เรือลาดตระเวนทางน้ำ หนึ่งภารกิจป้องปรามภัยคุกคามผืนป่า อช.เขื่อนศรีนครินทร์

เรือลาดตระเวนทางน้ำ หนึ่งภารกิจป้องปรามภัยคุกคามผืนป่า อช.เขื่อนศรีนครินทร์

อุทยานแห่งชาติเขื่อนศรีนครินทร์ เป็นอุทยานฯ ที่มีความพิเศษในเรื่องของพื้นที่เป็นอย่างมาก โดยพื้นที่อุทยานแห่งชาติเขื่อนศรีนครินทร์นั้นมีพื้นที่กว่า 1,532 ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ 957,500 ไร่ มีพื้นที่ใหญ่เป็นอันดับ 4 ของประเทศ 

อย่างที่ทราบกันดีว่าอุทยานแห่งชาติเขื่อนศรีนครินทร์นั้นมีพื้นที่แบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ พื้นที่ทางบกและพื้นที่ทางน้ำ โดยพื้นที่ทางน้ำในเขตอุทยานฯ มีมากถึง 70% ของพื้นที่ทั้งหมด นอกจากนี้ในพื้นที่อุทยานฯ ยังมีชุมชนตั้งอยู่รวม 33 ชุมชน ซึ่งเป็นชุมชนตั้งอยู่บริเวณริมเขื่อนเป็นส่วนใหญ่   

เขื่อนศรีนครินทร์ที่ตั้งอยู่กลางเขตอุทยานฯ นั้น ได้เป็นทั้งปลายน้ำและต้นน้ำให้กับแม่น้ำและลำห้วยหลายสาย อาทิ ห้วยแม่ขมิ้น ห้วยขาแข้ง ห้วยแม่วง ห้วยแม่พลู เป็นต้น ทำให้ภายในอุทยานฯ นั้น มีระบบนิเวศที่อุดมสมบูรณ์และมีความหลากหลายทางชีวภาพทั้งทางบกและทางน้ำ อีกทั้งยังมีอาณาเขตติดต่อกับพื้นที่ป่าที่สำคัญอย่างเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่านเรศวรด้านตะวันตกและเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งด้วย จึงทำให้อุทยานฯ แห่งนี้มีความสำคัญต่อทั้งระบบนิเวศและชุมชน 

ภัยคุกคามโดยรอบบริเวณพื้นที่อุทยานแห่งชาติเขื่อนศรีนครินทร์ 

เมื่อมีผู้คน ย่อมนำมาซึ่งภัยคุกคามต่อธรรมชาติ ปัญหาที่เกิดขึ้นในพื้นที่อุทยานแห่งชาติเขื่อนศรีนครินทร์นั้นแบ่งออกเป็น 2 ส่วนใหญ่ ๆ คือ ปัญหาของชุมชนในพื้นที่ และปัญหาจากการท่องเที่ยว ซึ่งปัญหาที่เกิดขึ้นในพื้นที่นั้นล้วนนำไปสู่การเป็นภัยคุกคามชิ้นใหญ่ของป่าไม้ 

ส่วนแรกที่จะกล่าวถึงคือ ปัญหาจากชุมชนในพื้นที่ โดยชุมชนโดยรอบนั้นอาศัยอยู่ด้วยการพึ่งพิงกับผืนป่า จนบางครั้งมันมากเกินไปจนนำไปสู่ปัญหาต่าง ๆ ที่ตามมา อาทิ การบุกรุกป่าเพื่อต้องการที่ทำกินหรือทำการเกษตร การตัดไม้ การแปรรูปไม้ การล่าสัตว์ การทำประมง และการใช้สารเคมีในการทำการเกษตร ถึงแม้ว่ารัฐบาลจะใช้มาตรการทางกฎหมายเข้ามาดำเนินการ แต่ก็ไม่สามารถที่จะแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นได้ 

ตัวอย่างเช่น บางชุมชนที่ทำการเกษตรและมีวิถีชีวิตต้องถางไร่เพื่อทำการเกษตรทุกช่วงฤดูแล้ง ทำให้พื้นที่ป่าถูกทำลายและลดลงไปเรื่อย ๆ ตลอดจนเจ้าหน้าที่ดำเนินการจับกุมกับชุมชนที่รุกรานพื้นที่ป่า ในท้ายที่สุดจึงเกิดเป็นความขัดแย้งกันอย่างรุนแรงระหว่างเจ้าหน้าที่และชุมชน จนไม่สามารถหาข้อยุติได้ 

ถัดมาในส่วนของการท่องเที่ยว ในพื้นที่โดยรอบอุทยานเขื่อนศรีนครินทร์ได้มีการจัดตั้งที่พักอาศัยโดยรอบเขื่อนสำหรับการทำการท่องเที่ยวอยู่เป็นจำนวนมาก ซึ่งต่อมาได้นำไปสู่ปัญหาการคุกคามและบุกรุกพื้นที่เพื่อทำรีสอร์ทของนายทุนตามพื้นที่ต่าง ๆ รวมถึงการลักลอบเข้ามาล่าสัตว์ของนักท่องเที่ยวด้วย 

ปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในพื้นที่อุทยานฯ นั้นได้กลายมาเป็นภัยคุกคามอันตรายหลักต่อระบบนิเวศ ภัยคุกคามดังกล่าวได้ส่งผลกระทบโดยตรงต่อระบบนิเวศ อย่าง การลดลงของพื้นที่ป่าและการลดลงของประชากรสัตว์ป่า 

จากภัยคุกคามสู่การดำเนินการแก้ไขปัญหา 

การแก้ไขปัญหาระหว่างชุมชนและพื้นที่ดำเนินการมาโดยตลอด อย่างในปี พ.ศ. 2542 เริ่มมีการประสานงานชุมชนเพื่อสร้างความเข้าใจกับเจ้าหน้าที่อุทยานฯ จนนำไปสู่การช่วยกันแก้ปัญหาและภัยคุกคามที่เกิดขึ้นในพื้นที่อุทยานฯ ทั้งนี้เพื่อให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาและบริหารจัดการพื้นที่อนุรักษ์ได้อย่างยั่งยืน 

ต่อมา พ.ศ. 2547 กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้จัดทำโครงการการจัดการพื้นที่คุ้มครองอย่างมีส่วนร่วม หรือ โครงการจอมป่า (JoMPA) ทำให้มีการจัดทำกิจกรรมที่อาศัยความร่วมมือระหว่างชุมชนและเจ้าหน้าที่เกิดขึ้น อาทิ การสำรวจแนวเขตพื้นที่การใช้ประโยชน์ การจัดทำข้อตกลงชุมชน การสนับสนุนวิถีชีวิตตามแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง และการประชุมคณะกรรมการที่ปรึกษาอุทยานแห่งชาติเขื่อนศรีนครินทร์ หรือ PAC 

การดำเนินกิจกรรมดังกล่าวนั้นมีส่วนสำคัญอย่างมากต่อการช่วยจัดการปัญหาและภัยคุกคามที่เกิดขึ้นในบริเวณโดยรอบพื้นที่อุทยานฯ ด้วยการกำหนดขอบเขตพื้นที่ทำกิน การร่วมเดินแนวเขต และการตั้งคณะกรรมการหมู่บ้านในการกำหนดกิตกาในการใช้พื้นที่ 

การใช้เรือลาดตระเวนเพื่อการสอดส่องดูแลและลาดตระเวนพื้นที่โดยรอบอุทยานฯ 

อย่างไรก็ดี ปัญหาและภัยคุกคามต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นนั้นยังคงมีมาอยู่ตลอด และด้วยพื้นที่ของอุทยานฯ ที่เป็นพื้นที่น้ำที่มากถึง 70% ทำให้เจ้าหน้าที่มีความจำเป็นอย่างมากต่อการใช้เรือในการสอดส่องและลาดตระเวนเพื่อดูแลความสงบเรียบร้อยในพื้นที่ 

ด้วยเหตุนี้เอง มูลนิธิสืบนาคะเสถียรได้เล็งเห็นถึงปัญหาและภัยคุกคามต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น จึงได้ดำเนินการจัดหาและสนับสนุนเรือสำหรับเจ้าหน้าที่เพื่อใช้ในการลาดตระเวนทางน้ำ โดยการมอบเรือในครั้งนี้เป็นการระดมเงินกันของชมรมผู้อาวุโสสมาคมสโมสรการเคหะแห่งชาติ เนื่องในงานมุทิตาจิต 90 ปี อาจารย์รตยา จันทรเทียร

เรือดังกล่าวมีส่วนสำคัญอย่างมากต่อการเข้ามาจัดการกับภัยคุกคามที่เกิดขึ้นในอุทยานฯ เนื่องจากเรือนั้นสามารถที่จะเข้าถึงพื้นที่โดยรอบอุทยานฯ ได้ครอบคลุมและรวดเร็ว ทำให้สามารถลดปัญหาภัยคุกคาม ทั้ง การทำประมง การลักลอบตัดไม้ และการล่าสัตว์ได้มากยิ่งขึ้นด้วย 

ด้วยพื้นที่ที่มีอาณาเขตติดต่อกับเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทั้งสองแห่งทางตอนบนของพื้นที่อุทยานฯ ทำให้เรือลาดตระเวนนี้สามารถสนับสนุนในพื้นที่ตอนล่างที่เป็นปลายน้ำของทั้งสองเขตได้ด้วยเช่นกัน อาจกล่าวได้ว่า “เรือลาดตระเวนเป็นเครื่องมือที่สำคัญที่เข้ามามีส่วนในการรักษาระบบนิเวศของทั้งสามพื้นที่เอาไว้” 

ผู้เขียน

+ posts

หนุ่มน้อยผู้หลงรักความไม่สมบูรณ์แบบ ออกเดินทางเพื่อเก็บภาพความงดงามของธรรมชาติ และชอบอ่านวรรณกรรมเป็นชีวิตจิตใจ