หลังความตายของ สืบ นาคะเสถียร ป่าไม้ประเทศไทยจะไปทางไหน ?

หลังความตายของ สืบ นาคะเสถียร ป่าไม้ประเทศไทยจะไปทางไหน ?

สมัยที่หัวหน้า สืบ นาคะเสถียร ใช้ปืนยิงตัวเองตาย ป่าไม้ประเทศไทยมีป่าไม้ลดลงประมาณปีละล้านไร่ ค่อนหนึ่งของพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง เทียบกับสนามฟุตบอลได้สองแสนกว่าสนามฟุตบอล เมื่อลองคำนวณเล่นๆใน 1 ชั่วโมงป่าไม้หายไป 25 สนามฟุตบอลเป็นเช่นนี้มาตลอดจนถึงปี 2549

.
สถิติพื้นที่ป่าไม้ระหว่างปี 2549-2552 ทำให้ผมดีใจอยู่หลายปีว่า พื้นที่ป่าประเทศไทยเพิ่มมากขึ้นถึง 2.52 % ของพื้นที่ประเทศไทยหรือราวๆ แปดล้านไร่ เปรียบให้นึกภาพออกพื้นที่ขนาดนี้ก็อยู่ราวๆ แปดเท่าของกรุงเทพมหานคร หรือ เทียบกับสนามฟุตบอลก็ได้เกือบสองล้านสนาม นั่นก็คือในภาพรวมประเทศไทยเรามีการฟื้นฟูและลดการตัดไม้ลงได้หลังจากที่สถิติบ่งชี้มาว่าป่าไม้ประเทศไทยมีพื้นที่ลดลงมาโดยตลอด

ตอนนั้นไม่น่าเชื่อว่าสถิติพื้นที่ป่าไม้ที่เพิ่มขึ้นชัดเจนถึง 34 จังหวัด จะมีชื่อจังหวัดที่ดูเจริญๆ อย่างภูเก็ต  ลำปาง พังงา อยู่ด้วย แม้แต่จังหวัดอย่างเชียงใหม่ พิษณุโลก ขอนแก่น อุบลราชธานี ชลบุรี สงขลา สุราษฎร์ หรือ ขนาด สมุทรปราการ ยังมีป่าเพิ่ม ส่วนจังหวัดที่ลดลงมี 22 จังหวัด หนักๆ คือ น่าน แพร่ ตาก ประจวบ นครพนม ตราด หลายจังหวัดป่าไม้เท่าเดิม

นั่นทำให้ผมใจชื้นอยู่หลายปี เพราะการสำรวจป่าไม้ทั้งประเทศไทยมิได้มีการทำกันทุกปี สี่ห้าปีจะทำออกมาสักครั้งหนึ่ง ดังนั้น ก่อนที่จะถึงของมูลล่าสุดที่อ้างจากกรมป่าไม้ว่านี่คือป่าที่มีอยู่ในปี 2556 ผมก็นำเสนอข้อมูลที่ว่าเรื่อยมาว่าป่าบ้านเราถึงยุคเพิ่มขึ้นแล้วนะ แต่นั่นเป็นสิ่งที่สร้างความสงสัยให้ใครต่อใครว่าจริงหรือๆ แม้แต่ตัวผู้พูดเอง เนื่องจากว่ามีข่าวการทำลายป่าในรูปแบบต่างๆ อยู่ตลอดมา โดยเฉพาะทางภาคเหนือ ในจังหวัดน่าน หรือการรุกป่าใต้เพื่อเปลี่ยนเป็นปาล์มน้ำมัน มินับเรื่องป่าริมแม่น้ำสาละวินที่แม่ฮ่องสอน และข่าวการรุกป่าโดยรีสอร์ตหรูต่างๆ นานา 

เนื่องจากเมื่อไม่มีสถิติใหม่ให้กล่าวอ้าง เราก็ต้องเชื่อไปพลางๆ ว่าป่าเราเพิ่มแม้จะถูกสั่นคลอนความรู้สึกจากข้อมูลที่ว่ามาตลอด ปีที่แล้วผมลองเอาคดีบุรุกป่าในหลายปีมาเปรียบเทียบดู ก็พบว่ามีคดีการบุกรุกเพิ่มขึ้นมาเป็นช่วงๆ โดยตลอด ถามว่า ทำไมป่าประเทศไทยยังคงถูกทำลาย ผมเคยวิเคราะห์ว่ามาจาก 4 เรื่องหลักๆ

