อะไรคือทางรอดของสิ่งมีชีวิตเมื่อ ‘การสูญพันธุ์ครั้งที่ 6 ‘ กำลังจะมาถึง

อะไรคือทางรอดของสิ่งมีชีวิตเมื่อ ‘การสูญพันธุ์ครั้งที่ 6 ‘ กำลังจะมาถึง

ในอดีตกาลโลกของเราได้ประสบกับปรากฏการณ์การสูญพันธุ์ครั้งใหญ่มาแล้วถึง 5 ครั้ง นับตั้งแต่ 500 ล้านปีที่ผ่านมา ซึ่งปัจจุบันดาวเคราะห์อันเป็นที่อยู่อาศัยของสิ่งมีชีวิตใบนี้ กำลังเข้าสู่สภาวะ ‘การสูญพันธุ์ครั้งที่ 6’ หรือ The Sixth Extinction ที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิตนับล้านสปีชีส์ โดยกล่าวกันว่าสาเหตุหลักมาจากฝีมือและการพัฒนาของมนุษย์ ปรากฏการณ์ต่าง ๆ เริ่มทวีความหนักหน่วงขึ้น กระทั่งเกิดการพูดคุยในแวดวงวิชาการมาอย่างต่อเนื่องตลอดทศวรรษที่ผ่านมา
.

สิ่งมีชีวิตที่สูญพันธุ์โดยมนุษย์ในช่วง Anthropocene

ดร.ชวลิต วิทยานนท์ นักชีววิทยา และกรรมการมูลนิธิสืบนาคะเสถียร ให้ความเห็นว่า การสูญพันธุ์ครั้งใหญ่ที่เกิดขึ้นทุกวันนี้ อาจมีสิ่งมีชีวิตต้องสังเวยไปนาทีละหลายสปีชีส์ ทั้งสัตว์ขนาดใหญ่ที่สามารถพบเห็นได้ด้วยตาเปล่า และสัตว์ขนาดเล็กอื่น ๆ ที่เปราะบางต่อการเปลี่ยนแปลงทางในธรรมชาติ ในเชิงวิชาการอาจกล่าวได้ว่า การสูญพันธุ์ของสิ่งมีชีวิตในครั้งนี้มีระยะเวลาที่เร็วกว่าการสูญพันธุ์ของไดโนเสาร์เมื่อ 65 ล้านปีก่อน (การสูญพันธุ์ครั้งล่าสุดครั้งที่ 5 ในยุคครีเทเชียส) 

“ปัจจุบันสัตว์และพืชมีการสูญพันธุ์เร็วกว่าสมัยไดโนเสาร์ ประมาณ 7,500 เท่า โดยตัวเลขดังกล่าวเป็นข้อมูลเมื่อสามสิบปีที่แล้ว ซึ่งหากเราศึกษาเก็บข้อมูลในปัจจุบันจำนวนการสูญเสียอาจจะมากกว่านี้”

การสูญพันธุ์ของ ‘สมัน’ และ ‘กูปรี’ ถือเป็นกรณีสำคัญที่ ดร.ชวลิต ยกมาเป็นตัวอย่าง สัตว์ทั้งสองชนิดสูญพันธุ์เพราะถูกมนุษย์รุกรานถิ่นที่อยู่อาศัย 

ในอดีตสมันเคยมีประชากรที่ชุกชุมอยู่ตรงบริเวณพื้นที่ราบลุ่มภาคกลาง ซึ่งถือเป็นพื้นที่เชื่อมต่อทางระบบนิเวศที่สำคัญของสัตว์ป่าในการใช้เดินทางและกระจายพันธุ์จากป่าตะวันตกไปยังป่าตะวันออก ซึ่งในช่วงศตวรรษที่ผ่านมา บริเวณดังกล่าวถูกบุกเบิกพื้นที่ เพื่อรองรับการเติบโตทางการเกษตร มีการขุดลำคลองตามระบบชลประทานขึ้นมากมาย เพื่อเปิดเส้นทางให้มวลน้ำได้ไหลจากแม่น้ำสู่ท้องนาต่าง ๆ โดยสะดวก สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจและสังคมในสมัยนั้น ที่สยามเริ่มส่งออกข้าวไปยังต่างประเทศ 

