สรุปคดี ‘วิน โพรเสส’ กับ ปัญหามลพิษที่ยืดเยื้อมานานกว่าทศวรรษ

สรุปคดี ‘วิน โพรเสส’ กับ ปัญหามลพิษที่ยืดเยื้อมานานกว่าทศวรรษ

คดี ‘วิน โพรเสส’ มหากาพย์การต่อสู้ของภาคประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากปัญหามลพิษปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อมที่กินเวลายาวนานกว่าทศวรรษ ได้เดินทางมาถึงบทสรุปของเรื่องราวทั้งหมดแล้ว 

จุดเริ่มต้นของความขัดแย้งระหว่าง ‘ชาวหนองพะวา – วิน โพรเสส’ 

จุดเริ่มต้นของคดีวิน โพรเสส เริ่มมาตั้งแต่ปี 2553 ที่มีชาวบ้านหนองพะวา จ.ระยอง คัดค้านและยื่นเรื่องร้องเรียนกับ บริษัท วิน โพรเสส จำกัด ที่ได้เริ่มทำกิจการในปีดังกล่าว โดยการซื้อที่ดินต่อมาจากเอกชน 

ซึ่งปัญหาที่เกิดขึ้นจนทำให้ชาวบ้านต้องออกมาคัดค้าน คือ โรงงานของบริษัทฯ ได้คัดแยกและฝังกลบสิ่งปฏิกูล รวมถึงวัสดุภัณฑ์ที่ไม่ได้ใช้แล้ว ด้วยเหตุนี้ชาวบ้านในพื้นที่ที่กังวลถึงผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นกับสิ่งแวดล้อมและความเป็นอยู่ของประชาชน จึงได้ร่วมกันเริ่มต่อต้านและคัดค้านกับการกระทำดังกล่าว 

วันที่ 15 ก.พ. 2555 ประชาชนในพื้นที่ 213 ราย มีการลงคะแนนเสียงไม่เห็นด้วยจากการจัดตั้งโรงงานของบริษัทฯ และมีผู้เห็นด้วยเพียงแค่ 2 ราย กรมโรงงานอุตสาหกรรม จึงมีคำสั่งไม่ออกใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานให้แก่บริษัทฯ

ถัดมาในปี 2556 ชาวบ้านหนองพะวา ได้ร้องเรียนต่อสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดระยอง ให้เข้ามาตรวจสอบโรงงานดังกล่าวเนื่องจากบริเวณโดยรอบโรงงานมีกลิ่นเหม็นรบกวนชาวบ้านเป็นอย่างมาก ทำให้ได้มีการใช้รถแม็กโครเข้ามาขุดบริเวณโดยรอบโรงงานเพื่อตรวจสอบ พบว่ามีการขุดบ่อฝังกลบจำนวนมากถึง 3 บ่อ และพบการอัดก้อนกระดาษ ขยะต่าง ๆ รวมถึงภาชนะบรรจุน้ำมันเครื่องใช้แล้ว 

ยิ่งไปกว่านั้น ศูนย์วิจัยและพัฒนาด้านสิ่งแวดล้อมภาคตะวันออก ได้เข้ามาเก็บตัวอย่างน้ำในพื้นที่ พบไอที่ระเหยจากหลุมนั้นส่งกลิ่นเหม็นอย่างรุนแรง และมีการตรวจพบสารอินทรีย์ระเหยทั้งหมดสูงกว่า 60 ส่วนในล้านส่วน อีกทั้งยังได้ทำการตรวจน้ำจากหลุมฝังกลบจนพบว่ามี ปิโตรเลียมไฮโดรคาร์บอน (TPH) 37 มิลลิกรัม/ลิตร น้ำมัน และไขมัน 106 มิลลิกรัม/ลิตร จัดเป็นวัตถุอันตรายในลำดับที่ 50 (ของเสียผสมระหว่างน้ำมัน /น้ำ หรือไฮโดรคาร์บอน/น้ำ หรืออยู่ในรูปอิมัลชัน) ตามประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่อง บัญชีรายชื่อ วัตถุอันตราย พ.ศ. 2538 

จากปัญหามลพิษสู่การเรียกร้องของชุมชน 

จากปัญหามลพิษที่เกิดขึ้นทำให้ชาวบ้านที่ได้รับความเดือดร้อนมารวมตัวกันชุมนุมหน้าบริษัทฯ เพื่อเรียกร้องให้บริษัทฯ ออกมารับผิดชอบต่อสิ่งที่เกิดขึ้น ต่อมาทางผู้ว่าราชการจังหวัดมีคำสั่งให้บริษัทฯ ระงับการกระทำ อันเป็นการฝ่าฝืนกฎหมาย และดำเนินการขนย้ายของเสียและวัตถุอันตรายออกจากโรงงานให้เร็วที่สุด 

