นกกะรางหัวขวาน ที่ดูเหมือนว่ากำลังสวมหมวกของชนพื้นเมืองอินเดียนแดงอยู่

นกกะรางหัวขวาน ที่ดูเหมือนว่ากำลังสวมหมวกของชนพื้นเมืองอินเดียนแดงอยู่

นกกะรางหัวขวาน (Eurasian Hoopoe) มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Upupa epops เป็นนกประจำถิ่น (Resident) สามารถพบเห็นได้ทั่วประเทศไทยและพบได้ตลอดทั้งปี และเป็นนกชนิดเดียวของวงศ์ Upupidae ที่ยังหลงเหลืออยู่

นกกะรางหัวขวาน มีลักษณะเด่นอยู่ที่หัวคือมี ‘หงอน’ ปลายหงอนมีสีดำ เมื่อกางออกในแนวตั้งมีลักษณะคล้ายพัด และคล้ายกับหมวกของชนพื้นเมืองอินเดียนแดง นกกะรางหัวขวานมีปากเรียวยาวโค้ง ลำตัวสีส้มแกมน้ำตาลมีลายขวางสีน้ำตาลอ่อน ปีก หลัง และหางสีดำสลับขาว ท้องด้านล่างและขนคลุมใต้หางสีขาว และมีลักษณะเหมือนกันทั้งตัวผู้และตัวเมีย แต่ตัวเมียจะมีขนาดเล็กกว่า และสีจางกว่าตัวผู้เล็กน้อย นกกะรางหัวขวานจะมีเสียงร้อง ฮุป-ฮุป-ฮุป โทนทุ้มต่ำ ซึ่งฟังดูอาจคล้ายกับเสียงนกระวังไพรปากเหลือง 

ด้วยลักษณะปากที่เรียวยาวโค้งของนกกะรางหัวขวานนั้น ทำให้พวกมันสามารถกินแมลงที่อยู่ใต้ดิน หรือตามพื้นผิวดินได้ โดยอาหารหลักของนกกะรางหัวขวาน คือ แมลง สัตว์เลื้อยคลานขนาดเล็ก รวมถึงกบตัวเล็ก ๆ นกกะรางหัวขวานเป็นสัตว์ที่หากินตัวเดียวและหากินตามพื้นดิน น้อยครั้งนักที่พวกมันจะโฉบกินแมลงเหมือนนกชนิดอื่น ๆ สามารถพบเห็นนกชนิดนี้ได้ตามทุ่งโล่ง ป่าเบญจพรรณ ป่าละเมาะ และพื้นที่เกษตรกรรม

โดยนกกะรางหัวขวานจะมีพฤติกรรมการหาอาหาร (Foraging behavior) คือ มันจะเดินหาอาหารตามพื้นที่เปิดโล่ง และหยุดเป็นระยะ ๆ เพื่อเขี่ยหรือขุดหาแมลงและหนอนตามพื้นดิน โดยใช้ปากที่เรียวยาวเจาะไปที่ดินบริเวณนั้น เมื่อเจอเป้าหมายที่ต้องการมันจะใช้ปากและเท้าที่แข็งแรง ขุดและดึงอาหารนั้นออกมา เหยื่อที่มีขนาดใหญ่กว่าปากของมันจะถูกฟาดลงกับพื้นหรือหินเพื่อให้เหยื่อสลบ และเป็นการสลัดชิ้นส่วนที่ไม่สามารถย่อยได้ เช่น ขา ออกไปก่อน บางครั้งมันสามารถใช้ปากเพื่องัดก้อนหินและลอกเปลือกไม้ เพื่อหาแมลงที่อยู่ใต้นั้นออกมากินเป็นอาหารได้ 

นกกะรางหัวขวาน มีคู่ผสมพันธุ์เพียงตัวเดียว (Monogamy) แม้ว่าจะจับคู่ตัวเดิมเพียงฤดูกาลเดียวเท่านั้น เมื่อถึงช่วงฤดูผสมพันธุ์ ตัวผู้จะส่งเสียงร้องถี่เพื่อประกาศอาณาเขตของตนเอง และมีการต่อสู้โดยใช้ปากที่เรียวยาวโค้งเป็นอาวุธคู่ใจ ฝ่ายใดชนะก็ได้ครอบครองตัวเมียนั้นไป

นกกะรางหัวขวาน ทำรังในซอกไม้หรือซอกกำแพงเก่า ๆ รังถูกสร้างด้วยฟางและเศษขน และปิดปากทางเข้าให้แคบเพื่อป้องกันศัตรู นกกะรางหัวขวานวางไข่ครั้งละ 4-6 ฟอง ไข่สีฟ้าซีด ตัวเมียทำหน้าที่กกไข่ ส่วนตัวผู้จะหาอาหารเพื่อนำมาป้อนตัวเมียและลูก ๆ ภายในรัง

ขณะที่แม่นกกกลูกนกอยู่ในรัง ต่อมน้ำมัน (uropygial gland) ของแม่นกจะพัฒนาให้สามารถผลิตของเหลวที่มีกลิ่นเหม็นออกมาได้ เพื่อป้องกันศัตรู ยับยั้งปรสิต และอาจทำหน้าที่เป็นสารต้านแบคทีเรีย ต่อมจะหยุดผลิตน้ำมันก่อนที่ลูกนกจะออกจากรัง

ปัจจุบันนกกะรางหัวขวานมีความสำคัญระดับสากล คือ เป็นนกประจำชาติของประเทศอิสราเอล และในประเทศไทย เป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง ตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 และนกกะรางหัวขวานยังปรากฏอยู่บนโลโก้ของเขตห้ามล่าสัตว์ป่าอ่างเก็บน้ำบางพระอีกด้วย

อ้างอิง 

ผู้เขียน

+ posts

สาวแว่นทาสแมวที่ชอบบอกเล่าเรื่องราวผ่านลายเส้น มีธรรมชาติช่วยฮีลใจ และหลงใหลในพระจันทร์เสี้ยว