ตรวจสอบสารปนเปื้อนโรงงานร้างเหมืองทอง ทุ่งคำ จ.เลย

ตรวจสอบสารปนเปื้อนโรงงานร้างเหมืองทอง ทุ่งคำ จ.เลย

วันที่ 29 พฤศจิกายน 2565 เวลา 09.20 น. กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด 6 หมู่บ้าน และเจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้องประกอบด้วย ผู้แทนกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ เจ้าหน้าที่กองบริหารสิ่งแวดล้อมกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ สำนักงานกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ เขต 2 อุดรธานี สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม กรมควบคุมมลพิษ สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดเลย ตัวแทน หจก.ไขนภาสตีล (ปราจีนบุรี) เจ้าหน้าที่ บริษัท เบตเตอร์ เวิลด์ กรีน

หลังจากนั้น เวลา 10.00 น. มีข้อตกลงก่อนขึ้นไปตรวจระหว่าง ชาวบ้าน หน่วยงานรัฐ และเอกชน โดยมีข้อตกลงว่า การตรวจสอบครั้งนี้ตรวจสอบให้ละเอียด ทุกขั้นตอนต้องมี ชาวบ้าน รัฐ เอกชน เป็นพยาน ทางทนายความของชาวบ้านชี้แจงว่า ตรวจตามเอกสารที่แจกให้ ซึ่งในเอกสารนั้น ระบุไว้ชัดเจน มีกี่โซน มีกี่บ่อ เช่น โซนเก็บกากแร่ โซนเก็บสารไซยาไนด์ โซนถังไซยาไนด์ เป็นต้น ที่ต้องตรวจสารเคมี ได้มีการแบ่งชุดตรวจสารเคมีออกไปสองชุด เพื่อรวดเร็วในการตรวจสอบ เพราะทางบริษัทได้พาทีมงานมาหลายชุด

จุดแรกที่ชาวบ้านชี้ให้หน่วยงานไปดูเพราะชาวบ้านห่วงกังวลว่าน้ำล้นออกมาไปสู่ไร่นาชาวบ้าน โซนเก็บน้ำสารไซยาไนด์ ด้านเจ้าหน้าที่ กพร.สั่งให้อุตสาหกรรมจังหวัดแก้ไขโดยด่วน โดยเวลาประมาณ 2 ชั่วโมง จึงทำการตรวจเก็บสารวัตถุปนเปื้อนครบทุกจุด ชาวบ้าน รัฐ เอกชน ได้ลงจากเหมืองเพื่อบันทึกรายงาน การตรวจสอบของวันนี้ ที่ประตูแดง

การลงพื้นที่ตรวจสอบครั้งนี้ ได้มีการตรวจตามโซนเก็บกากแร่ โซนเก็บสารไซยาไนด์ โซนถังไซยาไนด์ โซนตู้คอนเทนเนอร์เก็บสารอันตราย (นาดินดำ) มีการตรวจครบทุกพื้นที่ ยกเว้น โซนถังไซยาไนด์ ถังที่ 13,14 เพราะทางที่จะเดินเพื่อหย่อนที่เก็บน้ำ เหล็กบริเวณนั้นได้ขึ้นสนิม และผุพัง ทางบริษัทผู้ได้รับว่าจ้างชี้แจงว่า สองถังนี้ไม่สามารถนำน้ำออกมาได้ แต่การกำจัดจะมีวิธีเดียวกัน คือ ดูดเอาน้ำจากทุกถังออก เหมือนกัน

ทางด้านบริษัท เบตเตอร์ เวิลด์ กรีน ถามว่าทาง กพร. จะเอาตัวอย่างไปตรวจอีกหรือไม่ กพร. ชี้แจงว่ามีตัวอย่างของอันเดิมแล้ว ที่ประชุมเลยมีมติข้อตกลงว่า ให้บริษัท เบตเตอร์ เวิลด์ กรีน ไปตัวสอบเพียงผู้เดียว ด้านบริษัทชี้แจงว่า บริษัทของเราขึ้นกับกรมโรงงานอุตสาหกรรม ความแม่นยำและความชอบธรรมในการตรวจได้มาตรฐานสูง

หลังจากที่ได้ร่วมบันทึกรายงานการตรวจของวันนี้ได้มีตัวแทนของชาวบ้าน หน่วยงานรัฐ เอกชน ที่ร่วมลงมือชื่อเป็นพยาน ดังนี้ กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด 6 หมู่บ้าน ผู้แทนกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ เจ้าหน้าที่กองบริหารสิ่งแวดล้อมกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ สำนักงานกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ เขต 2 อุดรธานี สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม กรมควบคุมมลพิษ สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดเลย ตัวแทน หจก.ไขนภาสตีล (ปราจีนบุรี) เจ้าหน้าที่ บริษัท เบตเตอร์ เวิลด์ กรีน

ด้านตัวแทนชาวบ้านกล่าวว่า การลงพื้นที่ครั้งนี้เหมือนมัดมือชกให้ชาวบ้านต้องยอมรับในผลการตรวจโดยเจ้าหน้าที่รัฐโยนกันไปมา ปัดความรับผิดชอบไป โดยอ้างว่าไม่มีงบประมาณ ในการเอาไปตรวจ โดยให้พ่อค้าที่จะซื้อโรงงาน เป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายทั้งหมด ถึงแม้บริษัทที่มาตรวจสอบจะมีมาตรฐาน แต่เจ้าหน้าที่รัฐควรมีบทบาทมากกว่าเป็นแค่พยานในการตรวจสอบครั้งนี้

กระบวนการขั้นตอนก่อนที่จะมีการทำเหมืองแร่ อำนาจหน้าที่ต่างๆ ล้วนเป็นอำนาจเด็ดขาดของเจ้าหน้าที่รัฐ โดยมีการรับรองให้บริษัทเหมืองเข้ามาทำโดยชอบธรรม เหมือนเป็นเนื้อก้อนเดียวกัน ระหว่างรัฐกับบริษัท พอผลกระทบที่ตกทอดให้ชาวบ้านเดือดร้อน บริษัทประกาศล้มละลาย ชาวบ้านล้มป่วย ทำไมเจ้าหน้าที่รัฐที่มีส่วนทุกขั้นตอนในการทำเหมืองถึงปัดความรับผิดชอบ ทั้งๆที่มีอำนาจมีช่องทางที่จะตรวจสอบ โดยสามารถทำเรื่องให้กับหน่วยงานรัฐที่ทำหน้าที่เรื่องนี้โดยเฉพาะ เป็นอีกหนึ่งคำถาม และบทเรียนของเจ้าหน้าที่รัฐที่ต้องกลับไปทบทวนและปรับรูปแบบการทำงานให้สอดคล้องกับความรับผิดชอบของตัวเอง

กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด 6 หมู่บ้านรอบเหมืองแร่ทองคำ จังหวัดเลย