โครงการอนุสรณ์เรืออพยพสัตว์ป่า สืบ นาคะเสถียร เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าคลองแสง จ.สุราษฎร์ธานี

โครงการอนุสรณ์เรืออพยพสัตว์ป่า สืบ นาคะเสถียร เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าคลองแสง จ.สุราษฎร์ธานี

อนุสรณ์เรืออพยพสัตว์ป่า สืบ นาคะเสถียร : สถานที่จัดแสดงอนุสรณ์เรืออพยพสัตว์ป่า ประวัติ เหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์อพยพสัตว์ป่าครั้งแรกของประเทศไทย

ที่มา

ในปี พ.ศ. 2528 หัวหน้าสืบ นาคะเสถียร เเละเจ้าหน้าที่จากกองอนุรักษ์สัตว์ป่าร่วมด้วยแรงงานท้องถิ่นได้ พยายามช่วยชีวิตสัตว์ป่าออกจากพื้นที่น้ำท่วม ภายใต้โครงการช่วยเหลือสัตว์ป่าตกค้างในพื้นที่อ่างเก็บน้ำโครงการเขื่อนเชี่ยวหลาน โดยมีการใช้แพ หรือ ปราการทางน้ำ เป็นกองอำนวยการในการทำงานช่วยเหลือสัตว์ป่าตกค้างในพื้นที่อ่างเก็บน้ำเขื่อนเชี่ยวหลาน ซึ่งมีด้วยกัน 3 แห่ง คือ แพที่หน่วยพิทักษ์ป่าเชี่ยวหลาน หน่วยพิทักษ์ป่า(ชั่วคราว)ถ้ำเจียร์ เเละหน่วยพิทักษ์ป่าคลองหยา ครอบคลุมพื้นที่ตอนต้น ตอนกลาง เเละตอนปลายของเขื่อนเชี่ยวหลาน

การทำงานจะแบ่งทีมและใช้เรือเครื่องในการออกตระเวนหาสัตว์ป่าในพื้นที่ล่อแหลมของอ่างเก็บน้ำด้วยวิธีไล่ต้อน วางกรงดัก และตระเวนหาสัตว์ที่ติดอยู่ตามขอนไม้ ต้นไม้ และตามเกาะต่างๆ ในพื้นที่อ่างเก็บน้ำทั้งกลางวัน และกลางคืน ผลปรากฏสามารถช่วยเหลือสัตว์ป่าได้จำนวน 116 ชนิด 1,364 ตัว แบ่งเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม 37 ชนิด 586 ตัว นก 30 ชนิด 58 ตัว สัตว์เลื้อยคลาน 49 ชนิด 720 ตัว โดยสัตว์เหล่านี้มีอัตราการตายในระหว่างการช่วยเหลือร้อยละ 3.0

สืบ นาคะเสถียร ได้เขียนรายงานสรุปการช่วยเหลือครั้งนั้นไว้ว่า การแก้ไขผลกระทบต่อสัตว์ป่าเป็นงานที่มิอาจเป็นไปได้ในเชิงของการปฏิบัติ เพราะผลกระทบจากการสร้างเขื่อนเป็นกระบวนการของการทำลายแหล่งพันธุกรรม ตลอดจนแหล่งที่อยู่อาศัยและแหล่งอาหารที่สำคัญของสัตว์ป่า ซึ่งถือได้ว่าเป็นหัวใจของผืนป่าทั้งหมดที่มนุษย์มิอาจสร้างขึ้นมาใหม่ได้

