‘ห้วยแม่เรวา’ สายธารที่หล่อเลี้ยงชีวิตริมน้ำในป่าแม่วงก์

‘ห้วยแม่เรวา’ สายธารที่หล่อเลี้ยงชีวิตริมน้ำในป่าแม่วงก์

ห้วยแม่เรวา หรือลำน้ำแม่วงก์ เป็นหนึ่งในสายน้ำหลักของป่าแม่วงก์ ที่มีต้นกำเนิดมาจากป่าอันอุดมสมบูรณ์ บนเทือกเขาถนนธงชัยทางทิศตะวันตก มันไม่ใช่ลำน้ำที่กว้างใหญ่มากนัก แต่กลับมีความสำคัญที่พิเศษอย่างยิ่ง เพราะเป็นต้นกำเนิดของแม่น้ำสะแกกรัง ที่ไหลรวมเป็นแม่น้ำเจ้าพระยาที่จังหวัดอุทัยธานี

ในอดีตชาวกะเหรี่ยงซึ่งคราวหนึ่งเคยตั้งถิ่นฐานอยู่ที่นี่มาก่อน เรียกชื่อลำห้วยสายนี้ว่าเรวาแปลความหมายตรงตัวได้ว่า หินสีขาว สันนิฐานว่าชาวกะเหรี่ยงตั้งชื่อตามความสวยงามของระบบนิเวศที่เขาได้พบเจอ คือน้ำที่ใสจนสามารถเห็นก้อนหินใต้ธารน้ำอย่างชัดเจน อีกข้อสันนิษฐานหนึ่ง อาจหมายถึงหาดทรายขาวผืนใหญ่ริมฝั่งลำห้วยสายนี้

พื้นที่สองฝั่งริมลำห้วยแม่เรวา ที่อยู่ในเขตอนุรักษ์ของอุทยานแห่งชาติแม่วงก์ เป็นพื้นที่ราบริมน้ำ (Riverine forest) จัดเป็นถิ่นอาศัยเฉพาะ และมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อสัตว์ป่า ซึ่งปัจจุบันพื้นที่ลักษณะดังกล่าว ถูกมนุษย์บุกรุกล้ำ และแผ้วถางเพื่อใช้ประโยชน์ ส่งผลให้ปัจจุบัน พื้นที่ราบริมน้ำมีเหลืออยู่ไม่กี่แห่งในประเทศ และริมฝั่งของห้วยแม่เรวา ยังเป็นหนึ่งในสองพื้นที่ที่ยังหลงเหลืออยู่ในป่าตะวันตก (อีกแห่งหนึ่งคือพื้นที่ริมลำห้วยขาแข้ง)

ด้วยความเป็นพื้นที่ที่เอื้อต่อการหากิน และสืบต่อพันธุ์ของสัตว์ป่า บริเวณสองฝั่งริมห้วยแม่เรวา จึงเต็มไปด้วยสัตว์ป่านานาชนิด เช่น นกยูงไทยที่ใช้พื้นที่โล่งบริเวณหาดทราย หรือป่าโปร่งริมน้ำ ในการเกี้ยวพาราสีเพื่อจับคู่ผสมพันธุ์ และนากที่ใช้ที่ราบลุ่มแห่งนี้เป็นบ้าน เป็นต้น

ด้วยระบบนิเวศที่ซับซ้อน และความหลากหลายทางชีวภาพสูง ทำให้มีการพบสัตว์ชนิดใหม่ที่ยังไม่เคยมีการสำรวจพบมาก่อนในพื้นที่ เช่น ค้างคาวจมูกหลอดเล็ดท้องขาว และเขียดดอยสุเทพ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ ได้กลายเป็นการการันตีความพิเศษของริมฝั่งลำห้วยแม่เรวา ในการเป็นสถานที่รองรับสัตว์ป่าหายาก ที่ไม่สามารถพบเจอได้ที่อื่น ๆ

นักวิชาการหลายคนมองตรงกันว่า พื้นที่ราบริมน้ำแห่งนี้ นอกจากเป็นแหล่งเป็นแหล่งอาศัยของสัตว์ป่าแล้ว ยังมีพืชที่สำคัญเติบโตขึ้นอย่างหนาแน่น อย่างป่าสักธรรมชาติบริเวณริมลำห้วย รวมไปถึงต้นกระบาก ต้นเสลา แดง อ้อยช้าง ที่ฝังรากอยู่ตามเนินเขา และสันเขาริมลำน้ำแม่เรวา

นอกจากต้นไม้ใหญ่ อันสามารถเปรียบเสมือนบ้านหรือหลังคาให้กับสัตว์ป่าแล้ว ริมลำน้ำยังมีแหล่งหญ้า ซึ่งเป็นอาหารหลักของสัตว์ตีนกีบ จำพวก กวางป่า วัวแดง ซึ่งสัตว์จำพวกนี้ นับว่าเป็นของโปรดเจ้าป่า อย่างเสือโคร่ง สัตว์ผู้ล่าที่อยู่สูงสุดของห่วงโซ่อาหาร ที่ใช้ชีวิตในผืนป่าแม่วงก์

นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งของการใช้ชีวิตอยู่ของสรรพสัตว์ ที่ได้ใช้ประโยชน์จากลำน้ำแม่เรวา และพื้นที่ริมน้ำ ซึ่งอันที่จริงแล้ว ผู้คนในลุ่มน้ำสะแกกรัง ก็ได้รับอนิสงส์จากความอุดมสมบูรณ์เหล่านี้ ด้วยการได้น้ำที่สามารถใช้อุปโภคบริโภค และสัตว์น้ำที่ใช้เป็นอาหาร ซึ่งที่อีกแง่หนึ่งกลายเป็นวัตถุดิบทางเศรษฐกิจของท้องถิ่น

ท้ายที่สุดนี้ ทุกหยดน้ำที่ป่าแม่วงก์ที่ได้สะสมไว้ ทำให้ลำน้ำแม่เรวาไม่เคยแห้งเหือด เป็นสิ่งที่พิสูจน์ให้เห็นว่า การมีผืนป่าที่กว้างใหญ่อันได้รับการดูแลปกป้อง และไม่ให้ถูกทำลายโดยน้ำมือของมนุษย์ ทำให้ป่ายังคงสามารถทำหน้าที่ตามวิถีธรรมชาติ เป็นหลักประกันสำคัญในการให้น้ำ ที่จะมั่นคงตราบนานเท่านาน

 


อ้างอิง
สารคดี แม่วงก์ ผืนป่าแห่งความหวัง
เขื่อนแม่วงก์ ทำลายป่าไม้ และสัตว์ป่าอย่างไร

ผู้เขียน

+ posts

นักสื่อสารมวลชน ชอบวิพากษ์สังคมผ่านงานเขียน ยึดปากกาและวิชาชีพเป็นสรณะ