[ก้าวสู่ปีที่ 31] สืบ นาคะเสถียร ในคืนของความตายที่ยังอยู่

[ก้าวสู่ปีที่ 31] สืบ นาคะเสถียร ในคืนของความตายที่ยังอยู่

ผมนั่งมองลุงฟื้นพับเพียบพนมมืออยู่ใกล้รูปถ่ายเก่าๆ ของ “สืบ นาคะเสถียร” ที่มีสายสิญจน์โยงไปยังพระสงฆ์ที่นั่งเรียงตามพิธีสวดครบรอบวันตาย ผมพบแกมาจัดเตรียมสถานที่สำหรับพิธีสงฆ์ ในขณะที่คนอื่นๆ กำลังวุ่นวายอยู่กับกิจกรรมประชุมเสวนาต่างๆ ตั้งแต่เมื่อเย็นวาน 

.
นี่เป็นหน้าที่ที่ผมคุ้นเคยกับเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าเฒ่าผู้นี้มายาวนาน รวมถึงการรับอาราธนาศีล อาราธนาพระปริตร และจัดลำดับงานต่างๆ ในส่วนทำบุญ 

ผมรู้คร่าวๆ ว่าก่อนที่จะมาทำงานที่ห้วยขาแข้ง ลุงฟื้นเคยมีประวัติ ที่โชกโชนไปในทางร้ายๆ สมัยพื้นที่ชนบทแถวอำเภอลาดยาวยังเป็นบ้านป่าเมืองโจร แต่ไม่รู้ว่าอะไรที่ทำให้แกจงรักภักดีกับหัวหน้าสืบของแกมากมาย และไม่รู้ด้วยว่าอะไรทำให้เสือร้ายอย่างแกฟื้นมาเป็นชายแก่ธรรมะธัมโมมาถึงทุกวันนี้ 

เวลาเจอกันผมจะได้ยินคติธรรม และการสรุปเล่าเหตุการณ์ ความเป็นมาเป็นไปในการทำงานในป่าห้วยขาแข้ง หน่วยงานราชการที่ดูแล แน่นอนว่าด้วยความที่ยังไม่ใช่ระดับโลกุตรธรรมบรรลุ ลุงฟื้นก็มีชมบ้าง บ่นบ้างเป็นทัศนะส่วนตัวของแกไป แต่ทั้งหมดล้วนเปี่ยมด้วยความรัก จริงใจ กับป่า และภารกิจที่สืบทอดเจตนาของหัวหน้าที่แกรักตามสภาวะหน้าที่ที่แกพอทำได้ พอแกอายุมากพ้นจากการไปเฝ้าป่าตามหน่วยต่างๆ ก็มาช่วยงานวิจัยบ้าง ถากถางหญ้าบ้าง รวมถึงเป็นเจ้าพิธีในวันทำบุญหัวหน้าสืบของแก 

“หลังผมเกษียณ ผมก็จะมาช่วยทำบุญทุกปี” แกประกาศความตั้งใจของแกในอนาคตอันใกล้และผมมั่นใจว่าแกคงจะทำอย่างนี้ไปจนกระทั่งแกตายตามหัวหน้าของแกไป 

คืนวันที่ 31 สิงหาคม เป็นคืนก่อนวันทำบุญที่ลุงฟื้นเป็นเจ้าพิธีที่ว่าผมกับผู้คนจำนวนกว่า 300 คนเดินผ่านความมืดบนทางปูนที่ทำลวดลายคล้ายกลีบดอกไม้ เดินจากอาคารหลังใหญ่ที่ซ่อนตัวอยู่ในเนินดิน ที่มองจากภายนอกก็จะเห็นเป็นเนินเขาย่อมๆ ตะคุ่มอยู่ในเงามืด แม้แต่แสงไฟฟ้าจากเครื่องกำเนิดไฟฟ้าขนาดเล็กก็แทบไม่เล็ดลอดออกมา 

แสงจากตะเกียงกระป๋อง น้ำมันที่ปักบนไม้ไผ่เรียงรายพาขบวนคนที่ไม่ได้นัดหมายให้มาพบกันในคืนนี้ เดินเลี้ยวผ่านรูปปั้น สืบ นาคะเสถียร ที่ยืนมองป่าห้วยขาแข้งในความมืดสลัว ของคืนฟ้าหลังฝน ผ่านพื้นดินที่แฉะฝนเข้าไปในเต็นท์ผ้าใบที่ตั้งไว้รอช่วงเวลา ที่กำหนดเป็นช่วงเวลาจุดเทียนรำลึก 22 ปี สืบ นาคะเสถียร 

