การมาถึงของวิกฤติการสูญพันธุ์ครั้งที่ 6 ในทัศนะของ ‘ศิริพร ศรีอร่าม’ PART 1

การมาถึงของวิกฤติการสูญพันธุ์ครั้งที่ 6 ในทัศนะของ ‘ศิริพร ศรีอร่าม’ PART 1

เรื่อง The Sixth Extinction กลายเป็นหนึ่งในหัวข้อที่เหล่าบรรดานักวิทยาศาสตร์ – นักธรรมชาติวิทยา พูดถึงในวงสนทนาตามวาระต่าง ๆ จนเป็นจุดสนใจที่สาธารณะชนต่างร่วมเข้ามาสังเกตการณ์มากขึ้น 

ที่ผ่านมายังมีข้อถกเถียงกันในแวดวงวิชาการอยู่มากว่า สูญพันธุ์ครั้งใหญ่ (ลำดับ 6) ที่กำลังจะเกิดขึ้นในเร็ววันนี้ จะส่งผลกระทบกับสิ่งมีชีวิต และเผ่าพันธุ์ของมนุษยชาติมากน้อยแค่ไหน 

มูลนิธิสืบนาคะเสถียรชวน ‘ศิริพร ศรีอร่าม’ ผู้จัดการโครงการภาคีเครือข่ายด้านความหลากหลายทางชีวภาพ และเจ้าหน้าที่อาวุโสโครงการระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (IUCN)  มาพูดคุยถึงประเด็นดังกล่าว
.

การสูญพันธุ์ครั้งที่ 6 คืออะไร

โลกที่เราอาศัยมีอายุมากว่า 4 ล้านปีแล้ว ซึ่งที่ผ่านมาได้เกิดเหตุการณ์ที่เรียกว่าการสูญพันธุ์ครั้งใหญ่ หรือ Mass Extinction ทั้งหมด 5 ครั้ง โดยครั้งล่าสุดสามารถเห็นร่องรอยผ่านชั้นหินของเปลือกโลก และแต่ละครั้งจะสิ่งมีชีวิตมากถึง 50-90 เปอร์เซ็นต์ต้องสูญพันธุ์ไ 

ซึ่งในช่วง 10,000 ปีที่ผ่านมาเป็นยุคที่สายพันธุ์ Homo sapiens ได้เติบโตและเบ่งบานขึ้นในโลก ทำให้เกิดยุคใหม่ที่เรียกว่า “แอนโทรโปซีน” กล่าวคือยุคที่ประชากรมนุษย์ได้สร้างการเปลี่ยนแปลงฝากรอยเท้าไว้บนโลกอย่างชัดเจน จนนำไปสู่การสูญพันธุ์ครั้งที่ 6 

ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจก่อนว่า โลกของเราเต็มไปด้วยพื้นที่ที่มีความสำคัญทางความหลากหลายทางชีวภาพ มีชนิดพันธุ์ทั้งพืชทั้งสัตว์นับล้านชีวิต หรือที่เรียกว่า biodiversity hotspot อยู่ 36 แห่งในทั่วโลก โดย 8 แห่งอยู่ในภูมิภาคเอเชีย ซึ่งการจะเป็น biodiversity hotspot ได้จะต้องอยู่ในเกณฑ์หลัก ๆ 2 ข้อ คือในพื้นที่ต้องมีชนิดพันธุ์มากกว่า 1,500 ชนิดพันธุ์ และ 70 เปอร์เซ็นต์ของชนิดพันธุ์นั้น ๆ มีสถานะใกล้สูญพันธุ์หรือถูกคุกคามอย่างหนัก
.

