Go Green Girls คอนเทนต์ครีเอเตอร์รุ่นใหม่ ที่เปลี่ยนเรื่องรอบตัวให้เป็นเรื่อง กรีน ๆ 

Go Green Girls คอนเทนต์ครีเอเตอร์รุ่นใหม่ ที่เปลี่ยนเรื่องรอบตัวให้เป็นเรื่อง กรีน ๆ 

หากจะบอกว่าการอนุรักษ์เป็นเรื่องที่ไกลตัว ไม่รู้จะเริ่มต้นอย่างไร หรือจะทำอะไรดี เราขอพาคุณมารู้จักกับเพจ ‘Go Green Girls’ เพจสายกรีน ที่นำโดย คุณแจม-พีรกานต์ จูฑะพงศ์ธรรม และคุณออม-กนกวรรณ บุณยะสุต สองครีเอเตอร์รุ่นใหม่ที่อยากจะเปลี่ยนแปลงโลกด้วยการเปลี่ยนเรื่องรอบตัวให้เป็นเรื่องกรีน ๆ ที่ทุกคนสามารถทำตามได้ 

แต่เดิมการเข้าถึงเรื่องราวการอนุรักษ์เป็นเรื่องที่ยากพอสมควร ภาพจำของนักอนุรักษ์คือ แบกเป้ เดินป่า หรือทำกิจกรรมรณรงค์ใหญ่ ๆ ด้วยภาพจำที่คนทั่วไปเข้าถึงได้ยาก ทำให้หลายคนมองว่าคนธรรมดาแบบเราคงทำตามไม่ได้แน่ ๆ  สุดท้ายเราก็จะมองข้ามประเด็นเรื่องสิ่งแวดล้อมไป 

ทว่าปัจจุบันโลกอินเตอร์เน็ตได้ทำหน้าที่เป็นตัวเชื่อมเรื่องราวของผู้คนทุกพื้น ทุกสายอาชีพ ให้เข้าหากันง่ายขึ้นผ่านการเลื่อนเพียงครั้งสองครั้งบนหน้าจอ ด้วยเหตุนี้เองอินเตอร์เน็ตจึงทำให้โลกของการอนุรักษ์เข้าถึงผู้คนทั่วไปได้ง่ายมากขึ้น

วันนี้เรามีโอกาสมาพูดคุยกับ Go Green Girls หนึ่งในเพจสายกรีนที่จะเปลี่ยนเรื่องราวการอนุรักษ์ให้กลายเป็นเรื่องใกล้ตัวมากขึ้น โดยที่ทุก ๆ คน ไม่ว่าจะเป็นใคร ทำอาชีพอะไร ก็สามารถสนุกกับการอนุรักษ์ไป เพจ Go Green Girls ได้ เพราะ แค่เปลี่ยนนิดก็กรีนแล้ว 

Go Green Girls เริ่มต้นมาจากไหน 

คุณแจม : ย้อนกลับไปตอนเรียน… ตัวแจมเองเรียนอาร์ต ส่วนออมเรียนนิเทศ ด้วยสายที่เรียนมาทำให้เรามีความสนใจที่จะทำงานหรือต่อยอดด้านการทำคอนเทนต์ ประกอบกับพอได้มาทำงานที่นี่ พี่ ๆ ก็ถามเราทั้งคู่ว่าอยากลองทำคอนเทนต์ของตัวเองมั้ย เราก็โอเค! ตกลงทำคอนเทนต์ เลยกลายเป็นจุดเริ่มต้นในของเพจ Go Green Girls 

แปลว่าก็ต้องสนใจเรื่องสิ่งแวดล้อมอยู่แล้ว เลยมาทำ Go Green Girls 

คุณแจม : จริง ๆ แจมเองก็สนใจเรื่องนี้อยู่แล้ว แต่ก็ไม่ได้ลงรายละเอียดลึกมาก เราก็ทำในสิ่งเล็ก ๆ รอบตัวเรา แบบถ้าไม่รับหลอดได้ ก็จะไม่รับ ไม่รับถุงพลาสติกได้ ก็จะไม่รับ 

