การสูญหายที่อาจไม่สังเกตเห็น ว่าด้วยการสูญพันธุ์ของแมลง

การสูญหายที่อาจไม่สังเกตเห็น ว่าด้วยการสูญพันธุ์ของแมลง

โลกของเราเต็มไปด้วยสิ่งมีชีวิต

ย้อนกลับไปเมื่อสี่พันล้านปีก่อน สิ่งมีชีวิตตัวจิ๋วอย่างไมโครบ (microbes) ได้ถือกำเนิดขึ้น เมื่อ 400 ล้านปีก่อนก็เริ่มมีสิ่งมีชีวิตบนผืนแผ่นดิน ราว 200,000 ปีก่อน มนุษย์ได้ถือกำเนิดบนโลก จวบจน 200 ปีก่อน มนุษย์จึงเริ่มจัดจำแนกสิ่งมีชีวิตต่างๆ อย่างเป็นระบบ แม้กระนั้น เราก็ยังค้นพบสิ่งมีชีวิตชนิดใหม่อยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน และอาจมีอีกกว่าล้านสปีชีส์ที่ยังไม่ถูกค้นพบ

ต้นเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมาเป็นช่วงเวลาที่ไม่ธรรมดาสำหรับโลกของนักอนุกรมวิธาน นักวิทยาศาสตร์ผู้ทำหน้าที่บันทึกความเป็นมาของสิ่งมีชีวิตต่างๆ ในยุคที่ทรัพยากรธรรมชาติถูกใช้อย่างไม่บันยะบันยัง เพราะมีการค้นพบแมลงปีกแข็งชนิดใหม่ถึง 95 ชนิด แต่ยังไม่หมดแค่นั้น เหล่านักวิทยาศาสตร์ยังพบมอธจิ๋ว (micromoth) อีก 7 ชนิดจากทวีปอเมริกาใต้ แมงมุมจิ๋ว 10 ชนิดในประเทศเอกวาดอร์ สัตว์เปลือกแข็งที่ชอบอาศัยในถ้ำประเทศบราซิลอีกหนึ่งชนิด แมลงหางหนีบที่อาศัยอยู่ใต้ดิน 7 ชนิด แมลงสาบจากประเทศจีน 4 ชนิด แมงกระพรุนเรืองแสงจากประเทศญี่ปุ่น แมลงปอตาสีฟ้าในประเทศกัมพูชา หนอนหนามจากใต้มหาสมุทร 13 ชนิด บ้างตัวเป็นขน บ้างตัวเป็นปล้อง แต่ทุกตัวน่าขนลุก เล็น 8 ชนิดจากทวีปอเมริกาเหนือ ปะการังสีดำ 3 ชนิดจากเบอร์มิวดา และกบแอนดีส (Andean frog) ที่มีตาสีส้มสดใส

จวบจนปัจจุบัน นักวิทยาศาสตร์บันทึกพืช สัตว์ และเห็ดรารวมทั้งสิ้นราว 2 ล้านชนิดพันธุ์ ไม่มีใครรู้ว่าชนิดพันธุ์ทั้งหมดบนโลกมีจำนวนเท่าไร บ้างมองว่าน่าจะราว 2 ล้านชนิดพันธุ์ แต่บางรายอาจคาดการณ์ว่ามีถึง 100 ล้านชนิดพันธุ์ คำถามเกี่ยวกับความหลากหลายทางชีวภาพจึงเป็นคำถามที่ยิ่งใหญ่และยากจะหาคำตอบในแวดวงวิทยาศาสตร์ โดยไม่มีทางลัดหรือการคำนวณใดที่จะช่วยหาคำตอบได้ มีเพียงการค้นพบเล็กๆ อย่างแมลงปีกแข็ง หรือแมลงวันที่จะค่อยๆ สะสมให้เราเข้าใกล้ปลายทางที่ดูเหมือนจะไม่มีวันสิ้นสุด

ถึงแม้ว่าเราจะพบชนิดพันธุ์ใหม่หลายพันต่อปี แต่ก็มีอีกหลายพันชนิดพันธุ์ที่กำลังเริ่มสูญหาย ถูกกวาดล้างไปด้วยคลื่นหายนะทางชีววิทยาหรือที่รู้จักกันในชื่อว่าการสูญพันธุ์ครั้งที่ 6 ในประวัติศาสตร์โลก มีการสูญพันธุ์ครั้งใหญ่ทั้งสิ้น 5 ครั้ง และครั้งล่าสุด (และโด่งดังที่สุด) คือการสูญพันธุ์ของไดโนเสาร์เมื่อ 66 ล้านปีก่อน ส่วนครั้งที่เลวร้ายที่สุดเกิดในยุคเพอร์เมียนเมื่อ 190 ล้านปีก่อน ที่กรุยทางให้ไดโนเสาร์ในเวลาต่อมา

Oxysternon conspicillatum ด้วงขี้วัวจากอเมริกาใต้ / PHOTO Alamy

 

การจะหาคำตอบว่าเรากำลังอยู่ในสภาวะการสูญพันธุ์ครั้งที่ 6 หรือไม่ นักวิทยาศาสตร์ต้องศึกษาอัตราการสูญพันธุ์ของชนิดพันธุ์ต่างๆ เปรียบเทียบกับอัตราการสูญพันธุ์หากไม่มีกิจกรรมของมนุษย์ (หรือที่เรียกกันว่า background rate) เมื่อ พ.ศ. 2558 กลุ่มนักวิทยาศาสตร์ชาวอเมริกันและเม็กซิกัน ได้รวบรวมข้อมูลจากสัตว์มีกระดูกสันหลังที่เรารู้จัก และได้ข้อสรุปว่าอัตราการสูญพันธุ์ของพืชและสัตว์คิดเป็น “ราว 100 เท่า” หากเปรียบเทียบกับอัตราสูญพันธุ์ในโลกที่ไม่มีมนุษย์ ซึ่งคิดเป็นอัตราการสูญพันธุ์ที่พอๆ กับการสูญพันธุ์ของไดโนเสาร์

