ความหมายแห่งสัตว์ป่าของฤๅษีที่ม่องค๊วะ ตอนที่ 1 แนวรบฤๅษีที่ม่องค๊วะ

ความหมายแห่งสัตว์ป่าของฤๅษีที่ม่องค๊วะ ตอนที่ 1 แนวรบฤๅษีที่ม่องค๊วะ

แดดสายปลายฝนกำลังสาดทั่วทุ่งรวงข้าวที่นาลุงจ้าเหย่ หรือ ชื่อที่สหายปฏิวัติเขตงานตากคุ้นเคยเมื่อสามสิบปีที่แล้วว่าสหายสมหมายบนสีข้าวกำลังสุกเหลือง ผมเห็นชาวบ้านม่องคว๊ะแต่งชุดปากะญอสีแดงสด เดินสวนกันไปมาตามคันนา เด็กสาวหลายคนแต่งชุดเชวา (ชุดขาวแสดงสัญลักษณ์หญิงปากะญอที่ยังไม่แต่งงาน) หน้าตาสดใสเดินปะปนอยู่กับผู้ใหญ่ ทำให้ท้องทุ่งกลางหุบเขาวันนั้นเต็มไปด้วยสีสันงดงามยิ่งนัก

อดีตสหายปฏิวัติ ผู้หนักแน่นดุจภูผาม่องค๊วะอันเป็นสัญลักษณ์ตั้งตระหง่านท้ากาลเวลาอยู่กลางอาณาเขตชุมชน  บอกให้ผมเดินตัดนาที่ว่าไปกินข้าวที่ริมน้ำหลังแนวพุ่มไม้ เสร็จแล้วให้ไปเจอกันที่เรือนไม้ไผ่หลังใหม่บนเนินสูง ที่ที่ลุงนัดหมายพวกเรามาเพื่อจัดงานอะไรสักอย่างให้กับการทำงานอนุรักษ์ร่วมกันมา 

ลุงพินิจ ลุงพอหม่อลา และผู้นำทางวัฒนธรรมกระเหรี่ยงฤาษีอีกหลายคน นั่งรวมกันบนยกพื้นบนเรือนไม้ไผ่หลังใหม่ มีชาวบ้านคนอื่นๆ นั่งอยู่ทุกพื้นที่บนเรือนนั้นจนเต็มแน่น ที่ด้านล่างมีชาวบ้านและหนุ่มสาวอีกหลายคนนั่งสมทบอยู่ที่ลานดินรอบๆ  

เมื่อผมขึ้นไปถึงลุงจ้าเหย่ก็เรียกให้ผมไปนั่งรวมกับเหล่าแกนนำบนยกพื้น มีตือ  ยุทธชัย บุตรแก้วตู่ตะวันฉาย หงส์วิไล เจ้าหน้าที่ภาคสนามของมูลนิธิสืบนาคะเสถียร ตือเป็นหัวหน้างานในพื้นที่นี้ ส่วนตู่ เป็นเจ้าหน้าที่ภาคสนามที่มีอาวุโสสูงสุดของมูลนิธิสืบฯ ทำงานในพื้นที่ต่อเนื่องกับตือ ทั้งสองคนได้รับชวนให้ขึ้นไปนั่งรวมกับแกนนำผู้อาวุโสทั้งหลายอยู่ด้วย ผมพบหัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอุ้มผางมงคล คำสุขข้าราชการหนุ่มพื้นเพจากภาคอีสานที่ถูกส่งมาดูแลพื้นที่ทับซ้อนระหว่างเขตอนุรักษ์และชุมชนสามสิบชุมชน ในเขตที่เคยมีปัญหาขัดแย้งระหว่างวิถีชีวิตและกฎหมายอนุรักษ์สัตว์ป่ามาเนิ่นนาน จนกระทั่งดูเหมือนว่าจะมีทางออกคลี่คลายไปหลังจากมูลนิธิสืบนาคะเสถียรนำโครงการจอมป่า หรือ การจัดการพื้นที่อนุรักษ์อย่างมีส่วนร่วมมาดำเนินกระบวนการคลี่คลายความขัดแย้งในชุมชนในช่วงเจ็ดปีที่ผ่านมา

ลุงจ้าเหย่ บอกตือ ให้ชวนผมมาที่นี่โดยไม่ได้บอกรายละเอียดงานว่าจะมีกำหนดการอย่างไรบ้าง แต่ความที่ทำงานร่วมกันมายาวนาน ทำให้ผมไม่ปฏิเสธคำชวนของอดีตนักรบปฏิวัติ ที่ปัจจุบันเป็นปราชญ์เฒ่าประจำถิ่นผู้นี้

