ผืนป่าสมบูรณ์ทั่วโลกหายไป 12% ระหว่างปี 2000-2020

ผืนป่าสมบูรณ์ทั่วโลกหายไป 12% ระหว่างปี 2000-2020

ความหลากหลายทางชีวภาพของชนิดพันธุ์ต้นไม้บนโลกใบนี้มีมากกว่า 70,000 สายพันธุ์ แต่พื้นที่ป่าของเรากลับมีเพียง 18 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น ที่ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมาย ไม่ว่าจะในรูปแบบของอุทยานแห่งชาติ หรือว่าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า 

และทราบหรือไม่ว่าตลอด 2 ทศวรรษที่ผ่านมา (ระหว่างปี 2000-2020) ผืนป่าที่มีความอุดมสมบูรณ์ทั่วโลกได้หดตัวลงมากถึง 12 เปอร์เซ็นต์ และความสูญเสียที่ว่าก็ยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ผืนป่าหายไปได้อย่างไร – เมื่อแจกแจงรายละเอียดตามรายทวีป สามารถอธิบายได้ดังนี้

อเมริกาเหนือและอเมริกากลาง 

สาเหตุเกิดจาก ไฟป่า แมลง และโรคร้ายทำลายป่า โครงสร้างพื้นฐานและการพัฒนาผลักดันการตัดไม้ทำลายป่า

ป่าทางเหนือที่แข็งแรงของแคนาดา มีสัดส่วนของป่าปฐมภูมิที่แข็งแรงและสมบูรณ์สูงที่สุดในโลก เกือบ 9 เปอร์เซ็นต์ ได้รับการคุ้มครองอย่างเป็นทางการ แต่ยังมีภัยคุกคามเรื่องการตัดไม้ เขื่อน เหมืองแร่ และไฟป่า

ในอเมริกาเหนือตะวันตก พบแมลงศัตรูพืช อย่างด้วงสนภูเขาระบาด กระทบต่อต้นไม้มากกว่า 120,000 ตารางไมล์ สภาพภูมิอากาศที่ร้อนขึ้นและรูปแบบสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงสามารถเพิ่มความถี่และความรุนแรงของการระบาดของแมลงในอนาคต

ในภาคตะวันออกเฉียงใต้ของสหรัฐ พื้นที่ชุ่มน้ำวู้ดดี้กำลังถูกเปลี่ยนเป็นสวนสนเพื่อเพิ่มมูลค่าการส่งออกเม็ดไม้สำหรับทำเชื้อเพลิงชีวมวลไปยังยุโรป โดยมียอดส่งออกมากกว่าแปดล้านตันต่อปี

ป่ามายาของเม็กซิโกกำลังสูญเสียพื้นที่ป่ามากกว่า 300 ตารางไมล์ต่อปี ส่วนใหญ่เกิดจากการเลี้ยงปศุสัตว์ การทำเกษตรกรรม ไฟป่า ตลอดจนโครงการสร้างทางรถไฟ

อเมริกาใต้  

ตั้งแต่ปี 1960 เป็นต้นมา แอมะซอนเป็นศูนย์กลางของการตัดไม้ทำลายป่า ป่าฝนที่อุดมสมบูรณ์ถูกเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์สำหรับอุตสาหกรรมต่างๆ เช่นการปลูกถั่วเหลืองและปศุสัตว์

พื้นที่นี้มีความเสี่ยงที่จะกลายเป็นทุ่งหญ้าสะวันนาในเขตร้อนชื้น

ประเทศปารากวัย เป็นอีกแห่งที่มีอัตราการตัดไม้ทำลายป่าสูงที่สุดในโลก เกือบ 40 เปอร์เซ็นต์ของป่าแกรนชาโค ซึ่งเป็นพื้นที่ไม้หนาม พุ่มไม้ และหญ้าถูกดัดแปลงเป็นฟาร์มตั้งแต่ปี 1985