จากรูปปั้นของ สืบ นาคะเสถียร มีทางลาดลงไปยังบ้านพักป่าไม้เก่าแก่ไม่ทราบอายุที่กว่า 22 ปีไปสักเท่าใด แต่บันไดปูน 8 ขั้น ที่บอกเล่าว่า เป็นสัญลักษณ์แทนเวลาเพียง 8 เดือนที่ใช้สรุปตำนานชีวิตของข้าราชการหนุ่ม ที่อาสามาทำหน้าที่รักษาป่าใหญ่ในฉากนิยายเพชรพระอุมาทอดเรื่องในห้วงคำนึงของแต่ละคนในเต็นท์ไปยาวไกล แล้วแต่ความสัมพันธ์ครั้งหลังที่เป็น เพื่อนพ้อง ลูกน้องเก่า แต่ส่วนใหญ่มีความสัมพันธ์เป็นคนที่รับรู้เรื่องราวที่ขจรไกลไปโดยไม่เคยรู้จักเป็นส่วนตัวต่างๆ กัน 

ลวดลายรูปกลีบดอกไม้ที่รองรับ การเดินทางอันหมายความว่า งานอนุรักษ์หลังจากชีวิตสืบจะต้องเสมือน โรยด้วยกลีบดอกไม้จะปรากฎจริงในความคำนึ่งของการทำงานอนุรักษ์ของใครหรือไม่ ผมก็ไม่ทราบได้ แต่ที่แน่ๆ คือการขับเคลื่อนหัวใจของหลายคน ที่ยอมรับการทำงานปกป้องป่าย่อมมีแรงบันดาลใจ ขับเคลื่อนจากความตายของชายผู้นี้ในความมืดมิด 

เสียงจากลำโพงที่ซ่อนอยู่ที่บ้านพักหลังเก่าเปิดเรื่อง ขึ้นว่า “ผมมีเจตนาที่จะฆ่าตัวเอง โดยไม่มีผู้ใดเกี่ยวข้องในกรณีนี้ทั้งสิ้น” ต่อด้วยเสียงปืนที่จำลองเรื่องเล่าจากราวไพร 

ปัง!!! 

เสียงบรรยายของพิธีบอกเรื่องราวเบื้องหน้าผืนป่า และสายน้ำ พร้อมกับแสงไฟค่อยๆ เปิดไล่ส่องบ้านพัก และเรียงไปฉายยังป่าห้วยขาแข้งพร้อมเรื่องราวที่บอกเล่าเวลา 8 เดือนที่กลายเป็นบทสรุปของตำนานไปกับแสงไฟที่ค่อยๆ เรียงร้อยความทรงจำของเรื่องราวไปตามบันไดทั้ง 8 ขั้นที่ทอดไปสู่รูปปั้นที่ตั้งอยู่ที่เนิน 

เหมือนสัญลักษณ์ของความตายที่ยังอยู่ 

“จะไม่มีใครต้องตายในเขตห้วยขาแข้ง ถ้ามีก็ต้องเป็นผม” 

เสียงและแสงที่ทีมงานมูลนิธิสืบนาคะเสถียรวาดภาพบันทึกคำไปพร้อมกับซาวนด์เอฟเฟกต์ เสียงป่าธรรมชาติ หลังจากที่แสงเทียนหลายร้อยดวงถูกจุดขึ้นเรียงรายรอบฐานวงกลม ที่รูปปั้นในคืนนั้น ผมพักผ่อนนอนหลับไปในเปลใต้อาคารหลังหนึ่งใกล้สายฝน ที่โปรยเพียงฝอยเล็กๆ เป็นช่วงๆ ในระหว่างที่ทบทวนชีวิตและความตายของสืบ กับเหตุการณ์ที่ผ่านมาหลังจากนั้น

ตอนเช้าผมตื่นมาพบลุงฟื้น 

พี่สืบตายไปนานแล้วแต่ลุงฟื้นยังทำงานอยู่ ชื่อของสืบ ชื่อของฟื้น และความตายที่หยุดวันวัยของชายหนุ่มอย่าง “สืบ นาคะเสถียร” ชีวิตที่ฟื้นใหม่ของนายฟื้นที่ทำงานต่อจนเฒ่า และเดินไปสู่ ความตายที่มีความหมายของแก

 


บทความเผยแพร่ครั้งแรกในนิตยสาร ฅ.คน ฉบับ 82 | กันยายน 2555

ผู้เขียน

Website | + posts

ประธานมูลนิธิสืบนาคะเสถียร (18 กันยายน 2558 - ปัจจุบัน)