ในช่วงระหว่างปี 2557-2559 บริษัท วิน โพรเสสฯ ได้พยายามขอใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานอีกสองครั้ง แต่ถูกชาวบ้านคัดค้านถึงสองรอบ 

ชาวบ้านที่คัดค้านได้ให้เหตุผลว่า “บริษัทฯ ได้ดำเนินการทำกิจกรรมต่าง ๆ ทั้ง ๆ ที่ไม่มีใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานมาโดยตลอด มิหนำซ้ำยังเพิกเฉยต่อคำสั่งของรัฐอีก”  

อย่างไรก็ดีในปี 2560 กรมอุตสาหกรรมได้มอบใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานแก่บริษัทฯ เป็นจำนวน 3 ใบ และในปีเดียวกันนั้นเอง กรมโรงงานอุตสาหกรรมยังได้มอบใบอนุญาตถือครองวัตถุอันตรายจำพวกน้ำมันใช้แล้วแก่บริษัทฯ อีก 4 ใบ ทำให้โรงงานถูกเปลี่ยนสถานะเป็นโรงงานที่ถูกต้องตามกฎหมาย 

จากสถานะของโรงงานที่เปลี่ยนไป ยิ่งเป็นการสร้างความชอบธรรมให้แก่บริษัทฯ ในการทิ้งและกำจัดขยะอย่างไม่ถูกต้อง ทำให้หลังปี 2560 เป็นต้นมา ปัญหามลพิษที่หนองพะวาเริ่มรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ แหล่งน้ำรอบโรงงานส่งกลิ่นเหม็นเน่า นอกจากนี้พืชและสัตว์น้ำต่างก็ล้มตายเป็นจำนวนมาก 

ไม่เพียงแค่สิ่งแวดล้อมรอบโรงงานได้รับผลกระทบมายาวนานกว่าเกือบทศวรรษ ทว่าประชาชนเองเองก็ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากมลพิษดังกล่าว จนท้ายที่สุดประชาชนในพื้นที่ตัดสินใจยื่นฟ้องบริษัทวิน โพรเสสฯ ในวันที่ 7 มิถุนายน 2564 โดยต้องการให้ทางบริษัทฯ เยียวยาค่าเสียหายต่อผลกระทบที่เกิดขึ้นกับสิ่งแวดล้อม รวมถึงรายได้ที่ชาวบ้านต้องสูญเสียจากพืชผลทางการเกษตรที่ได้รับผลกระทบจากโรงงาน เป็นเงินทั้งหมด 47,949,505 บาท และขอให้ทางบริษัทฯ ฟื้นฟูสภาพแวดล้อมและทางน้ำสาธารณะให้กลับคืนสู่สภาพเดิม 

บทสรุปคำพิพากษาศาลจังหวัดระยอง 

วันที่ 13 ธันวาคม 2565 ศาลจังหวัดระยองนัดอ่านคำพิพากษากรณีชาวบ้านหนองพะวา ที่ยื่นฟ้องบริษัท วินโพรเสสฯ จำเลยที่ 1 นางสาววิชชุดา ไกรพงษ์ กรรมการบริษัท จำเลยที่ 2 และนายโอภาส บุญจันทร์ อดีตกรรมการบริษัท จำเลยที่ 3 โดยศาลพิพากษาให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระค่าเสียหายแก่โจทย์ที่ยื่นฟ้อง 15 ราย เป็นจำนวนรวม 20,823,718 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 3 ต่อปี นับจากวันที่ฟ้องเป็นต้นไป พร้อมกับให้ทั้งสามฟื้นฟูสภาพแวดล้อมในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบและพื้นที่หนองพะวาให้มีสภาพเป็นไปตามมาตรฐานของกรมควบคุมมลพิษต่อไป

ด้วยเหตุผลที่ค่าเสียหายต่อสุขภาพที่ไม่สามารถแสดงหลักฐานเชิงประจักษ์ได้ว่าแต่ละคนได้รับความเสียหายอย่างไรบ้าง ทำให้ศาลปรับจากที่เรียกไป รายละประมาณ 1 แสนบาท เหลือเพียงรายละ 1 หมื่นบาทแทน 

ถึงแม้ในวันนี้ประชาชนจะชนะคดีแล้ว แต่ก็คงต้องติดตามและจับตาดูกันต่อไปว่าคำพิพากษาของศาลในครั้งนี้จะเกิดขึ้นจริงหรือไม่ ส่วนในเรื่องของการฟื้นฟู กรมควบคุมมลพิษมีการทำแผนการฟื้นฟูพื้นที่รอบนอกโรงงานออกมาแล้ว ทั้งนี้ก็คงต้องติดตามกันต่อไปว่าบริษัทฯ จะสามารถฟื้นคืนสิ่งแวดล้อมโดยรอบให้กลับคืนมาได้มากขนาดไหน 

อ้างอิง