ในการเดินทางไกลร่วมพันกิโลเมตรตั้งแต่เมื่อวาน แต่การจัดการที่ดูเป็นทางการกว่าทุกครั้งที่เจอกันทำให้ผมรู้สึกลึกลับกับบรรยากาศรอบตัวอยู่พอควร แต่ก็เดาได้ว่าวันนี้ลุงแกคงมีเรื่องที่จะสื่อสารเล่าแถลงเรื่องสำคัญอะไรแน่นอน

เมื่อก่อนเรารู้จัก สืบ นาคะเสถียรสืบ นาคะเสถียร เป็นนักอนุรักษ์ เคยทำงานรักษาป่าลุงสมหมายเริ่มพูดให้ผู้คนที่มาประชุมฟังและเชื่อมโยงคนไปสู่พื้นที่ป่าอุ้มผางรอบหมู่บ้านม่องคั๊วะที่ไกลโพ้นจากการเดินทางเกือบพันกิโลเมตรจากกรุงเทพฯ ที่จริงแล้วก็เป็นผืนป่าเดียวกับป่าห้วยขาแข้งและทุ่งใหญ่ แน่นอนว่าในอดีตหัวหน้าสืบในสมัยโน้นย่อมเดินทางมาสำรวจถึงที่นี่ด้วย 

เราอยู่ที่นี่กันมา นับถือฤๅษีกัน คำสอนของเราก็คือให้รักษาป่า เหมือนๆ กับสืบ นาคะเสถียร เดี๋ยวนี้ไม่มีสืบแล้ว แต่ก็มีเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอุ้มผางมารักษาป่าต่อจากสืบ มีมูลนิธิสืบมาทำงานกับเรา ก็มาให้รักษาป่า ดังนั้น ทุกๆ อย่างเหมือนกัน รักษาป่าเหมือนกัน ตอนนี้บ้านเรายังไม่มีการปลูกพืชเชิงเดี่ยว ใช้สารเคมีมากๆ อย่างข้าวโพด เหมือนหมู่บ้านข้างนอก เราอยู่บนต้นน้ำแม่กลอง น้ำแม่กลองก็ไหลไปสู่ทะเล เรากับทะเลก็เชื่อมโยงต่อกัน ถ้าพื้นที่เราเดือดร้อนป่าหมด คนข้างล่างก็กระทบด้วย เราตั้งกลุ่มต้นทะเลมาเพื่อบอกว่าเรากับทะเลก็เหมือนกัน ต้องอยู่ด้วยกันลุงจ้าเหย่ เคยไปเห็นทะเลมาแล้วในโครงการที่พวกเราพาไปแลกเปลี่ยนกับหมู่บ้านที่ต้นน้ำพะโต๊ะ ในพื้นที่อนุรักษ์บนเส้นทางจากภูผาถึงทะเลที่ชุมพร เมื่อกลับมาลุงก็ได้จัดตั้งกลุ่มต้นทะเล เพื่อทำกิจกรรมอนุรักษ์ป่าแบบของลุง

ก่อนหน้านี้เราไม่เข้าใจกับพวกป่าไม้ บอกมาอนุรักษ์ป่า มาจับเราหาว่าเราทำลายป่า แต่มาหลังๆ มีหัวหน้าเขตหลายคนมาใหม่ เริ่มเข้าใจพวกเรามากขึ้น เข้าใจการทำนา การทำไร่หมุนเวียนของเรา มีกติกาแนวเขตร่วมกัน ทำงานด้วยกันได้ มีคณะกรรมการที่ร่วมกันรักษาป่า มูลนิธิ (สืบฯ) ก็มาประสานงาน ตอนหลังๆ นี้ก็เรียกว่าดีขึ้นมาก อยู่ร่วมกันได้ เมื่อก่อนป่าไม้ถือกุญแจดอกเดียว ตอนนี้มีกุญแจสองดอกถือร่วมกันชาวบ้านกับป่าไม้ มีอะไรมาคุยกัน อยู่กันได้แล้วลุงก็เริ่มกล่าวถึงปัญหาใหม่ที่แก้ไขไม่ได้ 

