รัฐบาล เตรียมปลดนกกรงหัวจุก ออกจากบัญชีสัตว์ป่าคุ้มครอง

รัฐบาล เตรียมปลดนกกรงหัวจุก ออกจากบัญชีสัตว์ป่าคุ้มครอง

หมอหม่อง นพ.รังสฤษฎ์ กาญจนะวณิชย์ ประธานชมรมอนุรักษ์นกและธรรมชาติล้านนา และรองประธานมูลนิธิสืบนาคะเสถียร ได้ออกมาคัดค้านการปลดนกกรงหัวจุกออกจากบัญชีสัตว์ป่าคุ้มครอง เนื่องจากเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองที่อนุญาตให้มีการขออนุญาตเพาะพันธุ์ได้อยู่แล้ว อีกทั้งยังพบว่าในช่วง 20 ปี ที่ผ่าน จำนวนประชากรของนกกรงหัวจุกในธรรมชาติลดลงกว่า 90%

เนื่องจากวันที่ 25 มี.ค. 2565 นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะกรรมการผู้แทนพิเศษของรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ เผย ที่ประชุมได้มีการพิจารณาข้อเสนอจากประชาชนในพื้นที่ ที่ต้องการให้ปลด “นกกรงหัวจุก” ออกจากบัญชีสัตว์สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า ของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เนื่องจากปัจจุบันมีการเพาะเลี้ยงจำนวนมาก อีกทั้งยังสอดรับกับนโยบายการส่งเสริมการเลี้ยงสัตว์เศรษฐกิจและอัตลักษณ์ของท้องถิ่นตามนโยบายของรัฐบาลด้วย

ที่ประชุมจึงเห็นชอบให้ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) เสนอเรื่องให้กรมอุทยานฯ ดำเนินการรับฟังความเห็นของประชาชน และศึกษาสถานการณ์จำนวนนกกรงหัวจุกเพื่อพิจารณาการถอดถอนออกจากบัญชีสัตว์ป่าคุ้มครอง ซึ่งกรณีคล้าย ๆ กัน เช่น นกเขาชวา ที่ได้ถูกถอดออกจากบัญชีสัตว์สงวน

เนื้อหาที่หมอหม่องโพสต์ทางเฟสบุ้กส่วนตัว Rungsrit Kanjanavanit ระบุว่า

“ขณะนี้มีความพยายามจากกลุ่มผู้เลี้ยงและนักการเมืองท้องถิ่น ที่จะผลักดันให้ทางราชการปลด นกปรอดหัวโขน Red-whiskered Bulbul Pycnonotus jocosus (หรือที่นิยมเรียกในหมู่คนเลี้ยงกันว่า ”นกกรงหัวจุก”) ออกจากบัญชีรายชื่อสัตว์ป่าคุ้มครองเพื่อให้สามารถ เลี้ยง ซื้อขาย ขนย้ายได้สะดวกเพราะอ้างว่าสามารถเพาะพันธ์ุได้แล้วเป็นจำนวนมาก

ทางชมรมอนุรักษ์นกและธรรมชาติล้านนา ขอคัดค้านโดยมีประเด็นโต้แย้ง ดังนี้

1. เหตุผลเดียวในการปลดสัตว์ชนิดใดชนิดหนึ่งออกจากบัญชีรายชื่อสัตว์ป่าคุ้มครอง นั่นคือมันไม่ต้องการกฎหมายปกป้องอีกต่อไป เพราะมีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่เชื่อได้แน่ชัดว่าประชากรของมันเพิ่มขึ้นในธรรมชาติ จนไม่น่าเป็นห่วงแต่อย่างใด อย่างเช่น นกเขาใหญ่ นกกระจอกบ้าน นกพิราบ แต่จากการสำรวจประชากรนก ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมาโดยชมรมอนุรักษ์นกและธรรมชาติล้านนา ร่วมกับนักดูนกทั่วประเทศ เราพบว่าประชากรนกปรอดหัวโขนในธรรมชาติ ลดลงมากกว่า 90%

การปลดสถานภาพสัตว์ป่าคุ้มครอง ในขณะที่ ประชากรในธรรมชาติลดลง จึงเป็นเรื่องย้อนแย้ง หากทางผู้เรียกร้องให้มีการปลดนกปรอดหัวโขนออกจากบัญชี ไม่ให้มีกฎหมายคุ้มครอง มีหลักฐานเชิงประจักษ์ ที่เป็นข้อมูลวิจัยเชิงประชากรในธรรมชาติที่แสดงผลตรงข้ามกับที่กล่าวมาแล้วก็ขอให้นำมาแสดงด้วย

