‘โลกร้อน’ ที่คนไทยไม่ควรมองข้าม – วรรโณบล ควรอาจ

‘โลกร้อน’ ที่คนไทยไม่ควรมองข้าม – วรรโณบล ควรอาจ

‘โลกร้อน’ ที่คนไทยไม่ควรมองข้าม

ระดับน้ำทะเลเพิ่มสูงขึ้นเนื่องจากธารน้ำแข็งกำลังละลาย อุณหภูมิทางโลกสูงขึ้น ก๊าซเรือนกระจกที่ถูกปล่อยออกมาอย่างมหาศาล สภาพอากาศรุนแรง ความแห้งแล้ง น้ำท่วม สิ่งเหล่านี้อาจเรียกว่าได้ ‘หายนะ’

IPCC (Intergovernmental Panel on Climate Change) หรือ คณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ให้ข้อมูลในรายงานฉบับเดือน สิงหาคม ที่ผ่านมา โดยระบุความสำคัญว่า “เราทุกคนควรที่จะหันมาให้ความสนใจเรื่องภาวะโลกร้อนเป็นลำดับแรก เพราะโลกร้อนเกิดเร็วขึ้นกว่าที่เราคิดมาก”

โดยในปัจจุบันอุณหภูมิเฉลี่ยของพื้นผิวโลกสูงขึ้นมากกว่าในช่วงปฏิวัติอุตสาหกรรม เฉลี่ย 1.1 องศาเซลเซียส ซึ่งจาก The Sixth Assessment Report รายงานว่าในอีก 20 ปีข้างหน้า โลกจะอุ่นขึ้นหรือร้อนเร็วขึ้นกว่าในช่วงหนึ่งร้อยปีที่ผ่านมา หากอุณหภูมิเพิ่มขึ้น ถึง 1.5 องศาเซลเซียส หรือ 2 องศาเซลเซียส จะเกิดวิกฤกติต่างๆ เกี่ยวกับสภาพภูมิอากาศโดยมนุษย์มิอาจหลีกเลี่ยงได้ อาทิ ปรากฎการณ์คลื่นความร้อนที่ปกติจะเกิดขึ้นในทุกๆ 50 ปี แต่ในรายงานคาดการณ์ว่า อาจเกิดขึ้นในทุกรอบทศวรรษ ฝนจะตกหนักและถี่ขึ้น น้ำแข็งขั้วโลกจะละลายอย่างรวดเร็ว ซึ่งเป็นสิ่งที่เราไม่สามารถเรียกกลับคืนมาได้

ปัจจัยหลักต่อการเร่งการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ อันทำให้เกิด “ภาวะโลกร้อน” นั่นคือ ก๊าซเรือนกระจก สาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดการละลายของน้ำแข็งขั้วโลก และการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเลอย่างรวดเร็ว ซึ่งตามในรายงาน โลกเรายังพอมีความหวังเล็กๆ ว่า ยังมีอีกหลายอย่างที่โลกจะเอากลับคืนมาได้ หากมนุษย์เรามีความตั้งใจช่วยกัน เร่งมือในเรื่องลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก หรือก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และแม้กระทั่งก๊าซมีเทน ต่างๆ นี้ให้น้อยลง อย่างน้อยๆ สิ่งใกล้ตัวเรา เช่น สภาพแวดล้อม สภาพอากาศที่เคยแปรปรวน อาจลดน้อยลงจนเกือบกลับเข้าสู่ความเป็นปกติได้ แต่อาจจะยกเว้นในเรื่องของน้ำแข็งขั้วโลกที่ละลาย หรือการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเล

“รายงาน จาก IPCC ฉบับดังกล่าวนี้ จึงเปรียบเสมือนสัญญาณเตือนต่อมนุษย์เราทุกคนว่าต้องเปลี่ยนแปลง ถ้าเราเริ่มทำในวันนี้อย่างน้อยมันก็จะเกิดความเปลี่ยนแปลงขึ้น”