ยุโรป 

ในสแกนดิเนเวีย ป่าโบราณและสมบูรณ์ทางเหนือได้ถูกแทนที่ด้วยการปลูกต้นไม้แบบเชิงเดี่ยวเพื่อใช้ในอุตสาหกรรมไม้ เยื่อกระดาษ สวีเดนโค่นต้นไม้ไปแล้ว 17 เปอร์เซ็นต์ ตั้งแต่ปี 2000 ปัจจุบันกำลังปลูกทดแทน

ในยุโรปตะวันออก ฟาร์มที่ถูกทิ้งร้างหลายแห่งกำลังฟื้นตัวกลับมาเป็นป่าหลังจากการล่มสลายของสหภาพโซเวียต เกือบ 90 เปอร์เซ็นต์ ของพื้นที่ที่เสียไปก่อนปี 1995 ฟื้นตัวกลับมาในปี 2012

แอฟริกา 

การทำไร่โกโก้ในแอฟริกาตะวันตกมีผลกระทบร้ายแรง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศโกตดิวัวร์หรือที่รู้จักกันในชื่อ ไอวอรีโคสต์  ซึ่งเสียป่าไปมากกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ตั้งแต่ช่วงทศวรรษ 1970 หากปราศจากป่าเพื่อควบคุมสภาพอากาศ พายุชายฝั่งจะทำให้ประเทศได้รับความเสียหายมากยิ่งขึ้น

ณ ลุ่มน้ำคองโก การตัดไม้ในป่าฝนที่ใหญ่เป็นอันดับสองของโลกส่วนใหญ่เกิดจากการทำไร่และการเผา พร้อมกับการเพิ่มขึ้นของถนนในพื้นที่ตัดไม้ตั้งแต่ช่วงต้นทศวรรษ 2000

ที่มาดากัสการ์ เกาะแห่งนี้สูญเสียป่าธรรมชาติไปเกือบครึ่งหนึ่งตั้งแต่ช่วงทศวรรษ 1950 เนื่องจากความต้องการไม้เนื้อแข็งที่หายากและมีราคาแพง เช่น ไม้พะยูง และไม้มะเกลืออย่างผิดกฎหมาย 

เอเชีย 

ภัยคุกคามจากการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและไฟป่าทำให้รัสเซียเสียป่าไปค่อนข้างมาก แม้แต่ในป่าทางเหนือที่มีหิมะปกคลุมเหนือเส้นอาร์กติกเซอร์เคิล ในปี 2021 พื้นที่ประมาณ 73,000 ตารางไมล์ ซึ่งใหญ่กว่ารัฐนอร์ทดาโคตา ถูกเผาจนเหลือแต่เถ้าถ่าน

จีนเป็นประเทศที่มีผืนป่าเพิ่มขึ้นจากนโยบายปลูกป่า โดยในปี 2020 พื้นที่ป่าปกคลุมถึง 23 เปอร์เซ็นต์ เพิ่มขึ้น 6 เปอร์เซ็นต์ ตั้งแต่ปี 1990

อินโดนีเซีย ผู้ปลูกปาล์มน้ำมันรายใหญ่ที่สุดของโลก เริ่มประสบความสำเร็จในการปกป้องป่า สามารถชะลออัตราการสูญเสียป่าไม้มาตั้งแต่ปี 2016 ผ่านการหยุดต่อใบอนุญาตปลูกปาล์มน้ำมัน และการพัฒนาแนวทางตรวจจับอัคคีภัยที่ดีขึ้น

โอเชียเนีย  

การเกิดไฟป่าที่รุนแรงในออสเตรเลีย ระหว่างปี 2019-2020 ทำลายพื้นที่มากกว่า 131 ล้านตารางไมล์ สภาพภูมิอากาศที่ร้อนและแห้งแล้งอาจจำกัดความสามารถของป่ายูคาลิปตัส

ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ https://glad.umd.edu/ 

 

ร่วมรักษาป่าใหญ่ ผ่านระบบ Thai QR Code


อ้างอิง 

ผู้เขียน

Website | + posts

โซเชียลมีเดียที่เขียนบันทึกประเด็นปัญหาสิ่งแวดล้อมในยุคแอนโทโปรซีน