อย่างไรก็ดี เทอร์รี เออร์วิน (Terry Erwin) นักกีฎวิทยาเขตร้อนบอกกับผมว่า การประมาณการอัตราการสูญพันธุ์ดังกล่าวนั้นมีอคติ เนื่องจากใช้กลุ่มตัวอย่างเพียงกลุ่มเล็กๆ ของความหลากหลายทางชีวภาพ แต่หากเราคำนึงถึงสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลัง เช่น ทาก ปู หนอน หอยทาก แมงมุม หมึก และแมลงทั้งหมดทั้งมวล ผลการวิจัยดังกล่าวก็เป็นเพียงการคาดเดา โดยเขากล่าวเสริมว่า “นักอนุรักษ์ทำทุกอย่างเท่าที่พวกเขาจะทำได้ โดยไม่มีข้อมูลเกี่ยวกับแมลง”

หากต้องการทราบถึงสถานการณ์ที่แท้จริงของความหลากหลายทางชีวภาพในโลก นักนิเวศวิทยาควรเริ่มที่จะให้ความสนใจต่อสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลัง และลดเวลาที่ใช้กับสัตว์ที่ “น่ารักน่ากอด” ซึ่งเป็นนิยามของสัตว์ที่มีกระดูกสันหลังของเทอร์รี (เวลาหลายต่อหลายปีที่ต้องฟังความมหัศจรรย์ของกอริลลา หรือวาฬหลังค่อมอาจทำให้เขาผู้หลงใหลในแมลงรู้สึกขมขื่น) เหตุผลที่สำคัญคือปริมาณชนิดพันธุ์ของสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังนั้น มากยิ่งกว่ามากหากเปรียบเทียบกับเหล่าสัตว์ที่มีกระดูกสันหลัง

ความเป็นจริงแล้ว เราอยู่อาศัยในโลกของสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลัง จากชนิดพันธุ์ทั้งหมดที่เรารู้จัก มีเพียงร้อยละ 5 เท่านั้นที่มีกระดูกสันหลัง โดยแมลงคิดเป็นร้อยละ 70 ส่วนสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมนั้นมีสัดส่วนน้อยกว่า 1 ใน 200 ชนิด และสัดส่วนที่มากที่สุดของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมคือพวกสัตว์จำพวกหนู ในแง่ความหลากหลายทางชีวภาพ เราไม่ต่างจากกลุ่มหนูเพียงหยิบมือในโลกที่เต็มไปด้วยแมลงปีกแข็ง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นสัตว์กินพืชและอาศัยอยู่ในพื้นที่ร้อนชื้น

 

ดังนั้นหากคุณต้องการทำความเข้าใจความหลากหลายทางชีวภาพบนโลก และอัตราการสูญพันธุ์ที่แท้จริง เราจะต้องศึกษาชนิดพันธุ์ของแมลงปีกแข็งที่เกาะอยู่บนต้นไม้ในเขตร้อนชื้น

 

แต่ก่อนที่เราจะนับจำนวนชนิดพันธุ์ได้ เราต้องตั้งชื่อให้เสียก่อน กระบวนการนี้แหละที่นักอนุกรมวิธานจะเข้ามามีบทบาท แนวคิดเรื่องสปีชีส์เป็นแนวคิดที่ค่อนข้างยากสำหรับนักชีววิทยา โดยเฉพาะสิ่งมีชีวิตบางชนิดที่ส่วนใหญ่มักจะไม่ค่อยมีความแตกต่างกันมากนัก แล้วยิ่งสิ่งมีชีวิตเหล่านั้นใกล้ชิดกันมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งทำให้การระบุชนิดพันธุ์ทำได้ยากขึ้นเท่านั้น นิยามที่ได้รับการยอมรับมากที่สุดมาจากนักชีววิทยาวิวัฒนาการเอินสท์ไมเออร์ (Ernst Mayr) ที่นิยามสปีชีส์ว่าเป็นกลุ่มของสัตว์ที่ผสมพันธุ์กับสัตว์ชนิดเดียวกัน ไม่ใช่ต่างชนิดกัน เว้นแต่จะมีเหตุการณ์พิเศษเกิดขึ้น (เช่น หากคุณบังคับให้ม้าลายผสมพันธุ์กับลา คุณจะได้สัตว์พันธุ์ผสมอย่าง Zonkey แต่ในโลกแห่งความเป็นจริง ม้าลายกับลาก็เป็นสัตว์คนละสปีชีส์ เพราะในธรรมชาติการผสมพันธุ์ดังกล่าวยากที่จะเกิดขึ้นได้)

งานของนักอนุกรมวิธานไม่ใช่แค่การตั้งชื่อแต่ละชนิดพันธุ์ พวกเขายังต้องคิดว่าแต่ละชนิดพันธุ์นั้นมีความสัมพันธ์กันอย่างไร เป็นเวลาหลายร้อยปีที่เหล่านักวิทยาศาสตร์พยายามจัดประเภทสัตว์บนโลกให้เป็นกลุ่มเป็นก่อนด้วยระบบที่แตกต่างกัน อริสโตเติลพยายามจัดแบ่งสิ่งมีชีวิตบนโลกโดยใช้คุณลักษณะที่สำคัญ ซึ่งหมายถึงวิธีที่สิ่งมีชีวิตเหล่านั้นเคลื่อนที่ แต่เขาก็ต้องครุ่นคิดเมื่อเจอกับสัตว์ที่เคลื่อนที่ไม่ได้ อริสโตเติลใช้เวลาค่อนข้างมากบนเกาะแห่งเลสบอส (the island of Lesbos) เพื่อหาคำตอบว่าดอกไม้ทะเลและฟองน้ำคือสัตว์ พืช หรือพืชที่เป็นเหมือนสัตว์