มองย้อนกลับมาที่ประเทศไทยของเราบ้าง ในเรื่องของการดำเนินการตามนโยบายอันสอดคล้อง ต่อการลดภาวะ ‘โลกร้อน’ หรือการจัดการต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ มีการดำเนินงานที่เป็นการบูรณาการเรื่องแผนการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เข้าสู่นโยบายหรือแผนระดับชาติ สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ออกแผนแม่บทรองรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2558 ถึง พ.ศ. 2593 ซึ่งเป็นแผนระยะยาว 36 ปี เพื่อใช้เป็นกรอบนโยบายกำหนดทิศทางของประเทศให้มุ่งสู่การมีภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลงต่อสภาพภูมิอากาศ และการเติบโตแบบปล่อยคาร์บอนต่ำ ตามแนวทางการพัฒนาที่ยั่งยืน ประกอบไปด้วย 3 แนวทาง ได้แก่ (1) การปรับตัวต่อผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือ adaptation (2) การลดก๊าซเรือนกระจกและส่งเสริมการเติบโตการที่ปล่อยคาร์บอนต่ำ หรือ mitigation (3)การสร้างขีดความสามารถด้านการบริหารการจัดการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

และเพื่อให้การดำเนินการด้านการปรับตัวต่อผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สำนักนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จึงได้ดำเนินโครงการศึกษาเพื่อวางแผนการการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งชาติ (The National Adaptation Plan: NAP) ซึ่งเป็นแผนอันเป็นแนวทางในการปรับตัวใน 6 สาขาหลักๆ ด้วยกัน คือ (1) การจัดการน้ำ อุทกภัย และภัยแล้ง มุ่งเน้นการจัดการน าอย่างบูรณาการเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและ ความเป็นธรรมในการเข้าถึงทรัพยากรน้ำ (2) การเกษตรและความมั่นคงทางอาหาร (3) การท่องเที่ยว มุ่งเน้นการพัฒนาและส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ (4) สาธารณสุข มุ่งเน้นการเฝ้าระวังโรคและการเปลี่ยนแปลงของปัจจัยทางภูมิอากาศ (5) การจัดการทรัพยากรธรรมชาติ มุ่งเน้นการสงวนรักษาและฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและระบบ นิเวศ ให้คงความอุดมสมบูรณ์ (6) การตั้งถิ่นฐานและความมั่นคงของมนุษย์ มุ่งเน้นการลดความเสี่ยงและความเสียหายจากภัย ธรรมชาติและการสร้างความพร้อมและขีดความสามารถในการปรับตัวของชุมชน

นอกจากนั้นแล้ว ด้านการส่งเสริมและสนับสนุนการคำนวณคาร์บอนฟุตพริ้นท์ ตั้งแต่การได้มาซึ่งวัตถุดิบ กระบวนการผลิต การประกอบชิ้นงาน การกระจายสินค้า การใช้งาน และการจัดการของเสียหลังหมดอายุการใช้งาน รวมถึงการขนส่งที่เกี่ยวข้อง โดยคำนวณออกมาในรูปของ กรัม กิโลกรัม หรือตัน นั่นเอง

ส่วนผลกระทบที่ประเทศไทยได้รับจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศหรือโลกร้อน มีอะไรบ้าง? เริ่มจากเรื่องง่ายๆ ใกล้ตัว ไม่ว่าจะเป็นคนในชนบทหรือคนเมือง นั่นก็คือ เรื่องของ ‘น้ำ’ เหตุจากฝนตกหนักและถี่มากขึ้น การเปลี่ยนแปลงเช่นนี้ส่งผลกระทบต่อการทำการเกษตร และชาวนาที่เคยทำนาหว่านข้าวอย่างถูกต้องตามฤดูกาล แต่หลังๆ มา เราเห็นว่าฤดูกาลหรือว่ารูปแบบของฝนไม่เป็นไปแบบที่คาดไว้ จนส่งผลต่อผลผลิตที่จะนำออกสู่ท้องตลาด