ทุกภาคส่วนยังขาดจิตสำนึกในการรักษาป่าอย่างจริงจัง

ทั้งภาคธุรกิจรัฐชาวบ้าน ลองคิดดูหากอ้างความเชื่อมโยงการค้าขาย กับการตัดถนนเข้าป่าร่นระยะทาง จะเลือกอะไร สร้างเขื่อนในป่า ไม่ต้องเวนคืนที่ชาวบ้าน ได้น้ำแก้แล้งลดท่วม เอาไหม คำตอบก็จะเป็นเรื่องรู้ๆ กันอยู่ หรือกรณีมีคนมาบอกขายที่ป่า ที่ไร่ในป่า ธุรกิจท่องเที่ยวบ้านพัก มีหรือจะตรวจสอบข้อกฎหมายก่อนว่าสถานภาพของพื้นที่คืออะไร ไม่มีเอกสารที่ดินก็ย่อมได้ กล้าๆ ก็อาจจะได้ เหมือนคนอื่นๆ ที่ได้มาก่อน

ปัญหาความยากจน ของชุมชนที่อยู่ในผืนป่า(ประกาศป่าอนุรักษ์ทับที่ชุมชนชุมชนขยายพื้นที่ไม่หยุด) และชุมชนประชิดขอบป่า

เมื่อบวกกับการส่งเสริมการปลูกเชิงเดี่ยวของทั้งนโยบายรัฐ (ยางพารา ปาล์มน้ำมัน) และบริษัทการเกษตรเอกชน (เช่น ข้าวโพด มัน อ้อย ส้ม) มีหรือที่คนจะไม่รับความหวังนี้ ยิ่งมีประกันราคาขายพืชผลเกษตรเหล่านี้ด้วย ไงๆ เสี่ยงรุกป่าเพิ่มพื้นที่ก็เห็นอนาคตกว่าทำอยู่แค่นี้ (ประมาณว่ามีครอบครัวกลางป่าอนุรักษ์จำนวนเกือบล้านครอบครัว มีพื้นที่เกษตรกรรมในป่าอนุรักษ์เกือบสิบล้านไร่)

หน่วยป้องกันรักษาป่าขาดการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพ 

หน่วยป้องกันรักษาป่า เป็นชื่อเรียกหน่วยย่อยสุดของการทำงานรักษาพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติของกรมป่าไม้ ที่มักปล่อยปละละเลยมาตลอด เข้าไปมักไม่ค่อยเจอหัวหน้า ลูกน้องไม่กี่คน ขาดทั้งพาหนะและเชื้อเพลงในการทำงาน งบประมาณน้อย แต่ที่สำคัญคือขาดการกวดขันดูแลแก้ปัญหาจากผู้บริหาร มีชื่อเสียงรู้กันในการรับเคลียร์ เก็บก๊อก บางทีมีข่าวว่า รุกที่ป่าเองบ่อยๆ ขอบเขตป่าสงวนมีแค่ไหน คนนอกมักไม่รู้ พื้นที่ส่วนใหญ่มักถูกรุกเป็นที่ทำกินไปมาก ป่าที่เหลือเป็นภูเขาโดดอยู่กลางไร่ ก็ดูไร้อนาคต แต่กระนั้นเองจากข้อมูลการบุกรุกป่าในช่วงหกเจ็ดปีที่ผ่านมา เกิดในพื้นที่ดูแลของป่าสงวน ของกรมป่าไม้มากกว่าป่ากรมอุทยานถึงสองเท่า

