ผลการดำเนินการ โครงการจัดการพื้นที่คุ้มครองอย่างมีส่วนร่วม ในผืนป่าตะวันตก

ผลการดำเนินการ โครงการจัดการพื้นที่คุ้มครองอย่างมีส่วนร่วม ในผืนป่าตะวันตก

การรักษาป่าตะวันตกร่วมกับหน่วยงานราชการและภาคเอกชนต่างๆ เป็นงานที่มูลนิธิสืบนาคะเสถียรภูมิใจในการดำเนินการมาตลอดช่วงเวลา 18 ปีนับแต่ก่อตั้งมูลนิธิเมื่อปี 2533 เป็นต้นมา

ปี 2533 – 2540 มูลนิธิสืบนาคะเสถียรได้สร้างอาคารอนุสรณ์สถานสืบนาคะเสถียร และรูปปั้นคุณสืบ นาคะเสถียรเพื่อเป็นสัญลักษณ์ของสามัญชนคนหนึ่งที่พยายามต่อสู้เพื่อรักษาผืนป่าตะวันตก ณ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง นับเป็นจุดรวมใจรวมคนทั้งภาครัฐและภาคประชาชนเพื่อร่วมกันดำเนินการในทุกๆ รูปแบบเพื่องานอนุรักษ์ป่าไม้และสัตว์ป่า ในช่วงเวลานั้นมูลนิธิได้ระดมทุนเพื่อสนับสนุนการดำเนินงานอนุรักษ์ให้กับพื้นที่มรดกโลกห้วยขาแข้ง-ทุ่งใหญ่นเรศวรและจัดตั้งกองทุนเพื่อผู้พิทักษ์ป่าซึ่งได้จัดสรรเงินช่วยเหลือให้กับเจ้าหน้าที่ที่ได้รับบาดเจ็บ พิการ หรือเสียชีวิตในการปฏิบัติหน้าที่ในส่วนที่ราชการไม่อาจให้ความช่วยเหลือได้

ในช่วงปี 2540 – 2546 มูลนิธิปรับเปลี่ยนนโยบายการสนับสนุนงบประมาณตรงสู่พื้นที่อนุรักษ์มาเป็นการก่อตั้งกองทุนป่าตะวันตกเพื่อสนับสนุนการดำเนินโครงการจัดการป่าตะวันตกเชิงระบบนิเวศ ร่วมกับกรมป่าไม้ในขณะนั้น ทำให้เกิดผลงานการสำรวจขัอมูลเชิงนิเวศอย่างเป็นระบบทั่วทั้งป่าตะวันตก นำไปสู่แนวคิดการจัดการพื้นที่ในลักษณะป่าผืนใหญ่ (Forest Complex) และร่วมกิจกรรมการฝึกอบรมเสริมศักยภาพเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าในผืนป่าตะวันตกอย่างต่อเนื่อง

ในปี 2547 – 2550 เป็นช่วงสำคัญยิ่งของการเปลี่ยนแปลงแนวทางการทำงานของมูลนิธิในการทำงานในภาคสนามในโครงการจัดการพื้นที่คุ้มครองอย่างมีส่วนร่วมในพื้นที่ชุมชน โดยการสนับสนุนงบประมาณจากกองทุน DANIDA ประเทศเดนมาร์ก โดยผลการปฏิบัติงานสามารถผลักดันให้เกิดการสำรวจแนวเขตพื้นที่ใช้ประโยชน์ชุมชนอย่างมีส่วนร่วมระหว่างชุมชนและเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าในพื้นที่อนุรักษ์ได้ถึง 50 ชุมชน จาก 100 ชุมชนในผืนป่า ส่งผลให้สามารถลดความขัดแย้งในระดับพื้นที่ได้ในระดับที่น่าพอใจแม้ว่าในการดำเนินงานยังไม่สามารถผลักดันเชิงนโยบายเพื่อให้เกิดต้นแบบการจัดการพื้นที่ใช้ประโยชน์ชุมชนในระดับนโยบายได้ก็ตามที นอกจากนี้ยังทำงานหนุนเสริมชุมชนภายใต้แนวคิด “ซ่อมป่า รักษาชุมชน” จนกระทั่งปัจจุบันเกิดแนวโน้มได้ชุมชนที่สามารถเป็นต้นแบบการจัดการพื้นที่ซึ่งแตกต่างกันไปตามสภาพภูมิประเทศและวิถีวัฒนธรรม 26 ชุมชน

