กาญจนบุรี สร้าง Roadmap เดินหน้าแก้ไขปัญหาช้างป่าในพื้นที่ 5 อำเภอ 

กาญจนบุรี สร้าง Roadmap เดินหน้าแก้ไขปัญหาช้างป่าในพื้นที่ 5 อำเภอ 

ต่อเนื่องจากการประชุมประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อจัดทำแผนการจัดการช้างเชิงบูรณาการภาคตะวันตกอย่างยั่งยืน ขับเคลื่อนประชาชน ประสานรัฐเพื่อจัดการช้างป่าอย่างยั่งยืน” ณ ห้องประชุมเคียงธารา เขื่อนศรีนครินทร์ จังหวัดกาญจนบุรี ระหว่างวันที่ 19-20 กันยายน 2565 ซึ่งได้ข้อเสนอเชิงนโยบายที่ประชุมได้มีข้อเสนอเป็นวาระเร่งด่วน ดังนี้ 1. อบรมให้ความรู้เรื่องเฝ้าระวังช้างป่าให้กับเครือข่ายประชาชน 2. จัดตั้งคณะทำงานระดับพื้นที่จังหวัด 3. นโยบายในการเยียวยา มีหลักเกณฑ์เฉพาะในการเยียวยา

และเมื่อวันที่ วันพฤหัสบดีที่ 15 ธันวาคม 2565 ณ ห้องประชุมชั้น 4 องค์กรบริหารส่วนจังหวัดกาญจนบุรี คณะกรรมการสิทธิมนุษยชน ร่วมกับหน่วยงานในจังกาญจนบุรี ได้จัดเวทีประชุมประชุมหารือเพื่อจัดทำข้อเสนอแนะแนวทางการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนต่อประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาช้างป่า

โดยการประชุมครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเสนอเชิงนโยบายเต่อที่ประชุมในระดับจังหวัด และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อผลักดันข้อเสนอให้เกิดรูปธรรมในการแก้ไขปัญหาออกนอกพื้นที่จังหวัดกาญจนบุรี มีตัวแทนหน่วยงานภาครัฐ ผู้แทนสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 3 บ้านโป่ง หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระ สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดกาญจนบุรี, องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น องค์การ Panthera มูลนิธิ FREELAND สมาคมสัตววิทยาแห่งลอนดอน (ZSL) สถาบันชุมชนเพื่อการอนุสัตว์ป่า องค์กร Ourland มูลนิธิสืบนาคะเสถียร สถาบันศรัทธาภัฎ โดยนางสาวศยามล ไกยูรวงศ์ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชน นายไพโรจน์ พลเพชร ที่ปรึกษาคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และนาย นายกองเอก พงศธร ศิริสาคร ทำหน้าที่เป็นประธานในที่ประชุม

นางสาวศยามล ไกยูรวงศ์ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชน (ผู้ดำเนินรายการ) ได้กล่าวแนะนำตัว และกล่าวว่า การประชุมครั้งนี้เป็นการประชุมร่วมกับผู้ว่าราชการจังหวัดกาญจนบุรี และจังหวัดเพชรบุรี เกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาช้างป่า โดยเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมด้วย เช่น สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ และหัวหน้าอุทยานฯ อันที่จริงก่อนหน้านี้ทางคณะกรรมการสิทธิฯ ได้มีการจัดประชุมเพื่อรวบรวมข้อมูล ข้อเสนอแนะจากภาคประชาชน เช่น กรณีการชดเชยค่าเสียหาย เรื่องเกณฑ์การจ่ายเงินเยียวยา ซึ่งบทบาทหน้าที่ของของ กสม. คือการจัดประชุมและรวบรวมข้อเสนอแนะเชิงนโยบายภาคประชาชน ซึ่งถือว่าเป็นมิติของการส่งเสริมสิทธิมนุษยชน   

นายกองเอก พงศธร ศิริสาคร รองผู้ว่าราชการจังหวัดกาญจนบุรี ได้กล่าวว่า ปัญหาช้างป่าในพื้นที่จังหวัดกาญจนบุรี ได้ถูกหยิบยกให้อยู่ในโครงการ “ขับเคลื่อนไทยไปด้วยกัน” ซึ่งหากมองว่าทำอย่างไร คนจะอยู่ร่วมกับช้างป่าได้ ซึ่งการอยู่ร่วมกันอาจจะต้องมีเรื่องกระทบกระทั่งกัน หากพืชผลเสียหายทำอย่างไรชุมชนถึงจะเยียวยาได้สมเหตุสมผล และอยู่บนพื้นฐานความเท่าเทียมระหว่างคนกับช้างป่า 

