‘เอกรัตน์ ปัญญะธารา’ ผู้ใช้ภาพถ่ายเป็นตัวเชื่อมโยงเรื่องราวการอนุรักษ์  

‘เอกรัตน์ ปัญญะธารา’ ผู้ใช้ภาพถ่ายเป็นตัวเชื่อมโยงเรื่องราวการอนุรักษ์  

จากความทรงจำ นำไปสู่จุดเริ่มต้นในการถ่ายภาพของ เอกรัตน์ ปัญญะธารา ผู้ใช้ “ภาพถ่าย” เป็นเครื่องมือบันทึกอดีต เพื่อส่งต่อเรื่องราวต่าง ๆ ให้คนในปัจจุบันได้รับรู้ 

เราจะรู้จักคุณเอกรัตน์กันดีในฐานะช่างภาพและบรรณาธิการภาพของนิตยาสาร National Geographic Thailand ผู้อยู่เบื้องหลังภาพถ่ายหลาย ๆ ภาพในนิตยาสาร โดยคุณเอกรัตน์มักจะนำภาพถ่าย landscape และ ผู้คนรอบตัว มาใช้ในการเล่าเรื่องอยู่เสมอ  

คุณเอกรัตน์ได้ใช้พลังของภาพถ่ายในการส่งต่อทุกเรื่องราวที่เกิดขึ้นให้คนอื่น ๆ ได้รับรู้ หนึ่งในนั้นคือ เรื่องราวการอนุรักษ์ ซึ่งเป็นอีกสิ่งที่แฝงอยู่ภายใต้รูปถ่ายหลาย ๆ รูปของเขา เขาได้ใช้ภาพถ่ายของเขาในการบอกเล่าแนวคิดด้านการอนุรักษ์สู่คนอื่น ๆ ต่อไปนี้เป็นเรื่องราวหลังเลนส์ของคุณเอกรัตน์ที่อยากชวนให้ทุกคนไปรู้จักกัน

จุดเริ่มต้นการถ่ายภาพของคุณเริ่มจากอะไร  

เราคุ้นเคยกับการถ่ายภาพจากการไปเที่ยวของครอบครัว โดยในแต่ละปีครอบครัวก็จะไปเที่ยวด้วยกันครั้งนึง แต่ด้วยที่บ้านทำโรงน้ำแข็ง ทำให้การไปเที่ยวไกล ๆ แต่ละครั้งนั้นไม่สามารถไปได้นาน ดังนั้นการไปเที่ยวครั้งนึงคือต้องมีการถ่ายรูปเอาไว้เพื่อเก็บเอาไว้เป็นความทรงจำและมีคุณค่า จากความคุ้นชินกับกล้องถ่ายตอนนั้นจึงทำให้เราสนใจกับการถ่ายภาพมากขึ้น และเลือกมาเรียนถ่ายรูปในที่สุด 

จากความทรงจำของคุณนำมาสู่การทำงานใน National Geographic Thailand ได้อย่างไร

ตัวเราเองไม่ได้ชอบการจัดฉากอะไรมากมาย เราจึงสนใจและเลือกที่จะเรียนถ่ายภาพ landscape เวลาทำงานส่งงานอาจารย์ก็เลือกที่จะเดินทางออกไปต่างจังหวัด ด้วยความที่เราต้องเดินทางบ่อยเลยทำให้เราต้องสืบค้นข้อมูล ซึ่งในสมัยนั้นข้อมูลต่าง ๆ ก็มักจะมาจากนิตยาสาร เราเลยได้อ่านนิตยสาร National Geographic และได้เห็น “ภาพช่างภาพกำลังถ่ายภาพภูเขาไฟที่กำลังระเบิดโดยที่ตัวเข้ายังอยู่บนรถที่กำลังวิ่งอยู่” เรามองว่ามันเท่มาก ๆ แล้วจะเป็นยังไงถ้าเราได้ทำอะไรแบบนี้ และอีกเหตุผลหนึ่งทำให้เราอยากเข้ามาทำงานที่นี้คือ ภาพถ่ายคนของที่นี้ทำให้เรารู้สึกว่าพวกเขามีชีวิตจริง ๆ ไม่ได้เป็นเพียงภาพนิ่ง ๆ 

นั่นจึงเป็นจุดเริ่มต้นในการอยากเข้าไปทำงานใน National Geographic ท้ายที่สุดเราเอางานธีสิสของเราไปเสนอกับ National Geographic Thailand แล้วทางนั้นเขาก็ชอบและซื้อ จากงานชิ้นแรก ก็มีต่อมาเรื่อย ๆ 