วิวัฒนาการด้านอนุกรมวิธานเกิดขึ้นเมื่อคริสตศตวรรษที่ 18 ในยุคแห่งการตื่นรู้ ซึ่งเป็นผลงานของชายคนหนึ่งคือ คาร์ล ลินนีอัส (Carl Linnaeus) ผู้ได้รับการยกย่องว่าเป็นไอแซค นิวตัน แห่งวงการชีววิทยา คาร์ลมีบุคลิกค่อนข้างแปลกประหลาด กล่าวคือฉลาดมาก หัวแข็ง และค่อนข้างขี้อวด โดยเฉพาะเรื่องการจดจำคุณลักษณะทางเพศของพืชหลายชนิดที่เขากล่าวว่าเป็นพรสวรรค์ คาร์ลเคยเดินทางเพื่อค้นหาชนิดพันธุ์ใหม่ทางตอนเหนือของสวีเดน แต่ส่วนใหญ่ ผลงานของเขาจะอ้างอิงจากการค้นพบของคนอื่น คาร์ลมีผู้ช่วยถึง 17 คนที่เดินทางทั่วโลกเพื่อเก็บข้อมูลมาใส่ตามระบบของเขา โดยมี 7 ชีวิตที่ไม่ได้กลับบ้าน จากความร่วมมือดังกล่าว เขารวบรวมชนิดพันธุ์พืชได้ทั้งสิ้น 7,700 ชนิด และสัตว์ 4,400 ชนิด

มอธชนิดพันธุ์ Neopalpa donaldtrumpi / PHOTO Vazrick Nazari

 

ในภายหลัง นักชีววิทยาก็วิพากษ์วิจารณ์ระบบการจัดประเภทของคาร์ลอย่างมาก เช่น การที่เขาจัดประเภทเม่นกับค้างคาวไว้ด้วยกัน โดยใช้ชื่อว่าสัตว์ที่ดุร้าย (ferocious beast) และจัดหนูผี (shrews) และฮิปโปไว้ประเภทเดียวกัน โดยเรียกว่าสัตว์ขนของ (beasts of the burden) ระบบการจัดประเภทของคาร์ลจึงไม่ใช่ความสำเร็จของเขา แต่ผลงานชิ้นสำคัญคือการระบุชื่อชนิดพันธุ์ โดยคาร์ลแบ่งชื่อออกเป็นสองส่วน ส่วนแรกคือสกุล (genus) ของสัตว์ชนิดนั้นๆ แล้วตามด้วยชื่อชนิดพันธุ์

ระบบชื่อดังกล่าวมีส่วนช่วยมากทั้งในเรื่องการตั้งชื่อและการแยกประเภท เช่น เราจะรู้ได้ทันทีว่ามนุษย์หรือ Homo sapiens จะทั้งเกี่ยวข้องและแตกต่างจากชนิดพันธุ์ที่ใกล้ชิดกันอย่าง Homo erectus และ Homo habilis นอกจากนี้ ระบบดังกล่าวยังเป็นความสนุกเล็กๆ น้อยๆ ของนักอนุกรมวิธาน เช่น การนำชื่อประธานาธิบดีของสหรัฐมาตั้งเป็นชื่อสปีชีส์ใหม่มักจะกลายเป็นพาดหัวข่าวได้ไม่ยาก บางชนิดพันธุ์อาจตั้งชื่อระลึกถึงเหตุการณ์ครั้งสำคัญ เช่น เหตุการณ์หายนะเขื่อนถล่มในประเทศบราซิลเมื่อ พ.ศ. 2558 บางครั้งนักอนุกรมวิธานอาจตั้งชื่อแค่เพื่อให้คล้องจองกับสกุลของสปีชีส์นั้นๆ เพื่อความไพเราะ เช่น เทอร์รี กอสลิเนอร์ (Terry Gosliner) ที่ตั้งชื่อทากทะเลว่า Kahuna เพื่อให้คล้องจองกับสกุล Thurunna ทากทะเลฮาวาย

กอสลิเนอร์ค้นพบทากทะเลชนิดใหม่ครั้งแรกตั้งแต่ยังเรียนอยู่มัธยมปลาย นับแต่นั้นเป็นต้นมา เขาก็เดินทางไปรอบโลกเพื่อค้นหาทากทะเล และได้ตั้งชื่อกว่า 300 ชนิดพันธุ์ตลอดการทำงาน 40 ปี ทากทะเลจะอยู่อาศัยในแนวปะการัง ซึ่งอ่อนไหวต่อการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิค่อนข้างมาก นักวิทยาศาสตร์บางรายมองว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการที่มหาสมุทรมีความเป็นกรดสูงขึ้น อาจทำให้แนวปะการังถูกลบหายไปจากโลกภายใน 50 หรือ 100 ปีข้างหน้า แต่กอสลิเนอร์มองค่อนข้างบวกว่าปะการังมีความสามารถที่จะฟื้นตัวหลังจากเผชิญแรงสภาพแวดล้อมที่เลวร้าย ในขณะที่แนวปะการังอาจต้องเผชิญอันตรายใต้ทะเลลึก สิ่งที่น่าเป็นห่วงและอยู่ในภาวะวิกฤติรุนแรงกว่าคือแมลงบนพื้นดิน ซึ่งนักกีฎวิทยาวิทยาต่างพยายามอย่างแข็งขันเพื่อรับมือ