นิเวศใต้ทะเลและป่าชายเลน แหล่งรวมความหลากหลายของทวีปเอเซีย

ในภูมิภาคเอเชีย ชนิดพันธุ์ที่เป็นความหลากหลาย พบอยู่ใต้ท้องทะเล ซึ่งก็คือปะการังที่มีถึง 34 เปอร์เซ็นต์ รวมถึงป่าชายเลน เพราะว่าป่าชายเลนเป็นระบบนิเวศที่มีความสำคัญ และมีความหลากหลายทางชีวภาพสูงกว่า 42 เปอร์เซนต์ 

นักวิชาการพบว่าภูมิภาคเอเชีย มีป่าชายเลนผืนที่ใหญ่ที่สุด คือ ป่าชายเลนซุนดาร์บันส์ ซึ่งครอบคลุมพื้นที่ในประเทศบังกลาเทศและอินเดีย สิ่งที่น่าสนใจคือ สัตว์ผู้ล่าขนาดใหญ่อย่างเสือก็ดำรงชีพอยู่ในป่าแห่งนี้ นอกจากนี้ยังมีทั้งสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม สัตว์เลื้อยคลาน และอื่น ๆ  อย่างไรก็ตาม พื้นที่ดังกล่าวกำลังมีความเสี่ยงจากการพัฒนาโครงการต่าง ๆ
.

Pollinator สปีชีส์ขนาดเล็กที่น่าเป็นห่วง 

รายงานฉบับหนึ่งของหน่วยนโยบายวิทยาศาสตร์ระหว่างชาติ เรื่องการให้บริหารด้านความหลากหลายทางชีววิทยาและระบบนิเวศ (Intergovernmental Science-Policy Platform on Biodiversity and Ecosystem Services) ได้มีพูดถึงบทบาทความสำคัญของชนิดพันธุ์ที่เป็นภาหะถ่ายเรณู (pollinator) จำพวกกลุ่มผึ้ง ค้างคาว ว่าชนิดพันธุ์เหล่านี้เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์อย่างยิ่ง 

กระนั้นคนทั่วไปอาจมองไม่เห็นความเชื่อมโยงว่า ถ้าไม่มีผึ้งแล้วจะส่งผลต่อชีวิตมนุษย์อย่างไร 

ตามข้อเท็จจริงสิ่งมีชีวิตเหล่านี้มีบทบาทและมีความสัมพันธ์ในกระบวนการ fertilization หรือการผสมพันธุ์ ที่ทำให้เกิดการผสมเกสรในพืชพรรณต่าง ๆ ทำให้เกิดผลผลิตทางการเกษตร และการกระจายพันธุ์ของพืชในป่าเป็นจำนวนมาก
.

ความเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ของชนิดพันธุ์ในบัญชีแดง

ปัจจุบัน ‘บัญชีแดงไอยูซีเอ็น’ (IUCN Red List) ได้ประเมินว่าสิ่งมีชีวิตกว่า 37,400 ชนิดพันธุ์เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ ซึ่งหากแบ่งเป็นกลุ่มจะพบว่า กลุ่มสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำมีความเสี่ยงอยู่ที่ 41 เปอร์เซ็นต์ กลุ่มสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม 26 เปอร์เซ็นต์ กลุ่มพืชกลุ่มสน – ปรง 34 เปอร์เซ็นต์ กลุ่มสัตว์ปีก 14 เปอร์เซ็นต์ กลุ่มฉลาม – กระเบนมีความเสี่ยง 36 เปอร์เซ็นต์ กลุ่มปะการังมีความเสี่ยง 33 เปอร์เซ็นต์ และกลุ่มสัตว์น้ำที่มีเปลือกแข็งมีความเสี่ยงสูญพันธุ์ 28 เปอร์เซ็นต์

จากการผลประเมิน จะเห็นว่ากลุ่มที่มีความเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ที่ค่อนข้างสูง คือกลุ่มพวกปะการัง เพราะจำนวนชนิดพันธุ์ลดลงอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ เพราะปะการังเป็นสิ่งมีชีวิตที่มีความอ่อนไหวต่อการเปลี่ยนจากภาวะโลกร้อนสูง 

