สถานะ ‘ควายป่า’ ฝูงสุดท้ายใน ‘ห้วยขาแข้ง’ ยังน่าเป็นห่วง

สถานะ ‘ควายป่า’ ฝูงสุดท้ายใน ‘ห้วยขาแข้ง’ ยังน่าเป็นห่วง

ควายป่าฝูงสุดท้ายในห้วยขาแข้งยังน่าห่วง การสำรวจพบแต่ละตัวยังมีขนาดไม่สมบูรณ์ เหตุเพราะอาจถูกจำกัดด้วยแหล่งอาหารตามธรรมชาติ

.
จากการรายงานสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 12 (นครสวรรค์) เปิดเผยว่าจำนวนควายป่าของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง มีอยู่ประมาณ 45 ตัว ซึ่งเป็นภาพจากกล้องดักถ่ายภาพในช่วงวันที่ 8 – 10 มีนาคม 2565 ที่ผ่านมา 

จากการสำรวจพบว่า ควายป่าที่ห้วยขาแข้งแต่ละตัวยังมีขนาดไม่สมบูรณ์ ซึ่งอาจจะถูกจำกัดด้วยแหล่งอาหารตามธรรมชาติ หรือสภาพภูมิประเทศที่ยังไม่เหมาะสมกับการอาศัยของควายป่า

ทั่วทั้งโลกสามารถพบควายป่าหรือมหิงสา‘ (Wild Water Buffalo) ที่ได้ที่ประเทศอินเดีย เนปาล ภูฏาน และไทย จำนวนทั้งหมดประมาณ 4,000 ตัวเท่านั้น ปัจจุบันประเทศไทยมีควายป่าเพียงฝูงเดียวและเป็นฝูงสุดท้าย ซึ่งอาศัยอยู่ภายในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง จ.อุทัยธานี

คณะทำงานศึกษาควายป่าในห้วยขาแข้ง เพื่อร่วมกันสำรวจถิ่นที่อยู่อาศัยของควายป่า ว่ามีความสัมพันธ์กับหนองน้ำ หรือปลัก ใกล้ถิ่นที่อยู่อาศัยของควายป่าหรือไม่ หลังจากนำทีมเจ้าหน้าที่เข้าสำรวจหนองน้ำรวมถึงปัจจัยแวดล้อมอื่น ๆ ที่อาจเกี่ยวข้องกับการดำรงชีวิตของควายป่าแล้ว พบว่า ตลอดแนวลำห้วยขาแข้งนั้นมีหนองน้ำและควายป่ากระจายอยู่ทั่วไป โดยอยู่ห่างจากลำห้วย 50-100 เมตร นอกจากนี้ได้มีการตั้งกล้องดักถ่ายเพิ่มเติมเพื่อศึกษาพฤติกรรมการใช้ประโยชน์พื้นที่ตามลำห้วยต่อไป

ข้อมูลต่าง ๆ ที่ได้จากการสำรวจครั้งนี้ จะนำไปบริหารจัดการพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าให้มีความสมบูรณ์เป็นแหล่งอาศัยที่เหมาะสม เพื่อเพิ่มจำนวนประชากรควายป่า และเป็นแหล่งพันธุกรรมเพื่อปรับปรุงพันธุ์และเอื้อประโยชน์ต่อการปศุสัตว์ ต่อไป

สำหรับประเทศไทย ควายป่าจัดเป็นสัตว์ป่าสงวนชนิดหนึ่งใน 15 ชนิด และอนุสัญญา CITES จัดควายป่าไว้ใน Appendix III ในประเทศไทย แต่เดิมเคยมีควายป่าอยู่ตามป่าทุ่งป่าโปร่งเกือบทุกภาค ยกเว้นในภาคใต้ 

ปัจจุบันถูกล่าหมดไป และยังคงมีหลงเหลืออยู่ที่ห้วยขาแข้งเท่านั้น นอกจากนี้ ควายป่าที่พบที่แห่งอื่น อาจไม่ใช่ควายป่าหรือมหิงสาแท้ ๆ โดยสาเหตุของการเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์มีปัจจัยภัยคุกคามหลักมาจาก การล่า การแย่งพื้นที่หากิน ทั้งอาหารและแหล่งน้ำของควายป่าและควายบ้าน การผสมข้ามสายพันธุ์ระหว่างควายป่ากับควายบ้าน รวมไปถึงการผสมกันเองภายในเครือญาติ เกิดจากจำนวนประชากรที่น้อยทำให้เกิดปัญหาเลือดชิด (Inbreeding)
.

ร่วมรักษาป่าใหญ่ ผ่านระบบ Thai QR Code


อ้างอิง

ผู้เขียน

+ posts

นัก (อยาก) เขียน ผู้เฝ้ามองการเปลี่ยนแปลงของสังคมผ่านภาษาและเหตุการณ์ทางเมือง