ข้อมูลสัตว์ป่าบนสารานุกรมฯ ล้าหลัง สร้างค่านิยมผิด ๆ มูลนิธิสืบฯ เตรียมยื่นหนังสือถึงกรรมการ เพื่อเร่งปรับปรุงข้อมูล

ข้อมูลสัตว์ป่าบนสารานุกรมฯ ล้าหลัง สร้างค่านิยมผิด ๆ มูลนิธิสืบฯ เตรียมยื่นหนังสือถึงกรรมการ เพื่อเร่งปรับปรุงข้อมูล

วันที่ ๒๔ พฤศจิกายน ๒๕๖๓

เรื่อง ขอให้เร่งดำเนินการแก้ไขข้อมูลประโยชน์ของสัตว์ป่าที่ผิดพลาด

เรียน กรรมการและเลขาธิการ โครงการสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ

สิ่งที่ส่งมาด้วย สำเนาเว็บไซด์สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ / เล่มที่ ๒๑ / เรื่องที่ ๘ การอนุรักษ์ และ การพัฒนาทรัพยากรธรรมชาติ / ทรัพยากรสัตว์ป่า

ตามที่ปรากฏข้อมูลในเว็บไซต์สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ / เล่มที่ ๒๑ / เรื่องที่ ๘
การอนุรักษ์ และการพัฒนาทรัพยากรธรรมชาติ / ทรัพยากรสัตว์ป่า ที่ได้มีการจัดทำข้อมูลในหัวข้อประโยชน์ของสัตว์ป่าที่มีต่อมนุษย์ในด้านต่างๆ เช่น “๑. ด้านเศรษฐกิจ ได้แก่ การค้าสัตว์ป่า หรือซากของสัตว์ป่าจากส่วนต่างๆ เช่น ขน เขา และหนัง เป็นต้น การค้าสัตว์ป่า จึงถือว่า เป็นอาชีพที่ทำรายได้ให้แก่ผู้ค้าอย่างงาม”และ  “๒. การเป็นอาหาร มนุษย์เราได้ใช้เนื้อสัตว์ป่าเป็นอาหาร เป็นเวลาช้านานมาแล้ว ซึ่งสัตว์ป่าหลายชนิด ก็ได้มีเลี้ยง จนกระทั่งกลายเป็นสัตว์เลี้ยงไป สัตว์ป่าหลายชนิดตามธรรมชาติคนก็ยัง นิยมใช้เนื้อเป็นอาหารอยู่ เช่น หมูป่า เก้ง กวาง กระจง นกเป็ดน้ำ ตะกวด แย้ เป็นต้น รวมทั้ง อวัยวะของสัตว์ป่าบางอย่าง เช่น นอแรด กะโหลกเลียงผา เขากวางอ่อน เลือดและ กระเพาะต่างๆ ดีงูเห่าซึ่งคนก็นิยมดัดแปลงเป็น อาหาร หรือใช้เป็นเครื่องยาสมุนไพร และเนื่องจากปัจจุบัน สัตว์ป่าได้ลดจำนวนลงอย่างมาก และบางชนิดได้สูญพันธุ์ หรือใกล้จะสูญพันธุ์ ดังนั้น จึงควรช่วยกันเปลี่ยนค่านิยม ในการบริโภคอาหารจากสัตว์ป่า”

มูลนิธิสืบนาคะเสถียร มีความเห็นว่า ข้อความที่ระบุดังกล่าวอาจทำให้เยาวชนและประชาชนทั่วไป เข้าใจได้ว่าควรส่งเสริมให้เกิดการใช้ประโยชน์จากสัตว์ป่า ทั้งในรูปแบบการค้าสัตว์ป่าเป็นตัวรวมถึงชิ้นส่วนสัตว์ป่าที่ผู้มีความนิยมหลงใหลในของแปลก หรือคิดว่าเป็นของขลัง อยากหามาไว้ในครอบครอง และแสดงให้เห็นว่าการค้าสัตว์ป่าไม่ใช่เรื่องที่ผิดกฎหมาย และควรส่งเสริมเนื่องจากจะทำให้มีเงินทุนหมุนเวียนภายในประเทศอย่างมั่งคั่งจากการค้าสัตว์ป่าและซากสัตว์ป่า ซึ่งผิดกับวัตถุประสงค์ของการอนุรักษ์สัตว์ป่าประเทศไทย ผิดกฎหมายตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. ๒๕๖๒ 