ในส่วนของพืชมีพวก ไม้กฤษณา ไม้กำยาน ถึงแม้ว่าไม้ชนิดดังกล่าวจะมีเยอะในภูมิภาคของเรา แต่ก็ถูกใช้สอยอย่างเกินความจำเป็นจนเข้าข่ายวิกฤติ อย่างไรก็ตามผู้ผลิตต่างพยายามหาเทคโนโลยีอื่น ๆ เช่น นำจุลินทรีย์มาใช้ให้มีการเพิ่มปริมาณผลผลิต ซึ่งทำให้ไม่จำเป็นต้องเบียดเบียนหรือลักลอบตัดไม้พวกนี้ในป่า 

สำหรับประเทศไทย จากรายงานของการประเมินสถานะพันธุ์ความหลากหลายทางชีวภาพในประเทศ พบว่ามีชนิดพันธุ์สัตว์ที่เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์กว่า 500 ชนิดพันธุ์ เช่นเดียวกับชนิดพันธุ์พืชที่เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์กว่า 500 ชนิดพันธุ์เช่นกัน
.

มนุษย์ต้องให้ความสำคัญโดยเร็วที่สุด 

ในช่วงสองปีก่อนการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 มนุษยชาติเริ่มตระหนักถึงปัญหาขยะพลาสติก เริ่มให้ความสำคัญกับการดูแลอนุรักษ์สัตว์ป่า แต่พอเกิดโรคระบาดปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมได้กลายเป็นปัญหาที่ผู้คนรู้สึกว่าอยู่ไกลตัวและไม่ได้ถูกพูดถึงเท่าที่ควร 

ซึ่งปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมในยุคทศวรรษที่ 2000-2021 จะมีอยู่ 2 เรื่องใหญ่ คือ การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ (Climate change)  และการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ (Biology loss) ซึ่งหากปัญหาทั้งสองได้ผ่านจุดที่ไม่สามารถยับยั้งได้แล้ว Homo sapien ก็จะสูญหายไปจากโลกด้วย 

ในช่วงหมื่นปีที่ผ่านมา พอเราเกิดมาบนโลกก็มีการรวมกลุ่มกัน มีการพัฒนาเทคโนโลยีต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนป่าเป็นแปลงเกษตร จับสัตว์ป่ามาเลี้ยง และทำฟาร์มปศุสัตว์ สิ่งเหล่านี้ถือเป็นการขับเคลื่อนที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพื้นที่ธรรมชาติ ส่งผลให้พื้นที่สูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพไป 

อีกเรื่องทำให้เกิดการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพเป็นอย่างยิ่ง คือ เรื่องการสร้างเขื่อน เรามีคำอุทานว่า “I don’t give a damn” แต่ Dam ในกรณีของเรา เราต้อง give a dam ค่ะ เพราะ Dam บางทีก็ไม่จำเป็นและก็ไปทำลายพื้นที่ป่า พื้นที่แหล่งกักเก็บน้ำที่แท้จริงคือธรรมชาติ 

ปัจจุบันปัญหาเรื่องของการใช้น้ำมีอยู่ทั่วโลก แต่เราใช้น้ำที่มีอยู่อย่างมีประสิทธิภาพหรือยัง เราใช้น้ำมากเกินไปหรือเปล่า บางครั้งมันกลายเป็นผลกระทบที่ไม่ได้ตอบโจทย์การพัฒนาที่ยั่งยืนเลย 

ดังที่เราเห็นองค์กรอนุรักษ์หลายกลุ่มออกมาคัดค้าน แสดงจุดยืนไม่เห็นด้วย ซึ่งอยากให้ทุกคนรับฟังว่าทำไมเขาถึงไม่เห็นด้วย เพื่อที่จะช่วยกันหาคำตอบว่าโครงการแต่ละโครงการมันโปร่งใสหรือไม่

อ่านต่อ PART 2 เร็วๆ นี้

ผู้เขียน

+ posts

นักสื่อสารมวลชน ชอบวิพากษ์สังคมผ่านงานเขียน ยึดปากกาและวิชาชีพเป็นสรณะ