู้บริโภค ซึ่งมันเกี่ยวโยงกันกับการจัดเตรียมอาหารหรือสินค้าสำหรับจัดจำหน่ายด้วย 

สถานการณ์ขยะอาหารโลก

ปัญหาของขยะอาหารนั้นส่งผลกระทบในวงกว้างทั้งในระดับประเทศและระดับโลก โดยองค์การอาหารโลกประเมินว่าทั่วโลกผลิตขยะอาหารอย่างน้อย 30 เปอร์เซ็นต์ จากอาหารทั้งหมด ถ้าหากคิดเป็นเงินก็จะตกราว ๆ 940 ล้านล้าน ดอลลาร์สหรัฐ ต่อปี สถานการณ์ขยะอาหารในพื้นที่แถบอเมริกาเหนือกำลังแย่ลงเรื่อย ๆ เนื่องจากภูมิภาคดังกล่าวเป็นภูมิภาคที่ผลิตขยะอาหารในปริมาณมหาศาล 

ยกตัวอย่างในสหรัฐอเมริกา อาหารที่ผลิตได้ทั้งหมดกว่า 40 เปอร์เซ็นต์ ไม่ถูกบริโภค และอีกประมาณ 95 เปอร์เซ็นต์ ของอาหารที่ถูกทิ้งมักไปจบลงที่หลุมฝังกลับเป็นขยะมูลฝอยมากถึง 21 เปอร์เซ็นต์ เลยทีเดียว ย้อนกลับไปเมื่อปี 2557 สหรัฐอเมริกามีปริมาณขยะอาหารมากกว่า 38 ล้านตัน โดยมีเพียง 5 เปอร์เซ็นต์ จากทั้งหมดนั้น ที่ถูกนำไปฝังกลับและทำปุ๋ยหมัก

ในส่วนประเทศไทยมีการสร้างขยะมูลฝอยเฉลี่ยคนละ 1.3 กิโลกรัมต่อวัน โดยที่ร้อยละ 64 ของขยะทั้งหมดเป็นขยะอาหาร 

นอกจากนี้ประเทศไทยยังขาดประสิทธิภาพในการจัดการกับปัญหาขยะอาหารอย่างเหมาะสมด้วย ทำให้ขยะอาหารราว ๆ 20 ล้านตันต่อปีของไทยกลายเป็นขยะตกข้างและถูกนำไปฝังกลบอย่างง่ายแทน 

ขยะอาหารกับผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม 

ดูเผิน ๆ เราอาจมองว่า แค่อาหารเหลือไม่น่าเป็นอะไรมากหรือเปล่า มันไม่ใช่ขยะพลาสติกที่ย่อยสลายไม่ได้ แต่แท้จริงแล้วขยะอาหารสร้างผลกระทบรุนแรงไม่ต่างจากปัญหาขยะประเภทอื่น ๆ เลย 

อันดับแรก ภาคการผลิต การแปรรูป การเก็บ ตลอดจนกระบวนการการย่อยเศษอาหารนั้นก่อให้เกิดก๊าซเรือนกระจก โดยก๊าซเรือนกระจกถูกปล่อยออกมาทั้งหมดจากอาหารที่ถูกทิ้งทั่วโลกมากถึงร้อยละ 8 เทียบเท่าได้กับการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากภาคคมนาคมเลยทีเดียว 

ถัดมา อุตสาหกรรมอาหารก่อให้เกิดปัญหาการสูญเสียทรัพยากรป่าไม้และสัตว์ป่า เนื่องจากจำเป็นต้องถางพื้นที่เพื่อการเพาะปลูกพืชในอุตสาหกรรมอาหาร และยังนำไปสู่ความเสื่อมโทรมของทรัพยากรดินจากการเพาะปลูกพืชบางชนิดด้วย 

สุดท้ายคือ ปัญหาทรัพยากรน้ำ เนื่องจากการเพาะปลูกพืชบางชนิดจำเป็นต้องใช้น้ำปริมาณมหาศาลในการเพาะปลูก จนอาจทำให้มีการดึงน้ำจากพื้นที่ต่าง ๆ มาใช้จนทำให้บางพื้นที่ขาดแคลนทรัพยากรน้ำสำหรับอุปโภคและบริโภค 

ปัญหาสิ่งแวดล้อมมันไม่ได้พึ่งมาเกิดแค่ปลายห่วงโซ่อาหารตรงผู้บริโภคเท่านั้น แต่มันมีปัญหามาตั้งแต่ขั้นตอนการผลิตแล้ว การที่โลกเรายังผลิตอาหารมาแบบเกิดความต้องการเรื่อย ๆ แบบนี้ยิ่งก่อให้เกิดปัญหาต่อสิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้น 

ที่สำคัญปัญหาที่เกิดจากอุตสาหกรรมอาหารยังไม่ค่อยถูกพูดถึงมากนัก เนื่องจาก หลายคนยังมองว่ามันไม่ใช่ปัญหาหลักที่กระทบต่อสิ่งแวดล้อม ทว่าตัวเลขข้างต้นก็ได้ชี้ให้เราเห็นแล้วว่าขยะอาหารไม่ใช่เรื่องเล่น ๆ อีกต่อไป 

หากในอนาคตปริมาณขยะอาหารยังเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ แบบนี้ บอกได้เลยว่า ไม่ใช่แค่โลกเท่านั้นที่ได้รับผลกระทบ แต่เราเองก็จะได้รับผลกระทบด้วยแน่นอน 

อ้างอิง

ภาพประกอบ

ผู้เขียน

+ posts

หนุ่มน้อยผู้หลงรักความไม่สมบูรณ์แบบ ออกเดินทางเพื่อเก็บภาพความงดงามของธรรมชาติ และชอบอ่านวรรณกรรมเป็นชีวิตจิตใจ