2. สาเหตุการลดลงของประชากรนกปรอดหัวโขน เกิดจากการถูกจับออกจากธรรมชาติเป็นหลัก ไม่ใช่ปัญหาของการลดลงของพื้นที่อาศัย ทั้งนี้ มันเป็นนกที่อาศัยในพื้นที่ชายป่า พื้นที่เกษตรกรรม ไร่ สวน ไม่ได้อาศัยในป่าสมบูรณ์ ดังจะเห็นว่า ประชากรของนกปรอดหัวสีเขม่า Sooty-headed Bulbul ที่ใช้พื้นทีอาศัย และมีความต้องการทางนิเวศใกล้เคียงกัน กลับคงที่ เพราะไม่ใช่นกที่คนนิยมจับไปเลี้ยง

3. ปัจจุบัน นกปรอดหัวโขน เป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง ที่อนุญาตให้มีการขออนุญาตเพาะพันธุ์ได้อยู่แล้ว

4. ชีววิทยาการสืบพันธุ์ของนกปรอดหัวโขน แตกต่างกับนกเขาใหญ่ นกเขาชวา อยู่มาก นกปรอดหัวโขน เพาะเลี้ยงได้ แต่มีปัจจัยจำกัด อัตราการขยายพันธุ์ ไม่รวดเร็ว เหมือนนกเขาใหญ่ นกเขาชวา ดังนั้นจึงยังมีความต้องการลักลอบนำนกออกมาจากธรรมชาติ เพื่อตอบสนองความต้องการของตลาดอย่างต่อเนื่อง ประสบการณ์ที่ผ่านมา พบว่ามีนกและสัตว์ป่ามากมายหลายชนิด ที่ยิ่งมีความนิยมเลี้ยง ยิ่งเร่งการสูญพันธุ์ เช่น นกเอี้ยงบาหลี นกปรอดแม่ทะ นกกางเขนดง เป็นตัวอย่างที่ชัดเจน

5. สถิติการจับกุมการกระทำผิด พรบ. คุ้มครองสัตว์ป่า พบการลักลอบจับ ค้า ขนส่ง นกปรอดหัวโขน เป็นจำนวนมากมาโดยตลอด (ช่วง พ.ศ. 2555-2563 มีจำนวนถึง 18,096 ตัว) แสดงถึง ความต้องการเอานกจากธรรมชาติยังมีอยู่อย่างต่อเนื่อง

6. นกปรอดหัวโขนมีบทบาทสำคัญทางนิเวศวิทยา ได้แก่การกระจายเมล็ดพันธุ์ไม้ป่าสู่พื้นที่เปิดโล่ง ดังนั้น การรักษาประชากรนกปรอดหัวโขนให้ดำรงอยู่ในธรรมชาติมีความจำเป็นต่อการฟื้นฟูป่าเสื่อมโทรม นกที่อยู่ในกรงเลี้ยง ไม่อาจทำหน้าที่สำคัญนี้ในระบบนิเวศได้

ด้วยเหตุผลข้างต้นนี้ ทางชมรมอนุรักษ์และธรรมชาติจึงเล็งเห็นจำเป็นอย่างยิ่งยวด ที่ นกปรอดหัวโขนจะต้องมีกฏหมายคุ้มครองต่อไป เพื่อรักษาไว้ซึ่งประชากรในธรรมชาติของประเทศไทย”

นพ.รังสฤษฎ์ กาญจนะวณิชย์ ประธานชมรมอนุรักษ์นกและธรรมชาติล้านนา รองประธานมูลนิธิสืบนาคะเสถียร และกรรมการมูลนิธิศึกษาวิจัยนกเงือก

การปลดนกกรงหัวจุกออกจากบัญชีสัตว์ป่าคุ้มครองเป็นไปตามข้อสั่งการและนโยบายของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ที่ต้องการให้การแก้ปัญหาพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ทุกฝ่ายได้เข้ามามีส่วนร่วม เชื่อมการทำงานระหว่างเจ้าหน้าที่และความต้องการของคนในพื้นที่อย่างแท้จริง

ร่วมรักษาป่าใหญ่ ผ่านระบบ Thai QR Code


ที่มา: รัฐบาล ฟังข้อเสนอปลด “นกกรงหัวจุก” จากบัญชีสัตว์สงวน ดันเป็นสัตว์เศรษฐกิจ, ไทยรัฐ ออนไลน์

ผู้เขียน

+ posts

นัก (อยาก) เขียน ผู้เฝ้ามองการเปลี่ยนแปลงของสังคมผ่านภาษาและเหตุการณ์ทางเมือง