พนักงานพิทักษ์ป่าขาด ขวัญกำลังใจ

เรื่องนี้มุ่งมาที่พนักงานที่ทำหน้าที่เดินลาดตระเวนตรวจตราป่าอนุรักษ์ที่เป็นอุทยานแห่งชาติ และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ที่เป็นป่าที่เหลือส่วนใหญ่ของประเทศ สถานการณ์การบริหารจัดการส่วนใหญ่ยังดีกว่าป่าสงวนมีหัวหน้าอุทยานหรือเขตรักษาพันธุ์ที่มีอำนาจหน้าที่ชัดเจน มีพื้นที่รับผิดชอบที่ประกาศขอบเขตชัดใครก็รู้ มีหน่วยพิทักษ์ป่ากระจายไปทั่วพื้นที่ และที่สำคัญคือมีภารกิจต้องลาดตระเวนตรวจตรา แต่ก็นั่นแหล่ะพนักงานเหล่านี้เป็นเพียงชาวบ้านที่มารับการฝึกอบรมบรรจุเป้นพนักงานหรือลูกจ้าง เมื่อเทียบความรับผิดชอบ และความเสี่ยงอันตรายที่ต้องเดินป่าข้ามเขาลงห้วย เสี่ยงภัยสารพัด ค่าตอบแทนและสวัสดิการ ในตำแหน่งพนักงานราชการนับว่าน้อยนัก มินับว่าอีกหลายคนยังเป็นเพียงลูกจ้างชั่วคราว

สถิติพื้นที่ป่าไม้ระหว่างปี 2552-2556 ทำให้ผมประจักษ์ในข้อสงสัยที่ว่ามา เพราะระหว่างปีที่ผ่านมาพื้นที่ป่าประเทศไทยลดลงถึง 1.87 % ของพื้นที่ประเทศไทย หรือห้าล้านไร่ เปรียบให้นึกภาพออกพื้นที่ขนาดนี้ก็อยู่ราวๆ ห้าเท่าของกรุงเทพมหานคร หรือ เทียบกับสนามฟุตบอลก็ได้ล้านกว่าสนาม คำนวณเล่นอีกครั้งพบว่าป่าหายไปชั่วโมงละ 26 สนามฟุตบอลน่าจะมากกว่าสมัยที่พี่สืบเสียชีวิตด้วยซ้ำไป ไม่น่าเชื่อว่าเราจะย้อนกลับไปทำลายป่าได้ขนาดนี้อีก

เมื่อนำพื้นที่รายจังหวัดมาเปรียบเทียบกับข้อมูลเมื่อช่วงที่ผ่านมายิ่งชัดเจนว่าจังหวัดที่เคยมีสถิติป่าไม้เพิ่มขึ้น เมื่อช่วงการสำรวจครั้งก่อน 34 จังหวัด กลับลดลงเหลือเพียง 9 จังหวัด พื้นที่ป่าไม้ลดลงจาก 22  จังหวัดเพิ่มขึ้นเป็น 43 จังหวัด หนักๆ ก็ยังคงเป็น น่าน ตาก แต่เพิ่ม อุตรดิตถ์ ลำปาง เชียงใหม่ อำนาจเจริญ พังงา ภูเก็ต หลายๆ จังหวัดที่เพิ่มมานี่เคยมีป่าไม้เพิ่มขึ้นมาแล้วด้วยซ้ำ หลายพื้นที่ที่มีสถิติป่าไม้คงที่ก็ยังลดลงในช่วงนี้

ล่าสุดป่าไม้ประเทศไทยยังเหลือมากพอสมควร ประมาณพื้นที่ 1 ใน 3 ของประเทศยังคงเป็นป่า แต่หากในทุกๆ ชั่วโมงป่ายังหายไป 26 สนามฟุตบอลแบบนี้ อีก 100 ปี ป่าจะหมดจากประเทศไทย

แต่คงไม่ต้องรอร้อยปี นะครับ แค่ป่าหายไปมากกว่านี้อีกหน่อย น้ำท่วม น้ำแล้ง การกัดเซาะดินภูเขามาลงแม่น้ำ โคลนไหลท่วมทับชุมชน ก็จะเพิ่มขึ้นรุนแรงจนเดือดร้อนกันทั่วทุกจังหวัดในไม่ช้า 

 


เผยแพร่ครั้งแรก นิตยสารสารคดี 2557 วาระ 24 ปี สืบ นาคะเสถียร

ผู้เขียน

Website | + posts

ประธานมูลนิธิสืบนาคะเสถียร (18 กันยายน 2558 - ปัจจุบัน)