นอกจากนี้ภายใต้โครงการจอมป่า มูลนิธิสืบยังทำหน้าที่ประสานให้เกิดกระบวนการทำงานของภาคประชาสังคมของบุคลากรในสาขาอาชีพต่างๆ ที่มีความสนใจในงานอนุรักษ์ผืนป่าตะวันตกร่วมกับกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืชภายใต้ชื่อ “คณะกรรมการอนุรักษ์ผืนป่าตะวันตก (กอต.) 6 จังหวัด” ซึ่งได้ร่วมกับมูลนิธิสืบทำงานรณรงค์เชิงนโยบายเพื่อยับยั้งโครงการพัฒนาที่ส่งผลเสียหายต่อผืนป่าหลายโครงการ ปัจจุบันคณะกรรมการดังกล่าวได้ร่วมกันจัดตั้งองค์กรพัฒนาเอกชนด้านสิ่งแวดล้อมเพื่อดำเนินการต่อเนื่องจากโครงการด้วยตัวเองในชื่อ “มูลนิธิเครือข่ายอนุรักษ์ผืนป่าตะวันตก (มอต.)” เป็นพันธมิตรสำคัญที่ทำงานร่วมกับมูลนิธิสืบนาคะเสถียร

รายงานฉบับนี้เป็นการสรุปผลการดำเนินงานโครงการจัดการพื้นที่คุ้มครองอย่างมีส่วนร่วมในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา ซึ่งมูลนิธิยังได้ดำเนินการต่อเนื่องจากการสนับสนุนเพิ่มเติมจาก DANIDA ซึ่งหวังเป็นอย่างยิ่งว่าเมื่อสิ้นสุดโครงการจะสามารถจัดการพื้นที่ใช้ประโยชน์ชุมชนทั้งหมดในผืนป่าตะวันตกให้เป็นตัวอย่างในการทำงานร่วมกันของชุมชนและเจ้าหน้าที่ของพื้นที่คุ้มครองและนำไปสู่การร่วมรักษาผืนป่าตะวันตกให้คงคุณค่าสมบูรณ์ของระบบนิเวศให้ได้ และถ่ายทอดองค์ความรู้ไปสู่การจัดการผืนป่าอื่นๆ ของประเทศต่อไป

ขอขอบคุณมิตรประเทศจากเดนมาร์ก ที่สนับสนุนการทำงานอย่างดียิ่ง และขอบคุณพี่น้องชาวบ้านในชุมชนที่ให้เราได้เรียนรู้และร่วมมือในการทำงานที่ผ่านมา ขอบคุณกรมอุทยาน สัตว์ป่า และพันธุ์พืชสำหรับความไว้วางใจให้เราเข้าทำงานร่วมกันในพื้นที่ ขอบคุณเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าทุกท่านที่ได้ร่วมงานกันด้วยมิตรภาพที่ดี ขอบคุณพันธมิตรทุกๆ องค์กรและบุคคล ที่มีส่วนร่วมในการทำงานครั้งนี้ของมูลนิธิสืบนาคะเสถียร

เราเชื่อเป็นอย่างยิ่งว่า “เรามาไม่ผิดทาง” แน่ๆ ทีเดียว และเราจะเดินทางต่อไปกับมิตรสหายผู้ร่วมทางด้วยความเชื่อมั่นและศรัทธา


ผู้สนใจสามารถอ่านรายงานผลการดำเนินการโครงการจัดการพื้นที่คุ้มครองอย่างมีส่วนร่วมในผืนป่าตะวันตก ได้ที่นี่