ปัญหาช้างป่าจังหวัดกาญจนบุรีไม่ได้เป็นปัญหาระดับประเทศ ที่ผ่านมาเราพยายามดึงภาคเอกชนทั้ง SCG โรงงานน้ำตาล ซึ่งน่าจะเป็นเรื่องที่แก้ไขปัญหาที่เร็วที่สุด จากการรับฟังปัญหาช้างป่าที่ผ่านมา พบว่าควรเอาความจริง ข้อมูลจริงมาหารือกัน ซึ่งที่ผ่านมาเราได้หารือกับหลายองค์กร เช่น มูลนิธิสืบฯ ในการอบรมเพื่อช่วยชุมชนในการอนุรักษ์ ปัจจุบันต้องยอมรับว่า ช้างในพื้นที่จังหวัดกาญจนบุรีคือ ห่วงโซ่สูงสุด ทำอย่างไรจะควบคุมประชากรช้างป่าอย่างมีมนุษยธรรม ซึ่งการประชุมในวันนี้เราอาจจะต้องตั้งคณะกรรมการแก้ไขปัญหาช้างป่าในพื้นที่จังหวัดกาญจนบุรีขึ้น ซึ่งอาจจะเป็นความร่วมมือระหว่างทาง ทสจ. กับ ปภ. เพื่อติดตามแก้ไขปัญหาผลกระทบจากช้างป่าที่เกิดขึ้นต่อไป

จากนั้นผู้ดำเนินรายการได้ให้ที่ประชุมได้แลกเปลี่ยนสถานการณ์ ช้างป่า รวมทั้งการจัดการช้างป่าในพื้นที่จังหวัดเลยเพื่อแลกเปลี่ยนข้อ ดังนี้ 

นายชัยธวัช เนียมศิริ (อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดเลย) ได้กล่าวว่าเสนอแนะแนวทางประสบการณ์ การแก้ไขปัญหาช้างป่าออกนอกพื้นที่จังหวัดเลย โดยแบ่งออกเป็น 3 ระยะ ได้แก่  

ระยะสั้น เป็นการช่วยเหลือเยียวยาในเบื้องต้น ต้องรวดเร็วและไม่ทำให้ชาวบ้านรู้สึกเหมือนโดนทอดทิ้ง การแก้ไขปัญหาไม่สามารถแก้ไขได้เฉพาะพื้นที่เท่านั้น ส่วนกลางต้องมีบทบาทในการช่วยเหลือ 

ระยะกลาง เป็นการปรับพฤติกรรมของคนในพื้นที่ เช่น การปรับเปลี่ยนการปลูกพืช

ระยะยาว มาตรการต่างๆ เช่น การสร้างรั้ว การสร้างกำแพงกั้นข้างทาง เป็นต้น ซึ่งทั้งภาคประชาชน ภาคราชการ และองค์กรต่างๆ ต้องมีการแบ่งหน้าที่ให้ชัดเจนและร่วมมือกันในการแก้ไขปัญหา 

จากนั้นนายจิรชัย อาคะจักร (หัวหน้าสถานีวิจัยภูหลวง) ได้กล่าวถึงกรณีศึกษาการแก้ไขปัญหาของสถานีวิจัยภูหลวง จ.เลย ซึ่งจากการศึกษาพฤติกรรมของช้างมีการเปลี่ยนไปจากเดิม เมื่อก่อนช้างไม่กินพืชพรรณของชาวบ้านแต่เมื่อเริ่มมีโรงงานน้ำตาลเข้ามา มีการปลูกอ้อยในพื้นที่ ทำให้พฤติกรรมของช้างเปลี่ยนไปกินพืชผลของชาวบ้าน ทางสถานีมีการเก็บรวบรวมข้อมูลพฤติกรรมการเคลื่อนย้าย การกินอาหารของช้าง เพื่อเป็นข้อมูลในการเฝ้าระวังและมีการแก้ไขปัญหาช้าง