แต่ก่อนที่นักกีฎวิทยาจะเริ่มคิดถึงการสูญพันธุ์ครั้งใหญ่ของแมลง พวกเขาต้องรู้ความหลากหลายทางชีวภาพของแมลงเสียก่อน ซึ่งพวกเขาก็ทำงานกันอย่างหามรุ่งหามค่ำ ในแวดวงนักกีฎวิทยา ผลงานชิ้นสำคัญได้ถูกตีพิมพ์เมื่อ พ.ศ. 2525 โดยนักกีฎวิทยารุ่นใหม่ชื่อว่าเทอร์รี เออร์วิน

เออร์วินต้องการหาคำตอบว่ามีแมลงกี่ชนิดพันธุ์ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ป่าหนึ่งเอเคอร์ของป่าฝนเขตร้อนในประเทศปานามา พื้นที่ซึ่งเขาทำงานอยู่ เขากางผ้าใบบนพื้นและใช้เครื่องพ่นยาฆ่าแมลงที่หน้าตาคล้ายใบไม้ ก่อนจะเก็บตัวอย่างและจัดประเภทซากแมลงบนพื้นดิน สิ่งที่เออร์วินค้นพบนั้นน่าประหลาดใจอย่างยิ่ง เพราะมีแมลงถึง 1,200 ชนิดพันธุ์ที่อาศัยอยู่บนต้นไม้ต้นเดียว โดยมีราว 100 ชนิดพันธุ์ที่อาศัยอยู่บนต้นไม้ต้นนี้เท่านั้นไม่ไปไหน เออร์วินประมาณการว่ามีแมลงทั้งสิ้น 41,000 ชนิดอาศัยอยู่ในพื้นที่ป่าหนึ่งเฮกตาร์ และ 30 ล้านสปีชีส์ทั่วโลก

ผลวิจัยดังกล่าวเป็นที่กล่าวขวัญอย่างมาก เออร์วินได้รับการยอมรับอย่างรวดเร็วในวงการ ชื่อของเขาปรากฎในแมลง 47 สปีชีส์ 2 วงศ์ 1 วงศ์ย่อย และ 1 ชนิดพันธุ์ย่อย นับว่าเป็นตัวชี้วัดอันดีถึงความเคารพในแวดวงนักกีฎวิทยา ทั้งนี้ การใช้ชื่อตัวเองเพื่อตั้งชื่อชนิดพันธุ์นั้น เป็นสิ่งต้องห้ามตามกรอบของ International Commission on Zoological Nomenclature (ICZN) แต่แน่นอนว่านักวิทยาศาสตร์หลายคนก็ยังไม่เห็นด้วยกับตัวเลข 30 ล้านดังกล่าว และมีงานวิจัยหลายชิ้นที่ลดจำนวนสปีชีส์ลงค่อนข้างมาก แต่เออร์วินก็ยังเชื่อมั่นในการคาดการณ์ของเขา โดยเขาบอกว่าตัวเลขที่แท้จริงอาจสูงถึง 80 ล้านหรือ 200 ล้านชนิดพันธุ์ และชนิดพันธุ์จำนวนมากกำลังสูญพันธุ์โดยที่เราแทบไม่ได้รับรู้เลย

ทากทะเลชนิดพันธุ์ Chromodoris kuniei, จากหมู่เกาะ Solomon / PHOTO Alamy

 

สัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังกำลังถูกคุกคามจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทั่วทุกมุมโลก การแก่งแย่งแข่งขันกับชนิดพันธุ์ต่างถิ่น และการสูญเสียที่อยู่อาศัย แมลงที่เคยมีจำนวนนับไม่ถ้วนเริ่มลดจำนวนลง แม้กระทั่งพื้นที่ที่ไม่ได้ถูกรบกวน ก็ยังพบแมลงน้อยลงอย่างเห็นได้ชัด งานวิจัยชิ้นหนึ่งของประเทศเยอรมันพบว่าประชากรแมลงลดลงราวร้อยละ 75 นับตั้งแต่ พ.ศ. 2532 สะท้อนให้เห็นว่าความเป็นจริงอาจเลวร้ายกว่าที่ผลการวิจัยหลายชิ้นนำเสนอก่อนหน้านี้

นักกีฎวิทยาทั่วโลกเฝ้ามองการลดปริมาณลงด้วยความกังวล ย้อนกลับไปเมื่อ พ.ศ. 2536 ไบรอัน ฟิชเชอร์ (Brian Fisher) นักกีฎวิทยาผู้เชี่ยวชาญเรื่องมดจากสถาบันวิทยาศาสตร์แคลิฟอร์เนีย (California Academy of Sciences) ได้เดินทางไปยังหมู่เกาะมาดากัสการ์เพื่อค้นหามดสปีชีส์ใหม่ และเขาก็ได้ตามที่คาดหวัง ไบรอันพบมดชนิดใหม่กว่า 1,000 ชนิด รวมถึงมดที่มีพฤติกรรมประหลาดอย่างมดผีดูดเลือด (Dracula ants) ที่มดโตเต็มวัยจะกินเฉพาะเลือดของลูกมดในรังเท่านั้น

การค้นพบมดจำนวน 1,000 ชนิดถือว่าค่อนข้างมาก หากเทียบกับจำนวนมดทั้งหมด 16,000 สปีชีส์ที่นักวิทยาศาสตร์รู้จักในปัจจุบัน สำหรับคนธรรมดาทั่วไปอย่างเรา มดก็คือมด อาจจะมีบางตัวสีน้ำตาล บ้างดำ บางตัวอาจออกน้ำตาลไหม้ แต่ดูๆ ไปไม่ว่ามดตัวไหนก็หน้าตาไม่ค่อยแตกต่างจากมดที่เราพบเห็นอยู่ในครัว แต่สำหรับฟิชเชอร์ มดแต่ละชนิดแตกต่างอย่างสังเกตได้ชัด ใต้กล้องจุลทรรศน์ มดแต่ละตัวจะถูกจำแนกลักษณะตั้งแต่ขน หนวดด้านหน้า แต่ที่สำคัญคือกรามที่ยื่นออกมาจากปาก ซึ่งใต้แว่นขยายดูไม่ต่างจากสามง่ามของเหล่าทูตนรก

