จะเกิดอะไรขึ้น? หาก ‘ลูกไก่’ คิดว่า ‘แม่เป็ด’ เป็นแม่ที่แท้จริงของมัน

จะเกิดอะไรขึ้น? หาก ‘ลูกไก่’ คิดว่า ‘แม่เป็ด’ เป็นแม่ที่แท้จริงของมัน

คงประหลาดใจไม่ใช่น้อย หาก ‘ลูกไก่’ ต้องมีแม่เป็น ‘เป็ด’ ทว่าเหตุการณ์เหล่านี้เกิดขึ้นได้ หากลูกไก่ที่พึ่งฟักออกมาจากไข่ ตอบสนองต่อสิ่งเร้าหรือวัตถุเคลื่อนไหวอันดับแรกเป็นเป็ด ก็จะทำให้ลูกไก่เกิดพฤติกรรมการเรียนรู้แบบฝังใจของลูกต่อพ่อแม่ และทำให้คิดว่าเป็ดตัวนั้น เป็นแม่ของตัวเองได้

พฤติกรรม (Behavior) หมายถึง การกระทำหรือการแสดงออกของสัตว์ เพื่อตอบสนองต่อสิ่งเร้า หรือสิ่งที่มากระตุ้น (Stimulus) อาจจะเกิดขึ้นทันทีหรือเกิดขึ้นหลังจากที่ถูกกระตุ้นมาแล้วระยะหนึ่ง ซึ่งรูปแบบพฤติกรรมที่สัตว์ตอบสนอง จะมีผลทำให้สัตว์สามารถอยู่รอดต่อไปได้ หรือดำรงชีวิตอย่างเหมาะสมต่อสิ่งแวดล้อมนั้น ๆ 

กลไกการเกิดพฤติกรรมของสัตว์ เกิดจากการทํางานร่วมกันทางสรีรวิทยา โดยเฉพาะระบบประสาท กล้ามเนื้อ และฮอร์โมน จึงทําให้สัตว์สามารถแสดงพฤติกรรมออกมาได้

ปัจจัยที่มีผลต่อพฤติกรรมได้แก่ ยีน (Gene) และสิ่งแวดล้อม 

พฤติกรรมการเรียนรู้แบบฝังใจ (Imprinting) เป็นพฤติกรรมที่ถูกกำหนดมาแล้วโดยยีน จะเกิดขึ้นเฉพาะในช่วงใดช่วงหนึ่งของชีวิต (Critical period) เมื่อผ่านพ้นช่วงนี้แล้วจะไม่มีเกิดขึ้นอีก มีลักษณะเป็น Irreversible learning คือ เกิดขึ้นอย่างถาวร เชื่อแบบไหนก็จะเชื่อแบบนั้นตลอดชีวิต สิ่งเร้าที่กระตุ้นให้เกิดพฤติกรรมการฝังใจเรียกว่า Imprinting stimulus 

จากการศึกษาของ Konrad Lorenz นักชีววิทยาชาวเยอรมันพบว่า ลูกห่านที่ฟักออกจากไข่จะเดินตามแม่ของมันทันที และยังพบว่าหากห่านที่พึ่งฟักออกมาเห็นเขาหรือวัตถุที่สามารถเคลื่อนที่ได้เป็นอันดับแรกภายใน 30 ชั่วโมง ห่านก็จะคิดว่าสิ่งนั้นเป็นแม่ของมัน และจะติดตามสิ่งนั้นไปในธรรมชาติ เราเรียกพฤติกรรมแบบนี้ว่า Filial imprinting หรือ พฤติกรรมการเรียนรู้แบบฝังใจของลูกต่อพ่อแม่

นอกจากนี้ สัตว์ที่มีการสืบพันธุ์แบบอาศัยเพศ ยังมีพฤติกรรมการเรียนรู้แบบฝังใจในเรื่องเพศ หรือ sexual imprinting คือทําให้สัตว์สามารถเลือกคู่ในการสืบพันธุ์ได้อย่างถูกต้อง ซึ่งเป็นพฤติกรรมที่ช่วยในการป้องกันการผสมข้ามชนิดพันธุ์ของสัตว์ในธรรมชาติ

ด้วยเหตุผลนี้ ทำให้สถานีเพาะเลี้ยงและขยายพันธุ์ต่าง ๆ ที่มีการอนุบาลสัตว์ป่าด้วยวิธีการนำไข่มาฟักในตู้ฟักโดยมนุษย์เป็นผู้ดูแล พ่อเลี้ยงแม่เลี้ยงจำเป็น (มนุษย์) ที่ดูแล จะต้องใส่ชุดเลียนแบบว่าเป็นพ่อแม่ของสัตว์ชนิดนั้น ๆ เพื่อป้องกันการเกิดพฤติกรรม imprinting เมื่อฟักออกมาจากไข่ 

ยกตัวอย่างเช่น นกกระเรียนพันธุ์ไทย เจ้าหน้าที่จะใช้หุ่นมือรูปหัวนกกระเรียนป้อนอาหาร โดยไม่ให้ลูกนกเห็นตัวผู้ป้อน เพื่อไม่ให้ลูกนกเกิดพฤติกรรม imprinting คิดว่ามนุษย์เป็นพ่อแม่ เมื่อถึงระยะเวลาที่เหมาะสมก็จะปล่อยคืนสู่ธรรมชาติ สามารถอยู่รอดและปรับตัวกับสิ่งแวดล้อมนั้น ๆ ได้ 

หรือล่าสุด ‘ลูกพญาแร้ง’ ตัวแรกของไทยและเอเชียที่มีการเพาะขยายพันธุ์ที่สวนสัตว์โคราช พ่อเลี้ยงจะต้องใส่ชุดให้เสมือนว่าเป็นพ่อแม่พญาแร้ง โดยสวมถุงมือและปลอกแขนสีแดงแทนหัวและลำคอของพ่อแม่นก และใช้ปากคีบสีดำแทนจงอยปากพ่อแม่นก ให้ใกล้เคียงกับสีพญาแร้งมากที่สุด เพื่อให้ลูกนกจดจำสีว่าลักษณะแบบนี้คือพวกเดียวกัน ป้องกันการเกิดพฤติกรรม Imprinting เพราะถ้าหากลูกนกจำว่าตัวเองเป็นมนุษย์เมื่อไหร่ ในอนาคตอาจจะไม่สามารถขยายพันธุ์หรือจับคู่กับพญาแร้งด้วยกันได้

การอนุบาลสัตว์ป่าเหล่านี้มีเป้าหมายเพื่อการปล่อยคืนสู่ธรรมชาติ จึงต้องทำให้สัตว์เกิดการเรียนรู้ว่าตัวเองยังคงเป็นสัตว์ป่า และเป็นสัตว์ป่าชนิดใด เป็นการส่งเสริมให้สัตว์มีพฤติกรรมของสัตว์ป่าตามธรรมชาติ ไม่เกิดการ Imprinting กับมนุษย์ ให้พวกเขาสามารถดำรงชีวิต จับคู่ ขยายพันธุ์ และสามารถดำรงเผ่าพันธุ์ในป่าธรรมชาติได้อย่างเหมาะสม

อ้างอิง

ผู้เขียน

+ posts

สาวแว่นทาสแมวที่ชอบบอกเล่าเรื่องราวผ่านลายเส้น มีธรรมชาติช่วยฮีลใจ และหลงใหลในพระจันทร์เสี้ยว