เมื่อพื้นที่อาศัยของสมันถูกบุกรุก มนุษย์จึงมีความใกล้ชิดกับสมันมากขึ้น เกิดการล่าเพื่อนำชิ้นส่วนหรืออวัยวะไปผลิตเป็นเครื่องดำรงชีพ นอกจากนี้การเข้ามาของชาวตะวันตกก็ส่งผลให้เกิดการเผยแพร่วัฒนธรรมการล่าสัตว์ป่าเพื่อความบันเทิง อันนำไปสู่การเริ่มล่าในลักษณะเกมกีฬาในหมู่ชนชั้นสูง สมันในพื้นที่ภาคกลางจึงลดจำนวนอย่างรวดเร็ว แม้ในช่วงหลังจะเริ่มมีการดูแลสมันที่ยังมีชีวิตอยู่ในเขตเมือง แต่ช่วงเวลาดังกล่าวการอนุรักษ์ยังไม่มีหลักวิชาการมากพอ ส่งผลให้สมันสูญพันธุ์ไปในที่สุด

“ในประเทศไทยมีสัตว์ที่สูญพันธุ์ไปหลายชนิดครับ ตัวที่รู้จักกันตั้งแต่เด็ก ๆ ก็คือเนื้อสมัน ซึ่งเขาบอกกันว่า เขาของมันสวยที่สุดในโลก เพราะมีรูปร่างสมส่วนไม่เกะกะ แต่จริง ๆ แล้ว สมันไม่ได้สูญพันธุ์เพราะความสวยงามของเขานะครับ มันสูญพันธุ์จากการที่ระบบนิเวศหรือถิ่นอยู่อาศัยของเขาอยู่ใกล้กับคนมากเกินไป ส่งผลให้เกิดการล่าเพื่อใช้สอยอวัยวะ และเพื่อความบันเทิง ซึ่งเกิดขึ้นในช่วงหลัง “

ขณะที่กูปรีซึ่งเป็นสัตว์เท้ากีบขนาดใหญ่ ที่เคยพบเห็นในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และบริเวณป่าในประเทศแถบอินโดจีนก็สูญพันธุ์ไปด้วยการพัฒนาของเทคโนโลยีทางการทหาร กรณีศึกษาดังกล่าวเกิดขึ้นในประเทศกัมพูชา เมื่อคราวเกิดสงความกลางเมืองนำโดยกลุ่มเขมรแดง ซึ่งมีการใช้ยุทธวิธีทำการรบด้วยการฝังกับระเบิดในพื้นที่ป่าจำนวนมหาศาล ส่งผลให้เกิดข้อสังเกตว่า กูปรีสูญพันธุ์ไปจากกัมพูชาจากการเหยียบกับระเบิด

ผลกระทบจากการพัฒนาของมนุษย์ไม่ได้ส่งผลเฉพาะสัตว์บกขนาดใหญ่เท่านั้น แต่ยังพ่วงไปถึง ‘สัตว์น้ำจืด’ อาทิ การลดจำนวนลงของ ‘กุ้งกล้ามกราม’ และการหายไปของ ‘ปลายี่สก’ ได้แสดงให้เห็นถึงผลกระทบที่มาพร้อมกับการสร้างเขื่อน

ขณะที่ระบบนิเวศลุ่มน้ำบางประกงก็ประสบปัญหาการสูญพันธุ์ของ ‘ปลาหวีเกศ’ อันเกิดจากการการทำประมงที่มากเกินไป และผลพวงมาจากการใช้สารเคมีเพื่อกำจัดศัตรูพืชของเกษตรกร ซึ่งสารเคมีดังกล่าวกลายเป็นมลภาวะที่เกิดขึ้นจากการพัฒนาเทคโนโลยีทางการเกษตรของมนุษย์

“เขื่อนมีส่วนในการสูญพันธุ์ของสัตว์น้ำทั้งกุ้ง หอย ปู ปลา ทั้งสูญพันธุ์ในระดับประชากร ระดับท้องที่ จนถึงสูญพันธุ์ในระดับทั้งประเทศหรือหมดไปทั้งโลกก็มีนะครับ” ดร. ชวลิต วิทยานนท์ กล่าว

.

‘โลกร้อน’ ที่คนไทยไม่ควรมองข้าม

วรรโณบล ควรอาจ นักวิชาการชำนาญการ องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) ได้ยกงานวิจัยฉบับล่าสุดซึ่งเป็นรายงานการประเมินโลกร้อนของ IPCC (คณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ) อันมีสาระสำคัญว่า ‘โลกร้อนเกิดขึ้นเร็วกว่าที่เราคิด’ ดังนั้นทุกคนควรจะสนใจเรื่องดังกล่าวเป็นอันดับแรก