ต้องบอกตรง ๆ ว่า National Geographic นั้นค่อนข้างกว้างมาก ไม่ได้จำกัดหรือนิยามว่าภาพที่จะอยู่ในนี้ต้องเป็นแนวนี้เท่านั้น ซึ่งภาพต่าง ๆ ที่ปรากฏใน National Geographic ล้วนเป็นภาพสะท้อนโลกใบนี้ของเราออกมาให้ผู้คนทั่วไปได้เห็นมัน 

คุณมีมุมมองหรือความคิดเห็นอย่างไรต่อด้านอนุรักษ์และสิ่งแวดล้อม 

เรามองว่าวงการสิ่งแวดล้อมในประเทศไทยยังมีการขีดเส้นแบ่งกันชัดเจน ตัวอย่างเช่น ถ้าคุณขีดเส้นว่าเป็นนักอนุรักษ์ทำเพื่อสิ่งแวดล้อม แล้วคนอื่น ๆ ที่อยากจะอนุรักษ์บ้าง แต่ด้วยเหตุผลบางอย่างทำให้ไม่สามารถเป็นนักอนุรักษ์ได้ ก็ไม่สามารถทำอะไรแบบที่นักอนุรักษ์ทำได้หรือเปล่า เราเลยมองว่าถ้ามีเครื่องมือที่สามารถเชื่อมให้คนทั่วไปและนักอนุรักษ์มันจะดีกว่า และทำให้คนอื่น ๆ เข้าถึงการอนุรักษ์ได้มากขึ้นด้วย 

ทุกวันนี้เรามีหน่วยงานที่ทำงานด้านอนุรักษ์มากมายอยู่แล้ว แต่เราอยากให้หน่วยงานเหล่านี้เห็นความสำคัญของตัวเชื่อมด้วยหรือเครื่องมือที่จะนำมาใช้เชื่อ ซึ่งบางทีองค์กรที่ไม่ได้จัดตั้งมาเพื่อมุ่งทำงานอนุรักษ์เพียงอย่างเดียว แต่ก็อยากทำงานอนุรักษ์เช่นเดียวกัน เราคิดว่าถ้ามันเชื่อมกันได้ก็จะดีกว่า เข้าถึงผู้คนได้ง่ายขึ้น เข้าใจง่ายขึ้นด้วย

คุณคิดว่าภาพถ่ายมีความสำคัญอย่างไรกับการบอกเล่าเรื่องราวต่าง ๆ 

จากการทำงานกับ National Geographic ทำให้เราได้มองเห็นโลกกว้างขึ้น เราเลยมองว่าภาพถ่ายเป็นเครื่องมือที่ดีในการเล่าเรื่องและเป็นตัวเชื่อมโยงเรื่องราวให้ผู้ชมสนใจและรับรู้มัน 

สิ่งสำคัญของภาพถ่าย คือ การนำภาพมาใช้ จะใช้ภาพออกมาในลักษณะไหน จะเล่าเรื่องออกมาอย่างไร ซึ่งบ้างภาพก็เหมาะแก่การเล่าตรง ๆ บางภาพก็เหมาะแก่การเล่าอ้อม ๆ เรื่องราวของภาพจะมีพลังมากน้อยแค่ไหนก็ตามขึ้นอยู่กับเรานำเสนอมันออกมาอย่างไร  

อยากให้คุณยกตัวอย่างการเล่าเรื่องผ่านภาพถ่ายของคุณมาหน่อย 

ถ้าให้เรายกตัวอย่างก็คงต้องเป็นเรื่องที่เราได้มาทำให้มูลนิธิสืบนาคะเสถียร ในช่วงครบรอบ 30 ปี คุณสืบ นาคะเสถียร เราได้รับมอบหมายให้ทำสารคดีเกี่ยวกับคุณสืบ ความยากของงานนี้คือ สารคดีนี้ถูกทำซ้ำมาแล้วกว่า 30 ปี เราจะเล่าอะไรได้บ้างที่ไม่ซ้ำกับที่ผ่านมา เพราะเรามองว่าถ้ายังทำอะไรเหมือนเดิม ผลิตสื่อออกมาในรูปแบบเดิม คนดูก็คงคิดว่าทำไมเราต้องดูมันอีก