“มาตรา ๑๒ ห้ามมิให้ผู้ใดล่าสัตว์ป่าสงวนหรือสัตว์ป่าคุ้มครอง 

มาตรา ๒๙ ห้ามมิให้ผู้ใดค้าสัตว์ป่าสงวน สัตว์ป่าคุ้มครอง ซากสัตว์ป่าดังกล่าว หรือ ผลิตภัณฑ์จากซากสัตว์ป่าดังกล่าว 

มาตรา ๘๙ ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๑๒ หรือมาตรา ๒๙ ถ้ากระทำต่อสัตว์ป่าคุ้มครอง ซากสัตว์ป่าคุ้มครอง หรือผลิตภัณฑ์จากซากสัตว์ป่าคุ้มครอง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสิบปี หรือ ปรับไม่เกินหนึ่งล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ 

ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๑๒ มาตรา ๒๒ วรรคหนึ่ง หรือมาตรา ๒๙ ถ้ากระทำต่อสัตว์ป่าสงวน ซากสัตว์ป่าสงวน หรือผลิตภัณฑ์จากซากสัตว์ป่าสงวน ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สามปีถึงสิบห้าปี หรือ ปรับตั้งแต่สามแสนบาทถึงหนึ่งล้านห้าแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ซึ่งสถานการณ์การค้าสัตว์ป่าในประเทศไทยมีความรุนแรงมาก ยกตัวอย่างเช่น นกชนหิน
ซึ่งเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง ลำดับที่ ๔๑๐ ในช่วงปี ๒๕๖๒ พบการค้านกเงือกอยู่เป็นประจำ โดยเฉพาะนกชนหิน ทางองค์กร TRAFFIC ได้ทำการสำรวจติดตามและศึกษา เพื่อประเมินและประมาณขนาดของการค้านกชนหิน รวมถึงชิ้นส่วนและผลิตภัณฑ์ของนกเงือกชนิดพันธุ์อื่นๆ บนช่องทางสื่อสังคมออนไลน์หรือ เฟซบุ๊ก ทั้งในกลุ่มเปิดและกลุ่มปิดในประเทศไทย โดยทุกกลุ่มเป็นกลุ่มที่เสนอขายผลิตภัณฑ์จากสัตว์ป่า โดยข้อมูลที่ TRAFFIC พบจากการสำรวจติดตามเป็นเวลา ๖ เดือน พบการเสนอขาย นกชนหิน คิดเป็นสัดส่วนถึง ๘๓% จากชิ้นส่วนและผลิตภัณฑ์นกเงือกทั้งหมด ทำให้หลายฝ่ายกังวลว่านกชนหินจะสูญพันธุ์ไปในไม่ช้า 

มูลนิธิสืบนาคะเสถียร เห็นว่าสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนควรเป็นแหล่งอ้างอิง แหล่งเรียนรู้ที่มีภาพลักษณ์ และมีความน่าเชื่อถือ ที่จะปลูกฝังค่านิยมที่ถูกต้องกับเยาวชนในชาติ แต่เนื้อหาในสารานุกรมฯ(รายละเอียดตามสิ่งที่ส่งมาด้วย) กลับให้ความรู้เกี่ยวกับสัตว์ป่าโดยการส่งเสริมค่านิยมที่ผิด และล้าหลัง ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้วประโยชน์ของสัตว์ป่า หรือความหลากหลายทางชีวภาพ คือการรักษาสมดุลของระบบนิเวศ การให้นิเวศบริการ ecosystem service กับความปกติสุขของมนุษย์ ที่มีมูลค่าทั้งโลกอย่างประเมินค่ามิได้  จึงขอให้มูลนิธิสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ  ได้โปรดเร่งดำเนินการตรวจสอบและปรับปรุงแก้ไขข้อมูลที่ผิดพลาดในสื่อการเรียนการสอนให้ถูกต้องตามหลักวิชาการและเติมเต็มด้วยข้อมูลที่เป็นปัจจุบัน เพื่อให้ความรู้แก่เยาวชนรวมถึงบุคคลทั่วไปที่เข้ามาค้นคว้าข้อมูลได้รับความรู้อย่างถูกต้อง 

จึงเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณาและขอขอบพระคุณเป็นอย่างสูง
นายภาณุเดช เกิดมะลิ เลขาธิการมูลนิธิสืบนาคะเสถียร