พบกล้วยไม้ชนิดใหม่ เอื้องอัญมณีศรีธรรมราช สถานะเสี่ยงขั้นวิกฤติต่อการสูญพันธุ์

พบกล้วยไม้ชนิดใหม่ เอื้องอัญมณีศรีธรรมราช สถานะเสี่ยงขั้นวิกฤติต่อการสูญพันธุ์

นักวิจัยจาก 3 สถาบัน ได้แก่ หอพรรณไม้ กรมอุทยานแห่งชาติฯ พิพิธภัณฑ์พืชมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ คณะวิทยาศาสตร์ ม.สงขลานครินทร์ และคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ม.ธรรมศาสตร์ ได้ค้นพบกล้วยไม้ชนิดใหม่ของโลกในไทย

โดยกล้วยไม้ที่พบนี้ เป็นกล้วยไม้ในสกุลเอื้องอัญมณี (Corybas Salisb.) ได้รับการตั้งชื่อว่า “อัญมณีศรีธรรมราช”

จากการศึกษาพบว่ากล้วยไม้ชนิดนี้เป็นกล้วยไม้ดินขนาดเล็ก มีหัวใต้ดินรูปทรงกลมหรือรูปไข่ ใบเดี่ยวรูปหัวใจ ดอกสีม่วง กลีบเลี้ยงบนปลายกลีบกลม

ผิวด้านนอกของกลีบเลี้ยงบนมีปุ่มไม่เป็นระเบียบ กลีบเลี้ยงข้างและกลีบดอกรสีเขียวลักษณะเป็นเส้นคล้ายเสาอากาศ กลีบเลี้ยงข้างและกลีบดอกเชื่อมกันที่โคน

กลีบปากแยกเป็นสองส่วน ส่วนโคนตั้งตรง ม้วนเป็นหลอด เกิดเป็นช่องรูปอักษรวี มีเดือยรูปกรวยสองอัน กลีบปากส่วนปลายโค้งกลับหลังและแผ่ออก รูปเกือบกลม มีขนที่ผิว ขอบกลีบปากจัก

จากการตรวจสอบพบว่ามีลักษณะคล้ายกับ Corybas villosus J. Dransf. & Gord. Sm. ซึ่งเคยมีรายงานในประเทศมาเลเซีย แต่แตกต่างกันที่กลีบเลี้ยงบนของเอื้องอัญมณีศรีธรรมราช ไม่มีสันด้านนอก และกลีบเลี้ยงข้างเชื่อมติดกับกลีบดอกทั้งสองอันที่เชื่อมติดกัน

การค้นพบนี้ได้รับการตีพิมพ์อย่างเป็นทางการแล้วในวารสาร PhytoKeys

กล้วยไม้ในสกุล Corybas เป็นกล้วยไม้ดินขนาดเล็ก ปัจจุบันมีจำนวนสมาชิกประมาณ 120 ชนิด แพร่กระจายในแถบอินเดีย จีนตอนใต้ ภาคใต้ของประเทศไทย

ตลอดจนภูมิภาคมาเลเซีย นิวซีแลนด์ และหมู่เกาะแปซิฟิกตะวันตก

คณะผู้วิจัยประเมินสภานภาพของกล้วยไม้ชนิดใหม่นี้ให้เป็นสิ่งมีชีวิตที่มีความเสี่ยงขั้นวิกฤติต่อการสูญพันธุ์ (Critically Endangered)

เนื่องจากถูกพบเพียงแค่ 4 ต้น และพบจากพื้นที่เดียวเท่านั้น คือ เขาหลวง อุทยานแห่งชาติเขาหลวง จ.นครศรีธรรมราช

และถูกค้นพบเพียงครั้งเดียวจากการสำรวจและเก็บตัวอย่างเมื่อปี 2018

อย่างไรก็ตาม การรายงานการค้นพบกล้วยไม้ชนิดใหม่ของโลกและชนิดใหม่ของประเทศไทยอย่างต่อเนื่องจากบริเวณเทือกเขานครศรีธรรมราช แสดงให้เห็นว่าภาคใต้เป็นภูมิภาคสำคัญในแง่ความหลากหลายของกล้วยไม้ของประเทศไทยอีกด้วย

สำหรับสถานที่พบ คืออุทยานแห่งชาติเขาหลวง เป็นพื้นที่อนุรักษ์ขนาด 356,250 ไร่

พืชพรรณไม้ที่ขึ้นส่วนใหญ่จึงเป็นสังคมพืชป่าดงดิบชื้น (Tropical Rain Forest) หรืออาจเรียกว่าป่าดงดิบ เป็นป่าไม้ที่มีใบสีเขียวตลอดทั้งปี

สภาพป่ารกทึบทั้งในเรือนยอดของไม้ใหญ่ และชั้นไม้พื้นล่าง ครอบคลุมพื้นที่ส่วนใหญ่ของอุทยานแห่งชาติทั้งหมด

ที่นี่อุดมด้วยพืชหายากหลายชนิด เช่น เต่าร้างยักษ์ (ปัจจุบันลดจำนวนลงอย่างมาก ซึ่งอาจจะสูญพันธุ์ไปในอนาคต เนื่องจากสภาพนิเวศเปลี่ยนแปลงไป) รวมทั้งหวายชนิดต่างๆ

นอกจากนี้ยังมีบัวแฉก และบัวแฉกใบมน ซึ่งเป็นเฟิร์นประจำถิ่นของอุทยานแห่งชาติเขาหลวง และพืชสำคัญที่เป็นพืชประจำถิ่นประเทศไทย

ด้านสัตว์ป่า พบว่าเป็นถิ่นที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่าไม่น้อยกว่า 327 ชนิด

เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนม 100 ชนิด สัตว์จำพวกนกหรือสัตว์ปีก จำนวน 157 ชนิด สัตว์เลื้อยคลาน 40 ชนิด สัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก 12 ชนิด สัตว์น้ำ จำพวกปลา 16 ชนิด จำพวกปู 2 ชนิด

รวมถึงยังเป็นถิ่นที่อยู่อาศัยของสัตว์สงวน 2 ชนิด ได้แก่ เลียงผา และสมเสร็จ

 


อ้างอิง

ผู้เขียน

Website | + posts

โซเชียลมีเดียที่เขียนบันทึกประเด็นปัญหาสิ่งแวดล้อมในยุคแอนโทโปรซีน