ราวหลายทศวรรษนับตั้งแต่ฟิชเชอร์ไปปักหลักสำรวจบนเกาะมาดากัสการ์ การตัดไม้ทำลายป่าคืบคลานเข้ามาจนพื้นที่ป่าซึ่งไม่เคยถูกมนุษย์รบกวนหลงเหลือเพียงร้อยละ 10 เท่านั้น ฟิชเชอร์กล่าวว่า “ภายใน 50 ปี ผมยังคิดไม่ออกว่าจะมีป่าหลงเหลืออยู่ไหมในมาดากัสการ์” เวนดี มัวร์ (Wendy Moore) อาจารย์ด้านกีฎวิทยาผู้เชี่ยวชาญเรื่องมดและแมลงปีกแข็งมองว่า “เรากำลังเผชิญกับวิกฤติที่ต้องเร่งแก้ไข ทุกคนซึ่งอยู่ภาคสนามต่างก็รู้สึกไม่แตกต่างกัน” เนื่องจากแมลงจำนวนมากจะต้องพึ่งพาพืชเพียงหนึ่งชนิดพันธุ์ การตัดไม้ทำลายป่าย่อมส่งผลร้ายรุนแรงจนยากจะจินตนาการ “หากป่าประเภทใดประเภทหนึ่งหายไป แมลงนับพันนับหมื่นชนิดก็ย่อมหายไปด้วยเช่นกัน”

ถึงแม้ว่าเราจะไม่มีข้อมูลมากนักเกี่ยวกับสถานการณ์ปริมาณชนิดพันธุ์ของแมลง แต่เรากำลังเผชิญกับวิกฤติด้านจำนวนประชากรแมลง กล่าวคือ แม้เราจะไม่รู้ว่าแมลงมีจำนวนกี่ชนิด แต่โดยรวมแล้วจำนวนประชากรของแมลงลดลงอย่างน่าใจหาย รายงานจากประเทศเยอรมัน ซึ่งติดตามปริมาณแมลงที่จับได้ในบริเวณเดียวกันต่อเนื่องถึง 35 ปี ถือเป็นหนึ่งในสัญญาณเตือน แคลร์ เรองีร์ (Claire Regnier) จากพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ธรรมชาติ ประเทศฝรั่งเศสคาดว่าในรอบสี่ศตวรรษที่ผ่านมา อาจมีสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังราว 130,000 ชนิดที่สูญพันธุ์ไปแล้ว

หลักฐานจากสถานการณ์ที่หลายคนพบก็ดูจะสนับสนุนผลการสำรวจดังกล่าว เช่น ไมเคิล แมคคาร์ธี (Michael McCarthy) นักข่าวสิ่งแวดล้อมได้กล่าวถึงความเปลี่ยนแปลงขณะขับรถกลับบ้านในช่วงหน้าร้อน ซึ่งปกติเขาจะต้องเจอกับฝูงแมลงบินมาตายอยู่เต็มกระจกหน้า แต่เหตุการณ์ดังกล่าวได้หายไปในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา

แม้ว่าประเทศในสหภาพยุโรปจะระบุว่ายาฆ่าแมลงเป็นสาเหตุ แต่เออร์วินคิดว่าสาเหตุที่แท้จริงคือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เนื่องจากพื้นที่ที่เขาทำการสำรวจคือป่าโบราณที่ไม่ถูกรบกวนในประเทศเอกวาดอร์ “ที่นั่นไม่มียาฆ่าแมลง ไม่มีอะไรเลย” แต่ระหว่างที่เขาทำการศึกษาอยู่ที่นั่น ก็เกิดการเปลี่ยนแปลงสมดุลของป่าที่เขาเองยังแทบจะไม่รับรู้ถึง จากการศึกษาข้อมูล เออร์วินและทีมวิจัยพบว่าตลอด 35 ปีที่ผ่านมา ป่าแอมะซอนกำลังตายลงอย่างช้าๆ และหากป่าสูญหายไป สิ่งมีชีวิตทุกชนิดในป่าก็ย่อมได้รับผลกระทบ

หากเทรนด์ดังกล่าวยังเดินหน้าต่อไปอย่างต่อเนื่อง ผลกระทบที่เกิดก็อาจเลวร้ายเกินจินตนาการ แมลงถือกำเนิดมายาวนานราว 1,000 เท่าของช่วงเวลาที่มนุษย์กำเนิดขึ้นมาบนโลกใบนี้ แมลงเหล่านี้คือผู้สร้างโลกที่เราอาศัยอยู่ในปัจจุบันไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง เช่น การที่แมลงช่วยสร้างนิเวศของพืชดอก และเปรียบเสมือนแพลงก์ตอนในห่วงโซ่อาหารใต้ทะเล หากไม่มีแมลง อี. โอ. วิลสัน (E. O. Wilson) นักกีฎวิทยาผู้โด่งดังประจำมหาวิทยาลัยฮาวาร์ด คาดว่า

 

มนุษย์จะมีชีวิตรอดอยู่ไม่กี่เดือน หลังจากนั้นไม่นาน สัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ สัตว์เลื้อยคลาน นก และสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมก็จะค่อยๆ สูญพันธุ์ ตามมาด้วยพืชดอก พื้นผิวโลกจะถูกทับถมด้วยซากพืชซากสัตว์ที่ไม่ยอมย่อยสลาย พวกเห็ดราอาจเติบโตอย่างรวดเร็วในเวลาสั้นๆ แต่ไม่นาน พวกมันก็จะตายตามไป โลกจะกลับไปสู่สภาพที่เคยเป็นเมื่อ 440 ล้านปีก่อน ที่บนพื้นดินจะมีแต่สิ่งมีชีวิตที่ยังคงเป็นกลุ่มก้อนของเซลล์ เช่น ฟองน้ำ หรือมอส รอเวลาที่กุ้งผู้กล้าจะมาเสี่ยงโชคบนแผ่นดิน