คุณออม : ส่วนตอนเรียน ออมเคยประกวดการรณรงค์เรื่องการใช้ถุงพลาสติกมาก่อน ทำให้เรายังมีความอินกับเรื่องนี้อยู่ เราก็จะทำเรื่องเล็ก ๆ ในทุกวันอยู่แล้ว เช่น เวลาไปซื้อของก็จะ ไม่รับหลอด ไม่รับถุง ถ้าได้มาก็จะใช้ให้มันคุ้มค่าที่สุด เราเองก็ไม่ได้ทำอะไรจริงจังขนาดนั้น ทำแค่ที่เราทำไหว และทำได้มากกว่า พอได้มาร่วมโปรเจคนี้ เราก็อยากทำคอนเทนต์ที่เข้าถึงคนได้ง่ายด้วย ไม่ให้รู้สึกว่าเป็นเรื่องไกลตัวมากเกินไป เหมือนกับเพื่อนมาเล่าให้เพื่อนฟัง 

มีความกังวลอะไรบ้าง กับการทำคอนเทนต์นี้

คุณแจม : ด้วยความที่เราไม่ได้ลงลึกอย่างที่บอก ทำให้พวกเราค่อนข้างกังวล เพราะพวกเรามือใหม่มาก ๆ เราก็คิดว่า เราจะมาไกด์ใครได้ยังไง แต่มันก็ดันไปเข้ากับจุดประสงค์เพจพอดี ที่พี่เขาอยากให้มือใหม่มาเริ่มต้นไปด้วยกัน เพราะ target audience คือ คนที่เป็นมือใหม่เหมือนกับเรา ไม่ใช่กูรูหรือนักรณรงค์ คอนเทนต์เลยเป็นลักษณะที่ค่อย ๆ โตไปเรื่อย ๆ พร้อมกับคนดูที่ดูไปด้วยกัน ตัวแจมเองก็ยังไม่ได้เซียนเรื่องสิ่งแวดล้อมอะไรขนาดนั้นด้วย 

คุณออม : ตอนแรกที่กลัวว่ามันจะยาก แต่พอได้เข้ามาทำจริง ๆ ก็ไม่ได้ยากขนาดนั้น แต่มันแค่ต้องค่อย ๆ เปลี่ยนทีละนิด ไปเจออะไรตอนไปถ่ายคอนเทนต์ เราก็ได้ความรู้เพิ่ม และเราก็เปลี่ยนมันทีละนิดตามจุดประสงค์ของเพจ 

แนะนำหน่อยว่าคอนเซปต์และคอนเทนต์ของ Go Green Girls เป็นแบบไหน 

คุณออม : คอนเซปต์หลัก ๆ ของเราจะเป็นแนว Eco Lifestyle อย่างที่บอกไปว่าเราสองคนเป็นมือใหม่มาก ๆ เลยอยากจะเริ่มที่อะไรที่มันอยู่ใกล้ตัวคนมากที่สุด ที่ใคร ๆ ก็สามารถทำได้ 

“การรักษ์โลกมันมีหลายทางหลายอย่างมาก เราไม่จำเป็นต้องเริ่มต้นที่ 1 2 หรือ 3 ทุกคนสามารถเริ่มได้หลายวิธี” 

เราก็อยากทำเพจออกมาให้เป็นทางเลือกนึง ให้ผู้ชมของเราทั้งที่เป็นคนที่รักษ์โลกอยู่แล้วหรือคนที่พึ่งเริ่มต้น เริ่มไปได้พร้อม ๆ กับเรา ทำให้คอนเทนต์หลักของเราก็จะเป็นเรื่องของการแยกขยะ การซื้อของมือสอง การสนับสนุนสินค้า local เป็นต้น 

คุณแจม : อย่างที่ออมว่า Eco Lifestyle ถือเป็นคอนเซปต์หลักของเราเลย เริ่มทำจากสิ่งง่าย ๆ รอบตัว อย่างที่เห็นชัดเจนที่สุด คือ เรื่องของแฟชั่น คนในเจน (generation) แบบแจมและออมก็จะให้ความสนใจเรื่องแฟชั่นเป็นพิเศษ ในเพจเราก็จะบอกเขาว่า “เขามีทางเลือกอีกมากมายนะ ถ้าเราชอบช็อป ชอบซื้อเสื้อผ้า ชอบแต่งตัว ก็จะแนะนำเรื่องของเสื้อมือสอง ที่มันไม่เป็น Fast Fashion ไม่ทำลายธรรมชาติ และเพิ่มความยั่งยืนได้ ทำให้เรามีความสุขและสนุกไปกับการแต่งตัวได้ ก็คือเสนอทางเลือกให้เขาไป ว่าเขาสามารถเปลี่ยนตามพวกเราได้”