หรือบันทึกเหตุการณ์มหาอุทกภัย 2554 ประเทศไทยประสบปัญหาน้ำท่วมครั้งยิ่งใหญ่ เกิดความเสียหายและผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคมเป็นอย่างมาก เหล่านี้ถือว่าเป็นบทเรียนหนึ่งที่เราต้องวางแผน เพื่อเตรียมความพร้อมกับการรับมือกับความรุนแรงที่จะเกิดขึ้นในอนาคตไม่ช้า

“เพราะฉะนั้นมันก็คือการที่จะต้องทำด้วยกันแก้ปัญหาด้วยกัน สิ่งที่จะทำให้เรารอดก็คือว่า การร่วมมือกันแล้วก็การแชร์ข้อมูล การแบ่งปันประสบการณ์บทเรียนแล้วก็ข้อมูลต่างๆ แล้วทำให้เหมือนกับว่าวันพรุ่งนี้จะเกิดเหตุการณ์ที่ร้ายแรง วันพรุ่งนี้จะเกิดภัยพิบัติที่รุนแรงต่างๆ พวกนี้ พี่คิดว่าเราจะอยู่รอดได้เพราะว่า มนุษย์คือสัตว์ที่มีความสามารถในการปรับตัว มนุษย์มีมันสมอง มนุษย์มีความคิด มนุษย์รู้ว่าเราจะอยู่รอดได้ยังไง เพราะฉะนั้นเมื่อมีความรู้ เมื่อมีความตระหนัก เมื่อมีความพร้อมที่จะแบ่งปัน แล้วก็เรียนรู้กันและกัน พี่ว่าเราไปรอดได้”

นอกจากกลไกในการลดก๊าซเรือนกระจก ทั้งภาคเอกชนหรือว่าประชาชนได้ร่วมกันลดก๊าซเรือนกระจกแล้ว จริงๆ อีกกลไกหนึ่งที่สำคัญที่ประเทศไทยสามารถทำได้ ก็คือเรื่องของการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก หรือว่าการดูดซับคาร์บอนต่างๆ โดยภาคป่าไม้ ประเทศของเรามีพื้นที่ป่าไม้ที่อยู่ในสัดส่วนที่ยังสูงอยู่ เพราะฉะนั้นป่าไม้คือพื้นที่สำคัญอีกหนึ่งที่จะดูดซับเอาก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เก็บกักเอาไว้ แล้วไม่เพียงแค่ในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ ป่าที่อยู่ตามหัวไร่ปลายนาที่เราเรียกกัน ว่า ‘ป่าชุมชน’ หรือว่าป่าที่เป็น Buffer zone บริเวณรอยต่อ หรือแม้แต่ป่าที่เขาเรียกว่าป่าทางเศรษฐกิจต่างๆ เหล่านี้มีความสำคัญและช่วยปรับสมดุลการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเทศเราได้ดีมากขึ้น เพราะฉะนั้นการดูแลพื้นที่ป่า การดูแลคนที่ดูแลป่า จึงถือเป็นเรื่องสำคัญ

สุดท้าย… โลกร้อนอาจเกิดเร็วขึ้นและอาจรุนแรงมากขึ้น แผนและนโยบายต่างๆ อาจเปลี่ยนแปลงได้ตามสถานการณ์ช่วงนั้น แต่เหนือสิ่งอื่นใด มนุษย์เราทุกคนควรตระหนักรู้ถึงการเปลี่ยนแปลงให้มากขึ้น ต้องช่วยกันเพื่อให้โลกดีขึ้น อย่ามองว่ามีแค่ประชาชนบางกลุ่ม หรือองค์กรเล็กๆ ที่จะขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงนี้ได้ “ถ้าเราเริ่มทำมันจะเกิดแรงกระเพื่อมต่อไป มันจะเกิดแรงบันดาลใจมันจะเกิดตัวอย่างให้เราต้องทำต่อ”


เรียบเรียง จิรฐา สมศรี