เพราะมีแร้งจึงมีเสือ การอนุรักษ์ ‘แร้ง’ ในแซมเบียทำให้ ‘เสือ-สิงโต’ ถูกล่าน้อยลง

เพราะมีแร้งจึงมีเสือ การอนุรักษ์ ‘แร้ง’ ในแซมเบียทำให้ ‘เสือ-สิงโต’ ถูกล่าน้อยลง

โครงการอนุรักษ์แร้งในอุทยานแห่งชาติคาฟิว ประเทศแซมเบีย ได้ทำการติดแท็กสัญญาณดาวเทียมไว้กับตัวของนก

เมื่อแร้งบินไปไหน นักวิจัยภาคสนามก็จะทราบได้ทันทีจากพิกัดที่แสดง

แต่ที่มากไปกว่านั้น ในหลายต่อหลายครั้งยังช่วยให้เจ้าหน้าที่ได้ทราบถึงความเป็นไปในป่า

อันนำมาซึ่งผลลัพธ์มากมายหลายหลาก โดยเฉพาะการฟื้นตัวของสัตว์ป่ากลุ่มแมวใหญ่

ในป่าอนุรักษ์ที่ใหญ่เป็นอันดับสามของแอฟริกา ได้สูญเสียสัตว์อย่างสิงโต เสือดาว เสือชีตาห์ มากถึงสามในสี่ของที่เคยมีตลอดช่วงครึ่งศตวรรษที่ผ่านมา

ปัญหาการลักลอบล่าสัตว์ถือเป็นภัยคุกคามใหญ่ ตามมาด้วยความขัดแย้งระหว่างคนกับสัตว์ป่า 

เมื่อนักล่าตระเวนทุ่งย่องไปกินสัตว์ที่คนเลี้ยง กระบวนการล้างแค้นก็ผุดตามมา – ด้วยซากเหยื่อล่อเจือสารพิษ

แต่สิ่งที่ตายจากหาได้มีแต่ชีวิตของเสือหรือสิง ยังมีแร้งอีกหลายสายพันธุ์ที่ต้องตายตกไปตามกัน

ประมาณกันว่าซากสัตว์บรรจุเคมีพิษหนึ่งตัว สามารถฆ่าแร้งได้คราวละ 60 – 70 ตัว

แม้แร้งจะมีภูมิคุ้มกันต่อโรคพิษสุนัขบ้า โรคแอนแทรกซ์ วัณโรค และโรคอื่นๆ ที่อาจพบได้จากซากสัตว์ 

แต่ก็ไม่อาจทนต่อพิษร้ายจากยาฆ่าแมลงที่มีคาร์โบฟูราน (Carbofuran) หรือคาร์บาเมต (Carbamates) 

โดยนับตั้งแต่ปี 2000 เป็นต้นมา แร้งทั่วแอฟริกาหายไปราวๆ 80 – 90 เปอร์เซ็นต์

แต่หลังจากติดแท็กบนตัวแร้ง หลายสิ่งหลายอย่างก็เริ่มเปลี่ยนไป…

เมื่อไหร่ที่นักวิจัยเห็นพิกัดของแร้งนิ่งอยู่ที่เดิมนานๆ ก็จะทำการประสานทีมลาดตระเวนภาคสนาม หรือชุดเคลื่อนที่ด้วยเฮลิปคอปเตอร์เข้าไปตรวจสอบพื้นที่ทันที

เพราะความนิ่งงันอาจหมายความถึงการพบปัญหาหรือภัยคุกคาม อาจหมายความว่าแร้งได้รับบาดเจ็บหรือเผลอกินเหยื่อล่อผสมสารพิษเข้าไปจนบินไม่ไหว

การติดตามความเคลื่อนไหวผ่านข้อมูลเรียลไทม์ ช่วยให้เจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าเข้าแก้ไขปัญหาได้เร็วขึ้น 

เพราะยิ่งเข้าถึงจุดเกิดเหตุเร็วแค่ไหน ก็ยิ่งช่วยชีวิตสัตว์ป่าได้มากเท่านั้น

บางครั้งยังหมายถึงการรักษาชีวิตแร้งที่พลาดกินซากผสมพิษได้ทันกาล รวมถึงช่วยกำจัดซากเหยื่อล่อได้ก่อนที่สัตว์ผู้ล่าอื่นๆ จะมาพบ

นับตั้งแต่เดือนตุลาคม 2021 นักวิจัยได้ติดแท็กไว้ที่แร้งเป็นจำนวน 18 ตัว เป็นแร้งหลังขาว (White-backed vulture) 17 ตัว และแร้งฮู้ด (Hooded vulture) อีกตัว 

จนถึงวันนี้ มีแร้งในอุทยานแห่งชาติคาฟิวตายไปเพียงแค่ 2 ตัว

ขณะที่สัตว์อื่นอย่างเสือดาว สิงโต เสือจกัวร์ ก็ถูกล่าน้อยลง และมีแนวโน้มว่าจำนวนประชากรของสายพันธุ์แมวใหญ่จะเพิ่มขึ้นด้วย

โครงการติดแท็กติดตามแร้ง ดำเนินโดยฝ่ายวิจัยสัตว์ป่าของสวนสัตว์นอร์ธแคโรไลนา มีแผนที่จะติดแท็กในป่าอนุรักษ์อื่นๆ ของแซมเบีย และขยายไปให้ทั่วแอฟริกา

อย่างไรก็ตาม การเฝ้ามองดูแร้งจากพิกัดก็เป็นเพียงเครื่องป้องกันทางหนึ่งเท่านั้น

 ใจความสำคัญของเรื่องราวคือการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งระหว่างคนกับสัตว์ป่า ตลอดจนการล่าสัตว์เพื่อแสวงหาผลประโยชน์

สิ่งเหล่าเป็นเรื่องราวที่ต้องทำคู่ขนานกันไป

อ้างอิง

ผู้เขียน

Website | + posts

โซเชียลมีเดียที่เขียนบันทึกประเด็นปัญหาสิ่งแวดล้อมในยุคแอนโทโปรซีน