“เมื่ออุณหภูมิเพิ่มขึ้น 1.5 องศาเซลเซียส หรือ 2 องศาเซลเซียส จะเกิดวิกฤกติต่าง ๆ เกี่ยวกับสภาพภูมิอากาศที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ทุกภูมิภาคทั่วโลกจะได้รับผลกระทบกันหมด บางพื้นที่อาจเกิดน้ำท่วมและฝนตกหนัก แต่บางพื้นที่ก็จะประสบปัญหาภัยแล้ง ปัญหาคลื่นความร้อน หรือการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเล ซึ่งสิ่งที่เราไม่สามารถที่จะเรียกกลับคืนมาได้เเล้วคือ การละลายของน้ำแข็งขั้วโลก และก็การเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเล”

ปัจจุบัน อุณหภูมิเฉลี่ยของพื้นผิวโลกสูงขึ้นมากกว่าในช่วงปฏิวัติอุตสาหกรรม ประมาณ 1.1 องศาเซลเซียส ซึ่งรายงาน The Sixth Assessment Report  รายงานว่าในอีก 20 ปีข้างหน้า โลกจะอุ่นขึ้นหรือร้อนเร็วขึ้นกว่าในช่วงหนึ่งร้อยปีที่ผ่านมา

เมื่ออุณหภูมิเพิ่มขึ้น 1.5 องศาเซลเซียส หรือ 2 องศาเซลเซียส จะเกิดวิกฤกติต่าง ๆ เกี่ยวกับสภาพภูมิอากาศที่มนุษย์หลีกเลี่ยงไม่ได้ อาทิ ปรากฎการณ์คลื่นความร้อนที่ปรกติจะเกิดขึ้นในทุก ๆ 50 ปี แต่ในรายงานคาดการณ์ว่าอาจเกิดขึ้นในทุกรอบทศวรรษ ฝนจะตกหนักและถี่ขึ้น น้ำแข็งที่ขั้วโลกจะละลายอย่างรวดเร็ว

“อิทธิพลของมนุษย์ หรือว่าผลจากการกระทำของเรานี่แหล่ะ คือสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็ว มันเป็นสัญญาณเตือนว่า นับตั้งแต่อดีตมาจนถึงปัจจุบัน ทุกคนมีส่วนรับผิดชอบกับสิ่งที่เกิดขึ้น หมายความว่าเราต้องช่วยกันแล้ว และเราต้องเริ่มทำอะไรสักอย่าง เพื่อยับยั้งภาวะโลกร้อน”

แน่นอนว่าสิ่งที่มนุษย์ไม่สามารถพลิกฟื้นคืนกลับมาได้คือ การละลายของน้ำแข็งขั้วโลก และการยับยั้งปริมาณน้ำทะเลที่เพิ่มขึ้น อันเป็นผลมาจากปรากฏการณ์ข้างต้น 

อย่างไรก็ตาม ข้อมูลในรายงาน The Sixth Assessment Report มีการระบุ ยังมีอีกหลายสิ่งหลายอย่างที่มนุษย์สามารถรักษาและกอบกู้เอากลับคืนมาได้ ถ้าผู้คนมีความตั้งใจในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก หรือก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ก๊าซมีเทนต่าง ๆ ให้น้อยลงโดยเฉพาะก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ให้มีการปล่อยสุทธิเป็นศูนย์ 

“การรักษาไม่ใช่แค่การรักษาทรัพยากรธรรมชาติ หรือว่ารักษาความหลากหลายทางชีวภาพเอาไว้เท่านั้น แต่อีกส่วนที่สำคัญคือ การรักษาสมดุลในการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ อันจะลอยขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศ ที่หน่วยงานรัฐ ราชการ เอกชน และประชาชนจะต้องให้ความร่วมมือ” วรรโณบล ควรอาจ กล่าว

.

การมาถึงของวิกฤติการสูญพันธุ์ ครั้งที่ 6 

“ปัจจุบัน IUCN Red List ได้มีการประมาณสถานะของชนิดพันธุ์ที่ระบุว่า กว่า 37,400 ชนิดพันธุ์เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ ซึ่งหากมีการแบ่งเป็นกลุ่มจะพบว่า กลุ่มสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ 41% ใกล้สูญพันธุ์ กลุ่มสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม 26% กลุ่มพืช (สน – ปรง) 34% กลุ่มนก 14% กลุ่มสัตว์น้ำ (ฉลาม – กระเบน) 36% กลุ่มปะการัง 33% และกลุ่มสัตว์น้ำที่มีเปลือกแข็ง 28%”