 

การอนุรักษ์แมลงเป็นตัวหรือสปีชีส์เหมือนกับที่เราคุ้มครองสัตว์ใกล้สูญพันธุ์นั้นเป็นเรื่องยาก ไม่ใช่แค่ปัญหาเรื่องจำนวนชนิดพันธุ์ที่ยากจะนับ แมลงและสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังยังมีมีอภิสิทธิ์เหมือนกับสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมอื่นๆ ลองจินตนาการเปรียบเทียบระหว่างหมีขั้วโลกหรือวาฬหลังค่อม กับแมลงปีกแข็งกินพืชจากหุบเขาแห่งหนึ่งในมณฑลยูนนานดูสิครับ ก็น่าจะพอนึกออกว่าแตกต่างกันมากขนาดไหน

ไม่นานมานี้ ผมเพิ่งได้มีโอกาสไปเที่ยวพื้นที่สงวนสำหรับสัตว์ป่าที่เขียนเป้าประสงค์ไว้อย่างชัดเจนว่าเพื่ออนุรักษ์แมลง พื้นที่สงวนสำหรับสัตว์ป่าเนินทรายแอนทิอาค (Antioch Dunes National Wildlife Refuge) ทางตอนเหนือของแคลิฟอร์เนีย พื้นที่ดังกล่าวค่อนข้างเล็ก ขนาดประมาณ 140 ไร่ พื้นที่ดังกล่าวมีรั้วล้อมสามด้าน ส่วนอีกด้านหนึ่งติดแม่น้ำ สภาพภูมิทัศน์ก็ดูไม่ค่อยสวยเท่าไหร่ คล้ายกับที่รกร้างรอการพัฒนาที่เราพบเห็นได้ทั่วไป ในวันที่ผมเดินทางไปถึง มีแร้งสามตัวกำลังจัดการกับซากแมว โดยมีกังหันผลิตไฟฟ้าหมุนเอื่อยเป็นฉากหลัง

อย่างไรก็ดี เนินทรายนี้ไม่ต่างจากทะเลทรายสะฮาราขนาดย่อมซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์และพืชหลายชนิดที่ไม่ได้พบเห็นที่อื่น เมื่อคนผิวขาวเดินทางมาถึงแคลิฟอร์เนีย เนินทรายดังกล่าวมีคุณค่าเท่ากับวัตถุดิบเพื่อผลิตก้อนอิฐ ต้องใช้เวลาหลายทศวรรษก่อนที่นักชีววิทยาจะเห็นคุณค่าของพื้นที่แห่งนี้ ซึ่งก็เกือบจะสายเกินไปเพราะ ณ ขณะนั้นมีชนิดพันธุ์พื้นถิ่นหลงเหลือเพียง 3 สปีชีส์ เป็นพืชสองชนิด และผีเสื้อตัวจิ๋ว (Lange’s metalmark butterfly) อีกหนึ่งชนิดที่มีระยะบินได้ไม่ไกลมากนัก (สูงสุดเพียง 400 เมตร) นับตั้งแต่เนินทรายแอนทิอาคได้รับสถานะเป็นพื้นที่อนุรักษ์เมื่อ พ.ศ. 2523 จำนวนประชากรของผีเสื้อก็มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น แต่ปัจจุบันกลับหลงเหลือเพียง 67 ตัว เนื่องจากผีเสื้อชนิดนี้จะวางไข่บนพืชเพียงชนิดเดียวเท่านั้นคือต้นบัควีต (naked-stemmed buckwheat) ที่ปัจจุบันถูกคุกคามอย่างรุนแรงจากวัชพืช

มดดำชนิดพันธุ์ Lasius niger / PHOTO Alamy

 

สํานักงานประมงและสัตว์ป่าแห่งสหรัฐอเมริกา (U.S. Fish and Wildlife Service) ได้ริเริ่มการทดลองฟื้นฟูแหล่งที่อยู่อาศัยเพื่อคุ้มครองประชากรผีเสื้อดังกล่าว โดยใช้ทรายจำนวนมากฝังกลบบนพื้นที่เพื่อให้ชนิดพันธุ์ดั้งเดิมซึ่งสามารถทนต่อสภาวะดังกล่าวกลับมามีที่ยืนอีกครั้ง “หากเราสามารถฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมกลับมาได้ ก็ย่อมสามารถฟื้นประชากรผีเสื้อได้เช่นกัน” ดอน บรูเบเกอร์ (Don Brubaker) ผู้จัดการพื้นที่อนุรักษ์ให้สัมภาษณ์ โดยมองเห็นสัญญาณการฟื้นตัวที่ดี โดยพืชท้องถิ่นเริ่มชูยอดพ้นจากกองทราย และอีกไม่นานพื้นที่ก็จะกลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง

เมื่อผมถามดอนว่าคุ้มค่ากันไหมกับแรงงานที่ทุ่มเทไปเพื่อการอนุรักษ์ผีเสื้อ เขาตอบว่า “หลายคนอาจสงสัยว่าทำไมเราต้องอนุรักษ์ชนิดพันธุ์ต่างๆ แต่ทำไมเราถึงไม่ควรอนุรักษ์ล่ะ เพราะนี่คืองานในทำให้โลกใบนี้ยังทำงานต่อไปได้”