เดิมทีสารคดีจะนำเสนอภาพของผู้พิทักษ์ป่าตอนฝึกหรือตอนปฏิบัติหน้าที่ที่เต็มไปด้วยเหงื่อไคลและต้องดูหนักแน่น พอเรามองว่ามันเป็นอะไรเดิม ๆ เราเลยลองเปลี่ยนวิธีถ่ายและกล้องที่ใช้ถ่ายดู เรามีความคิดเวลาเริ่มทำงานอะไรใหม่ ๆ หรืองานที่มีความเสี่ยงมาก ๆ เรามักจะลดความเป็นมืออาชีพลง เช่น การเปลี่ยนกล้องที่ใช้ถ่าย จากเดิมที่เราใช้กล้อง medium format ที่ทั้งใหญ่และหนัก ซึ่งมันไม่เหมาะกับการวิ่งไปถ่ายเจ้าหน้าที่แน่นอน แต่มันกลับให้มุมมองกับเราอีกแบบหนึ่ง เราไม่จำเป็นต้องนำเสนอภาความหนักแน่นเพียงเท่านั้น เราอาจนำเสนอความนิ่งสงบออกมาก็ได้ อย่างการนำเสนอภาพของเจ้าหน้าที่รุ่นใหม่ ๆ ภายใต้แนวคิดที่ว่า คุณสืบเองก็เสียชีวิตไปตั้งนานแล้ว แต่ทำไมคนเหล่านี้ถึงยังคงทำงานสืบสานเจตนารมณ์ของคุณสืบอยู่ เราจึงได้นำเสนอมุมมองที่แตกต่างเหล่านี้ออกมา เพื่อนำเสนอให้เห็นถึงเจตนารมณ์ของการอนุรักษ์ที่ส่งต่อมาสู่คนรุ่นใหม่

อีกภาพนึงที่เราใช้โดรนถ่ายคือภาพเขื่อนรัชประภา นี่ก็เป็นอีกภาพที่เราถ่ายในวันครบรอบ 30 ปี เราใช้ภาพนี้เป็นตัวแทนในการสื่อสารเรื่องของเขื่อนและคุณสืบ อย่างที่ทราบกันว่าเขื่อนรัชประภานั้นไม่ได้มีแค่ความสวยงาม แต่ยังมีเรื่องราวมากมายเกิดขึ้นที่นี้ เราเลยเลือกถ่ายภาพจากมุมสูงในช่วงที่น้ำในเขื่อนลดลงจนเห็นพื้นดิน ให้ความรู้สึกเหมือนเป็นเกาะกลางทะเล เราต้องการจะสื่อให้เห็นถึงน้ำที่เข้ามาตัดเส้นทางการเดินทางและแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่ามากมาย มันคือเบื้องหลังของเขื่อนแห่งนี้

รำลึก 30 ปี สืบ นาคะเสถียร / เอกรัตน์ ปัญญะธารา
รำลึก 30 ปี สืบ นาคะเสถียร / เอกรัตน์ ปัญญะธารา

คิดว่าอะไรคือจุดเริ่มต้นสำคัญของการทำงานอนุรักษ์ 

ถ้าคุณจะทำงานอนุรักษ์ คุณก็ต้องศึกษางานอนุรักษ์ก่อน และเมื่อคุณมีความรู้พื้นฐานแล้ว สิ่งสำคัญอีกเรื่องคือเราจะใช้ความรู้นั้นยังไง อย่างคนทั่วไปอาจมองว่า ช่างภาพสายอนุรักษ์สิ่งที่ต้องรู้คือข้อมูลการอนุรักษ์และเทคนิคการถ่ายภาพ แต่สำหรับเรา เรามองว่าถ้าเอาทั้งสองอย่างนี้มารวมกันคุณจะใช้มันยังไง ตัวอย่างเช่น ถ้าคุณต้องการจะเล่าเรื่องการอนุรักษ์ให้คนที่ไม่สนใจงานอนุรักษ์ฟัง เราก็คงไม่สามารถจะนำชุดข้อมูลเรื่องโลกร้อน เรื่องสิ่งแวดล้อมไปให้เขาอย่างเดียวได้ แต่เราก็ต้องหาจุดหรือเครื่องมือที่สามารถเชื่อมข้อมูลเหล่านี้กับผู้คนได้ด้วย

ผู้เขียน

+ posts

หนุ่มน้อยผู้หลงรักความไม่สมบูรณ์แบบ ออกเดินทางเพื่อเก็บภาพความงดงามของธรรมชาติ และชอบอ่านวรรณกรรมเป็นชีวิตจิตใจ