ศิริพร ศรีอร่าม ผู้จัดการโครงการภาคีเครือข่ายด้านความหลากหลายทางชีวภาพ และเจ้าหน้าที่อาวุโส โครงการระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ  (IUCN) ได้ยกตัวอย่างชนิดพันธุ์ที่มีสถานะเสี่ยงสูญพันธุ์ จาก ‘บัญชีแดงไอยูซีเอน’ หรือ IUCN Red List ที่การันตีถึงวิกฤติการสูญพันธุ์ที่กำลังจะมาถึง

โดยจากการผลประเมิน จะเห็นได้ว่ากลุ่มที่มีความเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ จะเป็นชนิดพันธุ์ที่มีจำนวนลดลงอย่างต่อเนื่อง จากการเกิดภาวะโลกร้อน ซึ่งสปีชีส์ดังกล่าวล้วนมีความอ่อนไหว ต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ

แน่นอนว่าชนิดพันธุ์พืชในประเทศไทยก็ไม่รอดพ้นจากสถานการณ์ดังกล่าว ซึ่งจากการประเมินพบว่ามีพืชกว่า 500 ชนิดพันธุ์ที่อาจต้องสูญพันธุ์ไปจากระบบนิเวศ อาทิ ไม้กฤษณา ไม้กำยาน อันเป็นพันธุ์ไม้ประจำถิ่นในภูมิเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ศิริพร กล่าวต่อว่า ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมในยุคทศวรรษที่ 2000 ถึง 2021 จะมีปัญหาหลักอยู่ สองเรื่อง ที่มนุษย์จะต้องให้ความสำคัญกับประเด็นดังกล่าว คือ climate change หรือการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ และเรื่องที่สองคือ การสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ หรือ biology loss ซึ่งถ้าเกิดอันนี้มันเกิดขึ้นมาจริง ๆ ชนิดพันธุ์ของมนุษย์ก็อาจสูญหายไปจากโลกด้วย 

“Nature doesn’r need us, but we need nature ถ้าเราสามารถเปลี่ยนพฤติกรรม การบริโภค การพัฒนา โดยอาศัยการพัฒนาที่ยั่งยืนแล้ว เราจะไม่มีคำว่าใช้ทรัพยากรแบบใช้แล้วทิ้ง ไปขุดมาใช้ใหม่ อันนี้จะต้องหยุดและต้องไม่เกิดขึ้นมาอีก สุดท้ายนี้ก็อยากให้ทุกคนหันมาใส่ใจทำความรู้จักสิ่งรอบตัว และมองถึงผลกระทบจากเราเองต่อสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ ว่ามันมีอะไรบ้าง เพราะเราไม่ได้มีโลกใบที่สอง เรามีโลกใบนี้ใบเดียว ก็ขอให้ทุกคนร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการแก้ไขปัญหา” ศิริพร ศรีอร่าม กล่าว

.

การสูญพันธุ์ครั้งที่ 6 กับราคาที่ต้องจ่าย 

น.สพ.ดร.บริพัตร ศิริอรุณรัตน์ นักวิชาการจากคณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และประธานมูลนิธิโลกสีเขียว ชวนทบทวนบทเรียนต่าง ๆ ในการทำงานเมื่อการสูญพันธุ์พันธุ์ครั้งใหญ่กำลังจะมาถึง

“เรื่องของต้นทุนหรือราคาที่ต้องจ่าย ความคุ้มค่า และข้อดีข้อเสียในการนำสัตว์ป่าชนิดหนึ่งที่ใกล้สูญพันธุ์ มาเพาะขยายพันธุ์ให้เขามีจำนวนมากขึ้น และเมื่อมีการปล่อยจากสถานที่เพาะเลี้ยงคืนสู่ธรรมชาติ มันมีต้นทุนอะไรที่เราต้องจ่ายบ้าง”

ประเด็นเรื่องของการนำสัตว์ป่าจากที่เพาะเลี้ยงกลับคืนสู่ธรรมชาติ เป็นแนวคิดของชาติตะวันตก ที่คนท้องถิ่นใช้ประโยชน์จากสัตว์มากกว่าประเทศไทย (ช่วงปี ค.ศ. 1930-1980) 

โดยในทวีปอเมริกา (เหนือและใต้) ได้มีการทดลองแนวคิดในการเพิ่มประชากรสัตว์ป่าในธรรมชาติ เนื่องจากคนท้องถิ่นต่างมีความพยายามล่าสัตว์เพื่อนำมาใช้ประโยชน์ในด้านต่าง ๆ  เช่น การล่าเพื่อนำขนสัตว์มาทำเครื่องนุ่งห่ม หรือล่าเพื่อบริโภค เป็นต้น และถือเป็นความร่วมมือที่เกิดขึ้นระหว่างรัฐบลท้องถิ่น ภาคเอกชน และประชาชน ที่ต่างฝ่ายต่างให้การสนับสนุน เพื่อธำรงค์ไว้ซึ่งความหลากหลายของทรัพยากรสัตว์ป่าให้คงอยู่ต่อไปในอนาคต