ระยะเวลาผ่านมา เกือบ 40 ปี เรืออพยพสัตว์ป่าที่หัวหน้าสืบ และทีมงานเคยใช้ยังถูกเก็บรักษาไว้ ณ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าคลองแสง แต่โครงสร้างต่างๆ เริ่มทรุดโทรม โดยนายพรธวัช เฉลิมวงศ์ หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าคลองแสงพิจารณาเเล้ว เห็นควรให้มีการซ่อมแซมตัวเรือและย้ายอนุสรณ์เรืออพยพสัตว์ป่า ไปไว้บริเวณด้านหน้าทางเข้าที่ทำการเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าคลองแสง พร้อมทั้งจัดทำอาคารเพื่อเก็บรักษาตัวเรือและจัดทำนิทรรศการ บอกเล่าเรื่องราวรายละเอียดเหตุการณ์งานอพยพสัตว์ป่าในครั้งนั้นไว้ เพื่อให้ผู้ที่มาศึกษาธรรมชาติสามารถศึกษาเรียนรู้ได้

PHOTO : วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์

วัตถุประสงค์

1. เพื่อเก็บรักษาเรือไว้เป็นอนุสรณ์ถึงเหตุการณ์อพยพสัตว์ป่าครั้งแรกของประเทศไทย ที่หัวหน้าสืบ นาคะเสถียร ได้ทำไว้

2. เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ให้กับนักเรียน นักศึกษา และบุคคลทั่วไป

3. เพื่อเป็นแหล่งรวบรวมข้อมูลประวัติศาสตร์เหตุหารณ์อพยพสัตว์ป่าจากการสร้างเขื่อนครั้งแรกของประเทศไทย

4. เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์

อนุสรณ์เรืออพยพสัตว์ป่า ประกอบด้วย

เรืออนุรักษ์ : เรืออพยพสัตว์ป่าที่ สืบ นาคะเสถียร และทีมงานเคยใช้ในโครงการช่วยเหลือสัตว์ป่าตกค้างในพื้นที่อ่างเก็บน้ำเขื่อนเชี่ยวหลาน

นิทรรศการภาพถ่าย : รวบรวมเรื่องราวและเหตุการณ์ผ่านนิทรรศการภาพถ่าย ทั้งผลงานของสืบ นาคะเสถียร และสื่อมวลชนที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ ซึ่งจัดแสดงไว้ ภายในอาคารอนุสรณ์เรืออพยพ สัตว์ป่า

วิดีทัศน์ : สารคดีการทำงานโครงการ ช่วยเหลือสัตว์ป่าตกค้างในพื้นที่อ่างเก็บน้ำเขื่อนเชี่ยวหลาน

งบประมาณ

งบประมาณดำเนินการทั้งสิ้น 967,530 บาทแบ่งเป็น

  • ค่าวัสดุอุปกรณ์ 897,530 บาท 
  • ค่าดำเนินการขนส่ง 10,000 บาท
  • ค่าผลิตและติดตั้งนิทรรศการ 40,000 บาท
  • ค่าผลิตสื่อคู่มืออนุสรณ์เรือสืบ 20,000 บาท

ระยะเวลาดำเนินงาน

  • ออกแบบงานสถาปัตยกรรม ระหว่าง มกราคม – กุมภาพันธ์ 2567
  • นำเสนอโครงการแก่ผู้สนับสนุน ระหว่าง มีนาคม – พฤษภาคม 2567
  • ดำเนินการสร้าง ระหว่าง กรกฎาคม – ตุลาคม 2567

สถานที่ต้ัง

เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าคลองแสง 45 หมู่ที่ 3 ต.เขาพัง อ.บ้านตาขุน จ.สุราษฎร์ธานี

อาคารอนุสรณ์ออกแบบงานสถาปัตยกรรม โดย บริษัท แปลน สตูดิโอ จำกัด

ผู้ประสานงานโครงการ น.ส.เกศรินทร์ เจริญรักษ์ หัวหน้าฝ่ายงานผู้พิทักษ์ป่า มูลนิธิสืบนาคะเสถียร โทร : 097-2489717

ผู้เขียน

+ posts

ถ่ายภาพเพื่อบันทึกเรื่องราว และบางคราวก็เอาภาพมาเล่าเรื่อง มีความสุขกับการดริปกาแฟ และชื่นชมแคตตัส