ชาวบ้านเขาโจด รวมตัวคัดค้านเหมืองแร่ ห่วงกระทบวิถีชีวิตคนกับป่าอนุรักษ์ 

ชาวบ้านเขาโจด รวมตัวคัดค้านเหมืองแร่ ห่วงกระทบวิถีชีวิตคนกับป่าอนุรักษ์ 

แม้สัมปทานป่าไม้ทั้งประเทศไทยจะถูกยกเลิกไปกว่า 30 ปี แล้วก็ตาม แต่ยังไม่อาจการันตีได้ว่า พื้นที่ป่าของประเทศไทยจะปราศจากภัยคุกคาม โดยเฉพาะในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ ทั้งอุทยานแห่งชาติ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ซึ่งมีทั้งกฎหมาย เจ้าหน้าที่ทำหน้าที่ดูแลอย่างเข้มงวด แต่ยังคงมีภัยคุกคามที่แอบแฝงมาอย่างเปิดเผย ภายใต้กฎหมายที่อยู่เหนือกฎหมาย ภัยคุกคามดังกล่าวนี้คือ เหมืองแร่ในเขตอนุรักษ์ 

เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2565 ชาวบ้านหมู่ที่ 4 บ้านสามหลัง – ท่าลำไย ตำบลเขาโจด อ.ศรีสวัสดิ์ จ.กาญจนบุรี กว่าร้อยคน ได้รวมตัวกันจัดเวที ณ. วัดเขาโจดมุสิการาม เพื่อแสดงเขตนารมณ์ ‘คัดค้านการขอประทานบัตรทำเหมืองแร่’ โดยคำขอประทานบัตรทำเหมืองแร่ดังกล่าว เป็นของบริษัทเขาโจดไมนิ่ง จำกัด ได้ยื่นคำขอประทานบัตรทำเหมืองแร่เฟลสปาร์ โดยได้รับการจดทะเบียนไว้เป็นคำขอที่ 3/2565 มีเนื้อที่ประมาณ 257 ไร่ 3 งาน 35 ตารางวา โดยคำขอดังกล่าวลงปิดประกาศเมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2565 

โดยพื้นที่เหมืองแร่ตามแผนที่คำขอดังกล่าว ห่างจากที่ตั้งชุมชนประมาณ 1 กิโลเมตร มีสภาพพื้นที่มีลักษณะเป็นที่ราบเนินเขา มีความสูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 100 เมตร ประเภทป่าเบญจพรรณ รอบพื้นที่ป่าเป็นพื้นที่เกษตรกรรมของชาวบ้านจำนวน 22 แปลง และตามแผนคำขอดังกล่าวทางด้านทิศเหนือมีพื้นที่เข้าอยู่ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระ และเขตพื้นที่เตรียมการประกาศเพื่อผนวกเป็นส่วนหนึ่งของอุทยานแห่งชาติเฉลิมรัตนโกสินทร์ซึ่งอยู่ทางด้านทิศใต้  โดยพื้นที่ดังกล่าวนอกจากชาวบ้านจะใช้เพื่อการเกษตรกรรมแล้ว ยังมีป่าที่สมบูรณ์ที่ชาวบ้านใช้เก็บของป่า หาหน่อไม้เพื่อดำรงชีวิต

การรวมตัวจัดเวทีในครั้งนี้ ชาวบ้านมีความกังวลเกี่ยวกับการเข้ามาของเหมืองแร่ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตทั้งแรงสั่นสะเทือนของเสียงที่จะเกิดขึ้น มลพิษฝุ่น ควัน และที่สำคัญพื้นที่การทำเหมืองแร่จะส่งกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อทรัพยากรธรรมชาติในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระ และพื้นที่เตรียมประกาศเพื่อผนวกเป็นส่วนหนึ่งของอุทยานฯ เฉลิมรัตนโกสินทร์ ซึ่งเป็นพื้นที่ป่าต้นน้ำลำธารและที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่า รวมทั้งเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่สำคัญในพื้นที่ตำบลเขาโจด

โดยในเวทีมีการให้ข้อมูลให้ความรู้กับชาวบ้านเกี่ยวกับขั้นตอน กระบวนการในการขอประทานบัตรเหมืองแร่ เพื่อลดความวิตกกังวลของชาวบ้าน โดยนายฉัตรชัย สวัสดิ์วนาทร กำนันตำบลเขาโจด ซึ่งเป็นแกนนำของชุมชนได้กล่าวว่า “พื้นที่ขอประทานบัตรเหมืองแร่อยู่ในหมู่ที่ 4 พี่น้องประชาชนพอรู้ข่าวว่าจะมีการทำเหมืองแร่ในพื้นที่ บางคนถึงกับกินไม่ได้นอนไม่หลับ กลัวแรงระเบิด แรงสั่นสะเทือนจากเหมืองแร่ ในฐานะกำนัน ผมได้บอกกับลูกบ้านว่าไม่ต้องกลัว เราจะคัดค้านการทำเหมืองแร่ ทุกกระบวนการและทุกขั้นตอนเพื่อรักษาป่าไว้ หากชาวบ้านยืนยันการคัดค้านเหมืองแร่ก็ไม่สามารถเกิดขึ้นได้”  และนายสุนทร อินทรกุลสมาชิกสภาเทศบาลตำบลเขาโจดซึ่งได้กล่าวว่า “วันนี้พ่อ แม่ พี่ น้อง หมู่ที่ 4 ที่มารวมตัวกันเพื่อคัดค้านการขอประทานบัตรเหมืองแร่ ตามความรู้สึกของผมชาวบ้านคงไม่ยินยอมให้มีการทำเหมืองแร่อย่างแน่นอน ซึ่งหากเหมืองแร่จะเกิดขึ้น เรายินยอมให้เป็นพื้นที่ของอุทยาน ฯ ดีกว่า เพราะทุกวันนี้เราก็ได้อยู่กับป่า อยู่ในพื้นที่อุทยานฯ เราก็หากินได้ตามวิถีชีวิตของเรา”

ข้อสรุปจากเวทีดังกล่าวชาวบ้านหมู่ที่ 4 บ้านสามหลัง – ท่าลำไย ได้มีมติเป็นเอกฉันท์ “คัดค้านการขอประทานบัตรทำเหมืองแร่เฟลสปาร์ ในเขตพื้นที่หมู่ 4 ของบริษัทเขาโจดไทมิ่ง ตามคำขอที่ 3/2565”  และจะดำเนินการยื่นหนังสือคัดค้านภายใน 30 วัน ต่อกลุ่มอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดกาญจนบุรี และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตามกระบวนการและขั้นตอนของกฎหมายต่อไป

ผู้เขียน

+ posts

กองบรรณาธิการ ฝ่ายสื่อสารองค์กรมูลนิธิสืบนาคะเสถียร และโปรดิวเซอร์รายการ Seub Talk