พอจะมีตัวอย่างประเด็นอื่นด้วยไหม ที่คิดว่าเป็นเรื่องเล็ก ๆ ใกล้ตัวที่ใครก็เริ่มต้นทำได้

คุณออม : อย่างเรื่องแยกขยะ เราก็ทำเป็นซีรีส์สอนแยกขยะ เริ่มจากของเล็กใกล้ตัวเลย ซีรีส์นี้เป็นคลิปแรก ๆ ที่เราทำ ตอนนั้นมันก็เป็นที่พูดถึงเยอะมาก แล้วก็มีกระแสไม่ดีกลับมาเหมือนกัน ประมาณว่า “ใครเขาจะทำกัน ทิ้งไปก็เทรวมอยู่ดี มีแค่น้องที่ทำเท่านั้นแหละ” 

เราก็มองว่าจริง ๆ แล้วถ้าเราแยกขยะกันไปตั้งแต่แรก เขาก็ไม่ต้องมานั่งแยกที่หลัง เป็นภาระเพิ่มเติม มันก็เป็นประเด็นที่ละเอียดอ่อนนะ หลายคนก็ยังไม่ค่อยเข้าใจว่าเราจะแยกไปทำไม แยกแล้วได้อะไร ช่วยอะไรบ้าง 

“เราก็อยากเป็นตัวกลางที่จะทำให้เรื่องพวกนี้ถูกพูดถึงมากขึ้นด้วย” 

อย่างพลาสติกนี่มีตั้งหลายประเภท แบ่งได้แยกย่อยลงไปอีก เช่น วันนี้เราซื้อชานมมา พอดื่มหมดแล้ว เราก็ทิ้งแก้วทิ้งหลอดไป หลอดถ้ามันอยู่ในถังขยะมันก็เป็นขยะ แต่ถ้าเราแยกมันออกมันก็สามารถนำไปสร้างประโยชน์ต่อได้อีกมากมาย อย่าง การเอาหลอดไปทำหมอนสำหรับผู้ป่วย เป็นต้น หรือขยะหลาย ๆ อย่างถ้าเรารู้จักแยกมันก็เอาทำประโยชน์ให้กับคนที่เขาต้องการต่อได้ ดีกว่าที่จะไปกองเป็นขยะเฉย ๆ 

ตั้งแต่ทำ Go Green Girls มา มีคอนเทนต์ไหนที่ชอบเป็นพิเศษไหม 

คุณแจม : คงเป็นคอนเทนต์ที่ไปทำในชุมชน ซึ่งคนในชุมชนเองก็ตระหนักต่อเรื่องสิ่งแวดล้อม อย่าง ร้านศูนย์บาท ที่เอาขยะมาใช้แทนเป็นเงินสดมาซื้อของในร้านเขาได้ ตัวเราเองเราก็ทึ่งนะเพราะว่าก็ไม่รู้มาก่อนเลยว่ามีคนทำแบบนี้ด้วย 

คุณออม : อีกเรื่องก็เป็น Precious Plastic ที่เราส่งพลาสติกไปให้เขาแปรรูป เราก็พึ่งรู้มาว่า Precious Plastic เขาจะส่งตัวโมเดลเครื่องขึ้นรูปไปให้กับชุมชนที่มาขอ เพื่อสนับสนุนด้านสิ่งแวดล้อม แล้วก็มีการพาคนในชุมชนต่าง ๆ มาเจอกัน มาแลกเปลี่ยนพูดคุยกัน เรามองว่ามันเป็น community ที่ดีและอยากให้มันมีเยอะขึ้นมาก ๆ เพราะเราว่า มันสามารถเอาไปพัฒนาต่อยอดได้อีกเยอะเลย 

จากที่ทำ Go Green Girls มา ทั้งสองคนมองปัญหาสิ่งแวดล้อมในไทยเป็นอย่างไรบ้าง 

คุณออม : ตอนนี้มันก็ค่อนข้างหนักทั้งเรื่องขยะและฝุ่นเลย เรื่องขยะคนก็เริ่มตระหนักมากขึ้น แต่แค่สิ่งแวดล้อมยังไม่เอื้อเท่าไหร่ ถ้ามีจุดทิ้งขยะเยอะขึ้นหรือปลูกฝังเรื่องการคัดแยกขยะมากขึ้น คนก็น่าจะทำได้และเป็นระเบียบมากขึ้น 