แต่การทำข้าวโพด เป็นการทำลายต้นน้ำ เราเห็นหมู่บ้านอื่นเขาทำกันมา ใช้สารเคมีกันมาก ถางป่ามาก ตอนนี้ชาวบ้านที่นี่ตั้งแต่หมู่บ้านกุยเลอตอ ต่อลงมาอีก 6 บ้าน (กุยต๊ะ กุยเคล๊อะ พอกระทะ มอทะ และม่องค๊วะ) ในป่าลึกก็อยากปลูกข้าวโพด คนที่นับถือฤๅษีก็ผิดข้อห้ามทำลายป่า ทำลายต้นน้ำ ก็มาว่าพวกเรา มาถามพวกเราว่าปลูกได้ไหม เราก็เบื่อ เราก็เหนื่อยแล้ว เราคิดว่า ใครจะปลูก เราก็ไม่ว่าเขาแล้ว แต่เราจะไม่ปลูก และเราก็มารวมกันได้หลายคน ประกาศตัวกันว่า จะมีคนที่ไม่ปลูกข้าวโพด ทำตามที่ปูย่าตายายบอกมาไม่ให้ทำลายต้นน้ำ ส่วนใครจะปลูกเราก็จะไม่ว่าเขา แต่เราจะทำเป็นตัวอย่างว่าเราไม่ปลูกข้าวโพด เราก็อยู่ได้ แบบที่ปู่ย่าตายาย อยู่มา 

ลุงจ้าเหย่ประกาศเสียงดังฟังชัด แต่เราจับน้ำเสียงได้ว่าผู้นำทางความคิดผู้นี้กำลังทำสงครามทั้งภายนอกและภายในอย่างเหนื่อยล้า ดูเหมือนว่าจะเป็นสงครามที่หนักกว่าการจับอาวุธสู้รบกับรัฐบาลร่วมกับสหายนักศึกษาในเมืองเมื่อหลายสิบปีก่อนด้วยซ้ำ

ผมสำรวจแววตาของคนเฒ่ารอบตัวผม ทุกคนประกาศตัวว่าเป็นกลุ่มต้นทะเล เป็นการจัดตั้งครั้งใหม่ ที่ไม่เกี่ยวกับการปฏิวัติทางการเมือง การสงคราม แต่เป็นการรักษาความเชื่อของพวกเขาที่บังเอิญสอดคล้องกับงานอนุรักษ์ที่เราทำอยู่ ดูเหมือนว่าพืชเศรษฐกิจที่ไม่มีประเด็นรุนแรงอะไรในทุ่งภูเขา นอกป่าจะนำความขัดแย้งที่ลึกลงถึงวิถีวัฒนธรรม ที่คนรุ่นนี้ยังนับถือเทียบได้กับการปฏิบัติศีลธรรมทางศาสนาทีเดียว พลันนั้นผมเข้าใจลายมือภาษาไทยโย้เย้ที่เขียนไว้บนแผ่นไม้ที่บนประตูทางเข้าเรือนว่า 

 เราไม่พูดให้คนอื่นเจ็บ เราทำเท่าที่ทำได้ แต่ละคนแต่ละความคิดเห็น

ในบริเวณที่นา ลุงเขียนไม้ไว้เตือนคนอีกหลายแผ่น 

หลงความมืด ต้องได้ความจน พอดีอยู่ได้นาน ไม่พออายุสั้น รักน้ำ รักป่า รักสัตว์ เท่ากับรักษาชีวิตตนเอง

กินด้วยเหงือกตัวเอง คนจนไม่กลัวคนรวย น้ำขึ้น ป่าหมด เศรษฐีดีใจ

บางเกินทะลุ เก่งเกินอยู่ไม่ได้ ผืนดินนี้ไม่มีใครปั้นได้ อยู่แล้วใครอย่าคิดทำลาย หลงเงินต้องกลายเป็นลูกจ้าง

ผมคิดถึงชีวิตในเมืองของเราเอง ที่ปรากฏอยู่ในความหมายของแผ่นไม้กลางป่า ไม่รู้ว่าในสงครามครั้งใหญ่กับไร่ข้าวโพดที่รุกมายังแนวรบศรัทธาฤๅษีของสหายเฒ่า ยังจะมีใครแพ้ชนะกันต่อไปได้แค่ไหน ในความหมายที่แท้จริง

 


ผู้เขียน

Website | + posts

ประธานมูลนิธิสืบนาคะเสถียร (18 กันยายน 2558 - ปัจจุบัน)