การอยู่รอดของหมีขาว ในยุคน้ำแข็งละลาย

การอยู่รอดของหมีขาว ในยุคน้ำแข็งละลาย

“ไข่ห่าน 60 ฟอง ลูกห่าน 53 ตัว ห่าน 63 ตัว ลูกกวางคาริบู 3 ตัว และกวางคาริบูโตเต็มที่ 3 ตัว” นี่อาจเป็นเมนูอาหารสำหรับฤดูร้อนของหมีขั้วโลกในขณะที่ถูกบังคับให้ออกจากผืนน้ำแข็งเพื่อมาอยู่อาศัยบนผืนดิน

Linda J. Gormezano นักชีววิทยาประจำพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ธรรรมชาติอเมริกันในรัฐนิวยอร์ก ได้พยายามค้นคว้าว่าเจ้าหมีขั้วโลกจะต้องกินอะไรเพื่ออยู่รอดในยุคสมัยที่นับวันจะมีฤดูกาลที่ผืนน้ำแข็งละลายจนไม่สามารถอยู่อาศัยได้ในอ่าวฮัดสัน (Hudson Bay) ฝั่งตะวันตกของแคนาดา

การคำนวณของเธอสรุปว่า เจ้านักล่าแห่งขั้วโลกอาจสามารถอยู่รอดได้เป็นระยะเวลา 6 เดือนโดยอาศัยอาหารบนผืนดินเป็นหลัก เรียกว่าต้องปรับวิถีชีวิตเพื่อให้เข้ากับยุคการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

นักวิทยาศาสตร์คนอื่นยังร่วมแสดงความเห็นว่า การที่น้ำแข็งในทะเลลดลงเนื่องจากอุณหภูมิที่สูงขึ้นและจำนวนแมวน้ำซึ่งเป็นอาหารหลักลดลงอย่างรวดเร็วในอาร์กติก อาจทำให้เจ้าหมีขั้วโลกสูญพันธุ์ในปี พ.ศ. 2563

จำนวนประชากรของหมีขาวที่อาศัยในบริเวณอ่าวฮัดสันมีน้อยกว่าหนึ่งพันตัว ในขณะที่ประชากรหมีขาวทั่วโลกมีอยู่ราว 25,000 ชีวิต แต่หมีที่อ่าวฮัดสันมีความสำคัญคือเป็นพื้นที่เดียวที่เจ้าหมีขั้วโลกปรากฎตัวให้เห็นไม่ยากนัก

พวกมันจะอาศัยบนผืนน้ำแข็งจนกระทั่งเริ่มละลายแล้วจึงอพยพมายังผืนแผ่นดิน และในระหว่างที่พวกมันอยู่บนผืนดินนั้น นักท่องเที่ยวจะเดินทางมายัง เมืองเชอร์ชิล (Churchill) เมนิโตบา (Manitoba) เพื่อไปชมเจ้าหมีขั้วโลกตามธรรมชาติ

 

แต่เดิมนั้น เราเข้าใจว่าหมีขั้วโลกจะไม่กินอาหารในขณะที่อาศัยบนผืนดิน และพวกมันมักจะหลับเพื่อรักษาพลังงานจนกระทั่งเข้าสู่ฤดูหนาวอีกครั้ง และเดินทางกลับไปยังผืนน้ำแข็ง แต่เพราะอากาศที่อุ่นขึ้นทำให้ผืนน้ำแข็งละลายเร็วกว่าแต่ก่อน ทำให้ในปัจจุบัน หมีขั้วโลกจะอพยพมาอยู่บนผืนดินก่อนสถิติที่พบในปี พ.ศ. 2523 ราว 3 สัปดาห์ และภายในปี พ.ศ. 2603 อ่าวฮัดสันจะไม่มีน้ำแข็งเป็นระยะเวลาถึง 6 เดือน

 

ในปี พ.ศ. 2553 นักนิเวศวิทยา Peter Molnar และทีมนักวิจัยได้ร่วมกันศึกษาความต้องการพลังงานของหมีขาว ซึ่งได้ผลสรุปว่าหากหมีขาวอยู่อาศัยโดยไม่ได้กินอาหารภายใน 6 เดือนจะทำให้ประชากรเพศผู้ตายละราว 28 ถึง 48 เปอร์เซ็นต์ และในอัตราการตายดังกล่าว หมีขาวย่อมสูญพันธุ์

แต่การวิเคราะห์ดังกล่าวได้มีข้อสมมติฐานว่าหมีขาวจะไม่กินอะไรเลยในระหว่างอยู่บนผืนดิน ซึ่ง Linda J. Gormezano อธิบายว่านี่ไม่เป็นความจริง

หากเจ้าหมีขาวตัวอ้วนท้วนเดินทางมายังชายฝั่งในช่วงเดือนพฤษภาคม ปี พ.ศ. 2603 Gormezano คาดว่าพวกมันจะสามารถรักษาพลังงานเอาไว้ได้โดยการกินไข่ห่าน รวมทั้งล่ากวางคาริบูที่ยังไม่โตเต็มที่ ส่วนหมีขั้วโลกตัวผู้ที่อ่อนแออาจจำเป็นต้องได้รับสารอาหารตามเมนูที่เขียนไว้ข้างต้นเพื่อให้สามารถเอาชีวิตรอดใน 6 เดือนที่ไม่ได้อยู่บนผืนน้ำแข็ง

แต่ก็ยังมีคำถามที่ไม่ได้รับคำตอบคือ มันคุ้มค่าหรือไม่กับพลังงานที่เสียไปเพื่อการล่าห่านหรือกวางคาริบูเมื่อเปรียบเทียบกับปริมาณแคลอรีที่ได้รับจากเหยื่อ ถ้าหากมันคุ้มค่า อนาคตของหมีขาวก็คงสดใสเพราะอ่าวฮัดสันปัจจุบันยังคงมีห่านและกวางคาริบูจำนวนมาก

“มันยังมีความเป็นไปได้ในการป้องกันหมีขาวจากสภาวะอดอยากตามที่ Peter Molnar คาดการณ์ไว้ แต่มันก็ขึ้นอยู่กับว่าพลังงานที่ใช้ในการล่าอาหารมันคุ้มค่าหรือไม่”Linda J. Gormezano กล่าว

ในขณะที่ Peter Molnar ยังคงตั้งคำถามกับงานวิจัยของ Gormezano โดยพิจารณาจากแนวโน้มของประชากรหมีขั้วโลก “เพราะในระหว่างปี พ.ศ. 2538 ถึง พ.ศ.2548 ประชากรหมีขาวนั้นลดลงอย่างมาก และเราก็รู้ดีว่าสภาพร่างกายของพวกมันแย่ลงเรื่อยๆ และอดอยากมากขึ้น คำถามจึงไม่ใช่ว่า พวกมันจะสามารถอยู่รอดด้วยอาหารบนผืนดินหรือไม่ แต่คำถามจริงๆ ก็คือ ทำไมพวกหมีขาวจึงไม่กินอาหารอย่างเพียงพอเพื่อป้องกันการลดจำนวนลงของประชากร”

 


ถอดความจาก As Sea Ice Shrinks, Can Polar Bears Survive on Land?โดยEmma Marris เข้าถึงได้ที่http://news.nationalgeographic.com/news/2014/07/140717-polar-bears-goose-eggs-global-warming-arctic-environment/
ถอดความโดย รพีพัฒน์ อิงคสิทธิ์