คุณแจม : เหมือนกับซีรีส์แยกขยะที่พูดไปก่อนหน้าเลย พอเราลงซีรีส์นี้ไปเรื่อย ๆ ก็ไม่ค่อยมีคอมเมนต์ไม่ดีแล้ว เริ่มเปลี่ยนเป็นคนทักมาถามมากขึ้น ตัวเราเองเราก็ได้ความรู้ใหม่ด้วย เพราะขยะบางอย่างเราก็ไม่เคยรู้มาก่อนว่าต้องจัดการยังไง เราก็ไปหาข้อมูลเพื่อมาตอบเขา เราก็ได้ความรู้ด้วยเหมือนกัน เรียกได้ว่าผลตอบรับคือดีนะ บางทีที่เขาไม่ได้ทำ ไม่ใช่ว่าเขาไม่อยากทำ แต่เพราะเขาไม่รู้มากกว่าว่าจะเริ่มยังไงหรือทำตรงไหนก่อนดี 

เมื่อสักครู่เกริ่นเรื่อง PM 2.5 ประเด็นนี้ล่ะ ว่ายังไงบ้าง 

คุณแจม : อย่างที่เห็น ๆ กันอยู่ เรารู้สึกว่าต้องค่อย ๆ แก้กันไป แก้กันในทุกระดับตั้งแต่ภาครัฐลงมาถึงประชาชน ตัวแจมกับออมขึ้นรถเมล์บ่อย ก็จะหันไปขึ้นรถเมล์ที่เป็นไฟฟ้าแทน ส่วนรถเมล์เก่าควันดำก็น่าจะมีกฎหมายมาควบคุมได้แล้ว บางคันเก่ามาก ๆ ก็ยังวิ่งอยู่ น่าจะเปลี่ยนเรื่องการขนส่งให้มันดีขึ้นได้แล้ว หรือถ้าทำให้การขนส่งดีขึ้นก็ดีมาก เหมือนสิงคโปร์ที่เขาทำให้ทางเท้าหรือการเดินไปไหนมาไหนเป็นเรื่องสะดวกสบาย ซึ่งมันช่วยลดมลพิษจากยานพาหนะได้จริง ๆ 

อีกประเด็นคือเรื่องของโรงงานอุตสาหกรรมที่ปล่อยฝุ่นควัน เราก็ไม่แน่ใจว่ามีกฎหมายคุ้มครองมั้ย แต่ภาครัฐก็น่าจะมีกฎหมายที่มาคุมเข้มเรื่องนี้ได้แล้ว 

ในฐานะ Go Green Girls และคนรุ่นใหม่ เราจะทำอะไรได้บ้างเพื่อจัดการปัญหาที่ว่ามา 

คุณออม : อย่างที่บอก Go Green Girls เราให้ทางเลือกเขา แนะนำเขาว่า ทุกคนสามารถเปลี่ยน lifestyles ให้กรีนได้ เช่น เรื่องการเดินทาง ถ้าเรารู้ว่ารถที่ใช้น้ำมันเชื้อเพลิงนั้นสร้างมลพิษ เราก็ควรหลีกเลี่ยง และเสนอทางเลือกใหม่ ๆ ให้กับผู้ชม อย่างเราสามารถขึ้นรถประจำทางไฟฟ้า หรือเรือไฟฟ้าได้นะ เขาก็สามารถเลือกใช้ได้ แน่นอนว่าถ้ามันมีเยอะขึ้น สะดวกขึ้นก็คงดีขึ้นมาก 

“บางอย่างที่ไม่สะดวกเขา เราก็มีทางเลือกมากมายที่ให้เขาเลือกทำเพื่อโลกได้” 

มาพูดเรื่องสื่อออนไลน์กันบ้าง ทั้งสองคนคิดว่าสื่อออนไลน์มีส่วนมากน้อยแค่ไหนต่อการอนุรักษ์ 

คุณแจม : แจมมองว่ามันมีผลเยอะมากเลย เพราะตั้งแต่มาทำตอนแรก ที่มีคอมเมนต์ไม่ดีเข้ามาบ่อย ๆ ก็เริ่มเปลี่ยนไป เราเริ่มได้รับผลตอบรับที่ดีมากขึ้น คอนเทนต์ที่เราตั้งใจทำหรือตั้งใจเลือกมาเริ่มมีคนเห็นเยอะขึ้น แล้วก็นำไปทำตามกันจริง ๆ 