จากนั้นทางสถาบันชุมชนเพื่อการอนุสัตว์ป่า องค์กร Ourland โดยนายวิโจ ได้กล่าวถึงกรณีอุบัติเหตุรถชนช้างในพื้นที่ ต.ช่องสะเดา อ.เมือง ซึ่งอยู่ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระ ซึ่งจากการเก็บรวมรวบข้อมูลระยะเวลา 1 ปี  พบว่าจากเส้นทางวังด้งถึงช่องสะเดา พบว่ามี 7 เหตุการณ์ ยังไม่มีการเสียชีวิตของคน แต่มีการเสียชีวิตของช้าง แนวทางในการแก้ไขปัญหาช้างถูกรถชนมีดังนี้ 1. มีการติดตั้ง speed trap จำกัดความเร็วของรถ 2. ลดความเร็วของรถ 3. เคลียร์เส้นทางที่อยู่ข้างถนน และ 4. เก็บข้อมูลช่วงเวลาที่ช้างออกหากิน

จากนั้นสมาคมสัตววิทยาแห่งลอนดอน (ZSL) โดยพิเชษฐ นุ่นโต จากเครือข่ายเสียงคนเสียงช้างป่า ได้กล่าวว่า จากการแก้ไขปัญหาช้างป่าโดยการใช้ชาวบ้านเปลี่ยนไปปลูกพืชผลที่ช้างไม่กินพบว่า ยังไม่มีการสนับสนุนผลิตผลที่ทางชาวบ้านปรับเปลี่ยนในการปลูกเท่าที่ควร ส่งผลให้พืชผลขายไม่ได้เพราะไม่ตรงกับความต้องการของตลาด แนวทางการแก้ไขปัญหาช้างป่าออกนอกพื้นที่ควรมี ระบบเตือนภัย รั้วไฟฟ้า มีการเก็บข้อมูลช่วงเวลาช้างเดินผ่าน ซึ่งจะช่วยในเรื่องของความปลอดภัย การติดตั้งไฟสปอร์ตไลท์ก็สามารถช่วยในการหักเหการเดินทางของช้างได้ ช่วยไม่ให้ช้างเดินไปในเส้นทางของชาวบ้าน ควรมีการศึกษาพื้นที่ไหนมีการปรับเปลี่ยนพืชอะไรไปบ้างที่ช้างไม่เข้าไปกิน มีการปรับเปลี่ยนการเฝ้าระวังไม่ให้เกิดความรุนแรง ลดการปะทะกัน ปรับปรุงแหล่งที่อยู่อาศัยของช้างป่าโดยการสร้างแหล่งอาหารหรือโป่ง และร่วมกันวางแผนติดตามทำการประเมินผล

ผู้แทนจากองค์การ Panthera ประเทศไทยได้กล่าวว่า ชาวบ้านต้องการเวทีการพูดคุยอย่างต่อเนื่องและการสร้างอาชีพทางเลือก การให้ปรับเปลี่ยนพืชแต่ไม่มีตลาดรองรับเท่าที่ควร รวมทั้งการส่งสัญญาณเตือนช้างป่ายังไม่มีมาตรฐาน ชาวบ้านยังต้องแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าด้วยตนเอง

นายมานะ เพิ่มพูล ผู้อำนวยการส่วนอนุรักษ์สัตว์ป่า สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 3 (บ้านโป่ง) ได้กล่าวว่า ทางหน่วยงานมีการเก็บข้อมูลรอบวงเดินของช้างเป็นประจำ มีการจัดตั้งชุดผลักดันและใช้กล้องในการติดตามเฝ้าระวังช้างป่า สร้างแนวป้องกันช้างป่า เพิ่มแหล่งน้ำพัฒนาแหล่งที่อยู่อาศัย และแหล่งอาหารในป่า สร้างเครือข่ายภาคประชาชนดูแลสัตว์ป่าออกนอกพื้นที่ ติดตั้งไฟเฉพาะบริเวณที่มีอุบัติเหตุบ่อยครั้งหรือบริเวณที่มีช้างอยู่  เพิ่มการสื่อสารให้ชาวบ้าน เข้าไปฟื้นฟูซ่อมแซมให้กับผู้เสียหายและมีการทำแผนร่วมกัน  

จากนั้น นายวสันต์ สุนจิรัตน์ กำนัน ต.ช่องสะเดา อ.เมือง จ.กาญจนบุรี (ที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการการแก้ไขปัญหาช้างป่า ภาคตะวันตก) ได้กล่าวว่า ผู้ได้รับผลกระทบเกิดมาจากการมีจำนวนช้างเพิ่มมากขึ้น อยากให้มีการทำแนวป้องกัน และให้มีการเยียวยาตามความเป็นจริง มีการตั้งงบให้เจ้าหน้าที่เฝ้าระวัง ให้มีการทำแปลงศึกษาพืชอะไรที่สามารถป้องกันช้างมารบกวน และต้องมีตลาดรองรับ การจัดตั้งคณะกรรมการจังหวัดต้องไปประชุมในพื้นที่จริง

ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายตามวาระเร่งด่วน โดยนายปราโมทย์ ศรีใย จากมูลนิธิสืบนาคะเสถียร ผู้แทนเครือข่ายภาคประชาชน ได้กล่าวว่า ด้านสถานการณ์ช้างป่าในพื้นที่จังหวัดกาญจนบุรี ประเมินสถานการณ์ระหว่างคนกับช้างป่าอย่างรวดเร็ว (Rapid Human-Elephant Situation Assessment: RHSA) พบว่า ในจังหวัดกาญจนบุรี มีการกระจายตัวของช้างป่า จำนวน 5 พื้นที่ อันได้แก่ ทองผาภูมิตอนบน,ทองผาภูมิ-ไทรโยค ตอนล่าง พื้นที่อำเภอเมือง ต.ช่องสะเดา, อ.ศรีสวัสดิ์ , อำเภอบ่อพลอย

จากนั้นได้นำเสนอแนะเชิงนโยบายตามวาระเร่งด่วนของภาคประชาชนในการแก้ไขปัญหาช้างดังนี้ 1. อบรมให้ความรู้เรื่องเฝ้าระวังช้างป่าให้กับเครือข่ายประชาชน 2. จัดตั้งคณะทำงานระดับพื้นที่จังหวัด 3. นโยบายในการเยียวยา มีหลักเกณฑ์เฉพาะในการเยียวยา

จากนั้นได้นำเสนอ โรดแมพ (Roadmap) การจัดการช้าง ตามแผนการจัดการช้างป่าภาคประชาชน จังหวัดกาญจนบุรีซึ่งแผนขั้นตอนในการดำเนินการต่อจากนี้

1. จัดตั้งคณะกรรมการการจัดการช้างป่าระดับจังหวัด และระดับพื้นที่ : จัดตั้งคณะทำงานที่ประกอบไปด้วยภาครัฐ ภาคประชาสังคม ภาคเอกชน และองค์กรด้านสิทธิมนุษยชน ให้เกิดกลไกการทำงานและติดตามผลการทำงานร่วมกัน โดยมีทั้งคณะทำงานทั้งในระดับจังหวัดและระดับพื้นที่ และระบุกลุ่มเครือข่ายชุมชนที่สามารถร่วมเป็นผู้ติดตาม

2. อบรมให้ความรู้ และสร้างพื้นที่เรียนรู้ให้กับคณะทำงานและเครือข่ายชุมชน : ให้ความรู้เรื่องช้าง การเฝ้าระวังที่ปลอดภัยทั้งคนและช้าง ไม่ใช้ความรุนแรง ความรู้เรื่องการเข้าถึงการเยียวยา และหลักเกณฑ์เพื่อการชดเชยพืชผลทางการเกษตร ฯลฯ

3. การจัดทำแผน ดำเนินการและติดตามร่วมผ่านการวิจัย บริหารจัดการ และพัฒนาร่วมกัน : การพัฒนาเครือข่าย อบรม พร้อมไปกับการจัดทำแผนระดับพื้นที่ เพื่อให้เกิดการทำงาน ดำเนินการติดตามร่วม ผ่านผลความสำเร็จ และผลการติดตามช้างร่วมกันเป็นเครือข่าย

4. พัฒนาโครงสร้างป้องกัน ปรับเปลี่ยนนโยบายข้อกฎหมายการชดเชยเยียวยา และกฎหมายที่สนับสนุนการบริหารจัดการร่วม : พัฒนาปรับปรุงโครงสร้างป้องกันอย่างมีส่วนร่วมในจุดที่มีความจำเป็น และสนับสนุนการปรับเปลี่ยนนโยบายข้อกฎหมายการเยียวยา และการจัดการที่ส่งเสริมการมีส่วนร่วม

ซึ่งจากข้อเสนอวาระเร่งด่วน และโรดแมพ (Roadmap) การจัดการช้าง ตามแผนการจัดการช้างป่าภาคประชาชน จังหวัดกาญจนบุรี ทางคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนจะทำหนังสือถึงผู้ว่าราชการจังหวัดอีกครั้ง เพื่อดำเนินการให้เป็นรูปธรรมต่อไป