การปล่อยสัตว์คืนสู่ธรรมชาติ คือศาสตร์แบบประยุกต์ เป็นศาสตร์แบบสหสาขา และเป็นการรวบรวมความเชี่ยวชาญของบุคลากรในหลากหลายอาชีพมาทำงานร่วมกัน ไม่ใช่แค่ชีววิทยา ไม่ใช่แค่นิเวศวิทยา แต่เป็นเรื่องครอบคลุมทั้ง วิทยาศาสตร์ สุขภาพ พันธุกรรม เศรษฐศาสตร์ สังคม และประชาชน ดังนั้นทุกสาขาวิชาชีพต้องมาร่วมบูรณาการการทำงานทั้งหมด ถึงจะเกิดเป็นโครงการขึ้นมาได้ สำหรับบทเรียนของการปล่อยสัตว์คืนสู่ธรรมชาติของประเทศไทย เท่าที่ น.สพ.ดร.บริพัตร มีประสบการณ์กว่า 30 ปี มีอยู่หลายกรณี 

ยกตัวอย่างการเพาะพันธุ์นกกระเรียนในช่วงปี พ.ศ. 2533 ที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูเขียว จังหวัดชัยภูมิ

“มันเป็นเรื่องของความพยายามนำนกกระเรียนกลับมาปล่อยที่ประเทศไทย ซึ่งผมไม่เคยรู้มาก่อนว่าประเทศไทยมีนกกระเรียน ตอนนั้นเราเห็นความพยายามของรุ่นพี่ ที่จะเอาสัตว์ชนิดนี้คืนสู่ผืนป่า แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นความพยายามมันไม่ประสบความสำเร็จ อาจจะเกิดจากองค์ความรู้ที่เรายังมีไม่มากพอ”

กระทั่งในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา น.สพ.ดร.บริพัตร ก็ได้ประสบความสำเร็จกับโครงการฟื้นฟูประชากรนกกระเรียนเป็นครั้งแรก โดยเขาเล่าว่า 

“มันเป็นโปรเจกต์ที่เราภาคภูมิใจมากที่สุด เป็นโปรเจกต์ที่นานาชาติมองประเทศไทยและชื่นชมว่า มันเป็นความสำเร็จของประเทศไทย ในการนำนกกระเรียนที่สูญพันธุ์ไปแล้วจากธรรมชาติมาเพาะขยายพันธุ์ จนเกิดการปล่อยคืนสู่ผืนป่าได้อีกครั้ง ผ่านการเพาะขยายพันธุ์ในสวนสัตว์นครราชสีมา จนกระทั่งมีประชากรเพียงพอในระบบนิเวศ”

ความสำเร็จในครั้งนี้ เกิดจากการทบทวนและนำบทเรียนที่เคยล้มเหลวในปีพ.ศ. 2533 มาตั้งหลักใหม่โดยเอาจุดที่เจ็บ (Pain Point) มาศึกษา ซึ่งภายหลังจึงเกิดการทำงานที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยเฉพาะเรื่องการทำงานแบบบูรณาการร่วมกับหลายฝ่าย 

“12 ปี ที่ผมได้มีโอกาสอยู่กับโครงการนกกระเรียน ทำให้ทราบว่าอุปสรรคปัญหามันมีมากมาย ซึ่งผมไม่อยากให้คิดว่าเมื่อมีสัตว์ป่าที่มันสูญพันธุ์ไปแล้วในธรรมชาติ เราก็จะเดินโมเดลแบบนกกระเรียนอีกครั้งนึง อย่าคิดอย่างนั้นเด็ดขาดครับ มันคงไม่มีสัตว์ป่าหลาย ๆ ชนิดที่จะโชคดีแบบนกกระเรียน ที่จะประสบความสำเร็จแบบนี้ ต้นทุนมันแพงมาก สิ่งที่ผมอยากจะฝากไว้ก็คือ ให้ทุกคนอนุรักษ์สัตว์ป่าที่อยู่ในธรรมชาตินั่นคือสิ่งที่สำคัญที่สุด” น.สพ.ดร.บริพัตร ศิริอรุณรัตน์

ผู้เขียน

+ posts

นักสื่อสารมวลชน ชอบวิพากษ์สังคมผ่านงานเขียน ยึดปากกาและวิชาชีพเป็นสรณะ