บางครั้งสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังตัวเล็กอย่างเจ้าผีเสื้อตัวจิ๋วก็เป็นเป้าหมายที่เหมาะแก่การอนุรักษ์ ซารินา เจปเซน (Sarina Jepsen) นักอนุรักษ์สัตว์ใกล้สูญพันธุ์ประจำองค์กรไม่แสวงหากำไร Xerces Society มองว่าสำหรับการอนุรักษ์แมลงนั้น “พื้นที่ขนาดไม่ใหญ่ก็สามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่ได้ เราไม่จำเป็นต้องใช้พื้นที่เป็นพันหรือหมื่นไร่เพื่อเพิ่มโอกาสให้ชนิดพันธุ์เหล่านี้อยู่รอด” ต่างจากการอนุรักษ์สัตว์อย่างหมาป่าหรือเสือ

 

อย่างไรก็ดี งานอนุรักษ์ชนิดพันธุ์ใดชนิดพันธุ์หนึ่งก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะการช่วยเหลือสักตัวหรือสองตัวมารักษาไว้ในห้องทดลองย่อมไม่เพียงพอ แต่ต้องฟื้นฟูระบบนิเวศ ซึ่งเป็นผลรวมของความสัมพันธุ์อันสลับซับซ้อนระหว่างพืช สัตว์ ดิน และสภาพอากาศที่ยาวนานนับล้านปี

 

การมองประเด็นเรื่องการสูญพันธุ์ในแง่มุมของสปีชีส์ใดสปีชีส์หนึ่งอาจไม่ตรงจุดในแง่ขนาดของเหตุการณ์ที่กำลังเกิดขึ้น หากสถานการณ์ที่เลวร้ายที่สุดตามการคาดการณ์ของนักกีฎวิทยาเป็นความจริง ชนิดพันธุ์ที่จะสูญพันธุ์ในศตวรรษที่จะถึงนี้อาจอยู่ที่หลักหลายล้านสปีชีส์ ความพยายามที่จะอนุรักษ์ที่ละชนิดพันธุ์ก็ไม่ต่างจากความพยายามหยุดสึนามิด้วยกระสอบทรายไม่กี่ใบ

นักอนุกรมวิธานก็อาจมีชะตากรรมไม่ต่างจากหลายสปีชีส์ซึ่งเผชิญความเสี่ยงจากการไม่มีผู้สืบทอด เนื่องจากตำแหน่งงานในมหาวิทยาลัย ในพิพิธภัณฑ์ รวมทั้งเงินทุนจากรัฐบาลต่างอยู่ในช่วงขาลงทั้งสิ้น อีกทั้งนักเรียนก็มีน้อยลงทุกที หลายครั้งที่อนุกรมวิธานถูกมองว่าเป็นศาสตร์โบร่ำโบราณและไม่จำเป็นต้องใช้ความรู้ โดยมีคุณค่าทางวิทยาศาสตร์ไม่ต่างจากการสะสมแสตมป์ ในขณะที่สาขาวิชาอย่างชีววิทยาโมเลกุลซึ่งเกี่ยวข้องกับดีเอ็นเอ โปรตีน และกระบวนการทางเคมีกลับได้รับการสนับสนุนอย่างล้นหลาม “ส่วนหนึ่งเพราะทุกมหาวิทยาลัยต่างจัดการเรียนการสอนไปตามแนวทางนั้น ทำให้ได้รับเงินสนับสนุน” เทอร์รีแสดงความเห็น

ในขณะที่ชนิดพันธุ์ใหม่ถูกค้นพบมากขึ้น เช่นในวันที่ผมกำลังเขียนบทความชิ้นนี้ วารสารชั้นนำด้านอนุกรมวิธานก็ตีพิมพ์ การพบชนิดพันธุ์ใหม่ทั้งตัวต่อจากอเมริกาใต้ แมลงเหนี่ยง (water scavenger beetle) จากที่ราบทิเบตและแมลงอีกหลายชนิดจากประเทศเกาหลีใต้

ทำไมต้องรีบร้อนขนาดนี้ ? นักอนุกรมวิธานบอกกับผมว่ามันช่วยไม่ได้ เพราะพวกเขาต่างรู้สึกตื่นตะลึงกับ “สิ่งที่พวกเราไม่รู้ว่าเราไม่รู้” อาจารย์คิปลิง วิล (Kipling Will) จากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เบิร์คลีย์ ใช้เวลาราวสองทศวรรษเพื่อศึกษาด้วงดินเพียงวงศ์ย่อยเดียว เขาชี้ให้ผมดูกล่องตัวอย่างที่เพิ่งส่งมาจากออสเตรเลียแล้วบอกว่า “เราทำในสิ่งที่เราทำได้ ยังมีอีกหลายประเด็นที่เรายังหาคำตอบไม่เจอ ซึ่งอาจจำเป็นต้องใช้เวลาอีกหลายทศวรรษ” ไม่ว่าจะเป็นชนิดพันธุ์ใด ก็จำเป็นต้องใช้เวลาผ่าเพื่อศึกษา ทดสอบดีเอ็นเอ เปรียบเทียบกับชนิดพันธุ์ที่ใกล้เคียง และรวบรวมข้อมูลทั้งหมดเพื่อตีพิมพ์ว่าเป็นชนิดพันธุ์ใหม่ ด้วยปริมาณสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังที่พบมากขึ้นทุกปี จึงไม่น่าแปลกใจที่การศึกษาชนิดพันธุ์ทั้งหมดอาจต้องใช้เวลาหลายปีหรือนับทศวรรษ