มีคนทักมาบอกเราด้วยนะ ว่า “เขาชอบเพจนี้มากเลย เขาได้ไปตามรอยที่ที่เพจเราไปมา อย่างที่ไปร้านหนังสือมือสองมา คนก็ไปตามเหมือนกัน” มันก็เป็นการช่วยโลกได้เหมือนกัน 

คุณออม : ตอนนี้สื่อออนไลน์กลายเป็นสื่อหลักไปแล้ว ด้วยความที่เราลงคลิปทุกวัน คนก็เห็นคลิปเราทุกวัน ๆ เราก็เลยอยากทำสื่อที่ย่อยง่าย เข้าใจง่าย ไม่อยากให้มันเครียดจนเกินไป คนก็ทำตามเราได้ง่ายขึ้น 

แสดงว่าสื่อออนไลน์มีอิทธิพลมาก

คุณแจม : ใช่ค่ะ อย่างร้านกระเบื้องที่เคยไปถ่ายมาแถวเจริญกรุง อันนี้ก็ถือเป็น local buisness เหมือนกัน พอเราไปถ่ายรีวิว คนดูเห็นว่ามันสวย คนให้ความสนใจ พอเรากลับไปอีกรอบ คุณยายก็ขอบคุณพวกเรา เพราะมีคนตามไปซื้อมากขึ้นจริง ๆ 

“ของรักษ์โลกต่าง ๆ ทั้ง Recycle หรือ Upcycle คือมันมีคนสนใจอยู่ เราแค่ต้องเอามันออกมาให้คนดูได้เห็น ได้รู้ ว่ามันมี เพราะบางอย่างมันก็อยู่รอบตัวเรา” 

อยากให้ช่วยขายเพจ Go Green Girls หน่อย 

คุณแจม : เหมือนคอนเซปต์ที่บอกว่า อยากให้ลองเปลี่ยนไลฟ์สไตล์ดู ตามแฮ็ชแท็กใต้คลิปทุกคลิปเลยว่า “#เปลี่ยนนิดก็กรีนละ” แค่เปลี่ยนนิดนึง เราก็เป็นทางเลือกให้เขา เขาก็เลือกที่จะเปลี่ยน แน่นอนว่ามันช่วยสิ่งแวดล้อมมากขึ้นได้ 

แล้วถ้าใครอยากลองทำเพจกรีน ๆ บ้าง เริ่มยังไงดี 

คุณแจม : ใครที่อยากลองทำคอนเทนต์กรีน ๆ บ้าง อย่างแรกเลยคือก็ต้องรู้ก่อนว่าอะไรที่มันส่งผลต่อสิ่งแวดล้อมบ้าง เหมือนช่วงนึงที่ประเด็นเรื่อง Fast Fashion มาแรงเลยเนี่ย พอเราทำประเด็นนี้ คนที่ไม่รู้ เขาก็รู้ เขาก็สนใจมากขึ้นจริง ๆ สุดท้าย พอได้เห็นบ่อย ๆ เราก็ซึมซับได้เอง 

คุณออม : ก็อาจเริ่มจากสิ่งเล็ก ๆ ใกล้ตัวก่อน พอเราเห็นมันเรื่อย ๆ เราก็จะอินกับมัน เช่น จากปกติเราซื้อน้ำกิน เราก็เปลี่ยนมาใช้กระบอกน้ำแทน เริ่มเปลี่ยนทีละนิด หรือสนับสนุนสินค้ารักษ์โลกมากขึ้น ร่วมกับการติดตามสื่อรักษ์โลกมากขึ้น จะได้อินไปกับมัน 

ที่สำคัญก็อยากให้ติดตามเพจเราเอาไว้ [facebook.com/gogreengirls.th] เพราะว่า ทุกคนค่อย ๆ เปลี่ยนไปพร้อมกับเรา ตามคอนเซปต์เลย “แค่เปลี่ยนนิดก็กรีนละ”

ผู้เขียน

+ posts

หนุ่มน้อยผู้หลงรักความไม่สมบูรณ์แบบ ออกเดินทางเพื่อเก็บภาพความงดงามของธรรมชาติ และชอบอ่านวรรณกรรมเป็นชีวิตจิตใจ