แล้วทำไมเราต้องสนใจล่ะ ? แน่นอนว่ามีหลายเหตุผลที่เราควรสนใจชะตากรรมของเหล่าสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลัง เพราะสัตว์เหล่านี้คือส่วนที่สำคัญของระบบนิเวศ หรือเปรียบได้เสมือนหัวใจ ปอด ระบบย่อยอาหารของโลก บางชนิดอาจมีสารเคมีแปลกประหลาดที่จะเป็นยารักษาของโรคที่ยังหาทางรักษาไม่ได้ในปัจจุบัน ไม่นานมานี้ สารเคมีที่พบในทากทะเลถูกสกัดเพื่อทดสอบเป็นยาต้านมะเร็ง สารบางชนิดอาจถูกนำไปสกัดเป็นยาฆ่าแมลงที่ไม่เป็นอันตรายต่อธรรมชาติ แต่แน่นอนว่าคุณค่าของพวกมันไม่ได้มีแค่นี้ แต่อาจเป็นความงามของโลกที่ยังมีชีวิต

ปูแมงมุมขายาว Macropodia rostrata / PHOTO Alamy

 

หากคุณถามเหล่านักชีววิทยาที่ทำงานเกี่ยวข้องกับสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังอย่างแมลง หอยทาก หรือหอยสองฝา สิ่งที่คุณมักจะได้ยินเสมอคือ “ก็เพราะมันสวย” แววตาของพวกเขาและเธอจะเป็นประกายเมื่ออยู่ต่อหน้าสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังเหล่านั้น คำอธิบายถึงแมลงปีกแข็งถ่ายทอดโลกที่พวกเขาเห็นได้อย่างชัดเจน “ตัวขนาดค่อนข้างใหญ่ และสวยงามมาก” แน่นอนว่าคำว่าใหญ่มีความหมายเชิงสัมพัทธ์ เพราะเจ้าแมล็งปีกแข็งที่ว่ามีขนาดเล็กกว่าหัวแม่มือ หากพวกเขาอยู่ท่ามกลางโหลใส่ทากทะเล ก็จะหยุดพูดถึงสีสัน ความสวยงาม รูปทรง และอุปนิสัยของพวกมันไม่ได้ เอมี เบอร์คอฟ (Amy Berkov) อาจารย์ด้านนิเวศวิทยาป่าเขตร้อน ผู้เชี่ยวชาญด้านแมลงทับเปลี่ยนสายจากศิลปะมาสู่นักกีฎวิทยาโดยให้เหตุผลว่า “ไม่มีอะไรที่น่าตื่นตาตื่นใจเท่าแมลงอีกแล้ว”

เป็นเรื่องง่ายที่เราจะตกหลุมรักสัตว์น่ารักน่ากอด หากเราต้องอยู่บนโลกที่ไม่มีกอริลลา เต่ามะเฟือง เสือโคร่ง หรือหมีขาวก็คงน่าเศร้าไม่น้อย แต่การสูญพันธุ์ของสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังนั้นมีมิติที่ลึกกว่า หลายชนิดพันธุ์อาจหายไปก่อนที่เราจะสังเกตเห็นเสียด้วยซ้ำ สูญพันธุ์ก่อนที่เราจะได้รู้จักและเข้าใจพฤติกรรมของพวกมัน ชนิดพันธุ์ไม่ใช่แค่จุดจุหนึ่งบนแผนที่การวิวัฒนาการ หรือรหัสพันธุกรรมที่เป็นนามธรรม แต่คือความสัมพันธ์อันสลับซับซ้อนระหว่างพืช สัตว์ พื้นดิน และอากาศ แต่ละชนิดพันธุ์มีพฤติกรรม สารเคมี ความรักของแม่ และอีกหลากหลายแง่มุมที่การหายไปโดยไม่ได้ศึกษาก็ไม่ต่างจากห้องสมุดที่ถูกเผาโดยไม่มีโอกาสได้อ่านหนังสือด้านใน การทำลายล้างของมนุษย์คงไม่ต่างจากการกระทำของพวกป่าเถื่อนที่ลบทำลายประวัติศาสตร์ของโลกรวมทั้งของเราเอง

ผมขอยกตัวอย่างมดชนิดพันธุ์ Strumigenysreliquia ผู้ล่าแห่งสังคมพืชใต้ร่มเงาที่พบเห็นได้ค่อนข้างยาก มดชนิดดังกล่าวถูกค้นพบครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2529 โดยฟิล วอร์ด (Phil Ward) มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เขาพบมดหายากชนิดนี้ในพื้นที่ป่าผืนเล็กๆ ห่างไม่กี่กิโลเมตรจากออฟฟิศของเขา เขามองว่าการค้นพบมดชนิดดังกล่าวย่อมมีเหตุผล เพราะแม่น้ำแคลิฟอร์เนียเคยอุดมไปด้วยป่าต้นโอ๊คเขียวชอุ่มที่ทนต่อน้ำท่วม นักธรณีวิทยาเชื่อว่าระบบนิเวศป่าริมแม่น้ำนั้นยาวนานถึง 20 ล้านปี ผู้มาตั้งรกรากจึงบันทึกว่าสถานที่แห่งนี้อุดมไปด้วยสัตว์ป่าและต้นไม้สูงใหญ่

ปัจจุบัน สองฝั่งแม่น้ำแทบไม่หลงเหลือป่าลักษณะนั้นอีกต่อไป ไม้ใหญ่ถูกแผ้วถางเพื่อนำไปใช้เป็นเชื้อเพลิง ฟาร์มมะเขือเทศ และสวนอัลมอนด์ สัตว์ป่าแทบทั้งหมดก็ไม่หลงเหลืออยู่แล้ว มีเพียงมดตัวเล็กๆ ชนิดนี้ ที่ยังคงสะท้อนอดีตของป่าริมน้ำที่เคยเขียวชอุ่ม

 


ถอดความและเรียบเรียงจาก ‘A different dimension of loss’: inside the great insect die-off’ โดย Jacob Mikanowski
ถอดความและเรียบเรียงโดย รพีพัฒน์ อิงคสิทธิ์