มวลคลื่นความร้อนในมหาสมุทรกับการตายของนกทะเลครั้งประวัติศาสตร์

มวลคลื่นความร้อนในมหาสมุทรกับการตายของนกทะเลครั้งประวัติศาสตร์

นักวิทยาศาสตร์รายงานถึงอีกหนึ่งหายนะทางนิเวศซึ่งเกิดจากมวลน้ำอุ่นผิดปกติในมหาสมุทรแปซิฟิกที่ถูกขนานนามว่า ‘เดอะ บล็อบ (the Blob)’

มวลคลื่นความร้อนหนาแน่นสูงได้หยุดอยู่บริเวณตะวันออกเฉียงเหนือของแปซิฟิกตั้งแต่ พ.ศ. 2556 ถึง 2559 โดยนักวิทยาศาสตร์คาดว่าเป็นสาเหตุที่ทำให้นกเมอร์เรส์ธรรมดา (Common Murres; Uria Aalgae) กว่าล้านชีวิตต้องตายลง ซึ่งนับว่าเป็นการตายของนกทะเลที่มีจำนวนมากที่สุดเท่าที่มีบันทึกไว้ในประวัติศาสตร์

ตัวเลขประมาณการจากซากนกเมอร์เรส์จำนวนกว่า 62,000 ซากที่ถูกซัดเข้าสู่ชายฝั่งทางตะวันตกของสหรัฐอเมริการะหว่างพ.ศ. 2558 – 2559 กินพื้นที่ตั้งแต่แคลิฟอร์เนียไปจนถึงอลาสกา โดยปกติแล้ว นกที่ตายลงในทะเลนั้นมีเพียงจำนวนไม่มากที่ถูกซัดเข้าฝั่ง นั่นหมายความว่านกที่ตายจริงๆ มีจำนวนมากกว่าซากที่เราเห็นอย่างมาก

เหล่านกที่ผอมแห้งอาจอดตายจากการแก่งแย่งเหยื่อที่รุนแรงขึ้นเนื่องจากน่านน้ำที่อุณหภูมิสูงขึ้น นักวิทยาศาสตร์คาดว่าชนิดพันธุ์อื่นๆ ก็อาจได้รับผลกระทบจากมวลความร้อนไม่ต่างกัน

 

 

“จินตนาการง่ายๆ ว่ามันคล้ายกับการที่ต้องวิ่งแข่งไปร้านขายของชำในวันที่รถส่งสินค้าไม่ได้มาส่งบ่อยครั้งนัก เราคิดว่าซากของเมอร์เรส์ธรรมดาที่เราพบ นอกเหนือจากคลื่นความร้อนที่เราเฝ้าดูอยู่ คือระบบนิเวศที่ถูกบีบอัด ปลาที่มีปริมาณและขนาดเล็กลงต้องโดนแก่งแย่งระหว่างนกทะเลรวมถึงปลานักล่าอย่างปลากระพงเหลืองแถบฟ้า (walleye) พอลล็อค (pollock) และปลาค็อดแปซิฟิก (Pacific cod)” จูเลีย ปาร์ริช (Julia Parrish) นักชีววิทยาจากมหาวิทยาลัยวอชิงตันกล่าว

ทีมวิจัยได้ศึกษางานชิ้นอื่นๆ เกี่ยวกับปลาและแพลงก์ตอนซึ่งเก็บเกี่ยวได้จากการประมงในช่วงเวลาที่มวลคลื่นความร้อนส่งผลกระทบรุนแรงมากที่สุด รวมทั้งการศึกษาภาคสนามและรายอื่นๆ ทุกอย่างสรุปตรงกันว่าอุณหภูมิที่เพิ่มขึ้นได้เร่งกระบวนการเผาพลาญพลังงานของเหล่าสัตว์ทะเลเลือดเย็น 

นั่นหมายความว่าปลานักล่าจำเป็นต้องกินมากกว่าปกติ และมีแนวโน้มว่าสาเหตุนี้ทำให้เกิดแรงกดดันไปถึงส่วนบนสุดของห่วงโซ่อาหาร ในท้ายที่สุด ทำให้ฝูงปลาซึ่งเคยเป็นแหล่งอาหารหลักของนกเมอร์เรส์กลายเป็นของหายากอย่างยิ่ง

 

The common murre. (Jane Dolliver)

เป็นเรื่องน่ากังวลเนื่องจากนกเมอร์เรส์ธรรมดาเป็นหนึ่งในนกที่ปรับตัวได้ง่ายอย่างยิ่ง โดยหากินกับปลาตัวเล็ก เช่น เฮอร์ริง ซาดีน แอนโชวี และลูกปลาแซลมอน แต่นกดังกล่าวก็ยังไม่สามารถรับมือกับผลกระทบที่มาจากมวลความร้อน

“ความต้องการอาหารของปลาขนาดใหญ่ เช่น ค็อด พอลล็อค และเฮค คาดว่าจะเพิ่มขึ้นเนื่องจากอุณหภูมิที่สูงขึ้น เนื่องจากพวกมันกินอาหารที่ใกล้เคียงกับเมอร์เรส์ ทำให้ปริมาณอาหารไม่เพียงพอจนนำไปสู่โศกนาฏกรรมที่นกเมอร์เรส์จำนวนมหาศาลต้องอดตาย” จอห์น เพียตต์ (John Piatt) นักวิทยาศาสตร์จากศูนย์วิทยาศาสตร์อลาสกาแสดงความเห็น

ยังมีนกอีกสองชนิดพันธุ์คือนกอุ๊คแคสสิน (Cassin’s Auklets) และนกพัฟฟินซึ่งพบการตายจำนวนมากและอาจมีสาเหตุจากปรากฎการณ์มวลน้ำอุ่นเช่นเดียวกัน นักวิจัยมองว่านกทะเลอย่างเมอร์เรส์เปรียบเสมือน ‘กระดิ่งเตือน’ ของมหาสมุทรที่อุ่นขึ้นและการเปลี่ยนแปลงทางระบบนิเวศที่กำลังจะตามมา

คลื่นมวลความร้อนในมหาสมุทรเฉพาะที่กลายเป็นสิ่งที่พบได้มากขึ้นนับตั้งแต่ศตวรรษที่ผ่านมา และคาดว่าจะพบบ่อยครั้งขึ้นเมื่ออุณหภูมิโลกสูงขึ้น เดอะ บล็อบ ในมหาสมุทรแปซิฟิกนี้เกิดจากลมอุ่นจากปรากฎการณ์เอลนีโญเมื่อ พ.ศ. 2558 และ 2559

คลื่นมวลความร้อนในมหาสมุทรลักษณะนี้กำลังเกิดขึ้นทั่วโลกและเป็นภัยคุกคามต่อสัตว์ทะเล ทีมวิจัยปรากฎการณ์การตายครั้งใหญ่ของนกเมอร์เรส์ระบุว่านี่เป็นเพียงจุดเริ่มต้นของผลกระทบที่แท้จริงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรืออาจกล่าวได้ว่า การตายครั้งใหญ่ของสัตว์ป่าในอนาคตอันใกล้จะรุนแรงยิ่งกว่าเดิม

“ขนาดและขอบเขตของระบบนิเวศที่ล่มสลายนี้ไม่เกิดขึ้นมาก่อน มันเป็นเรื่องน่าตื่นตระหนก เป็นสัญญาณเตือนว่าหากปล่อยให้มหาสมุทรอุ่นเช่นนี้ต่อไปอาจส่งผลกระทบมหาศาลต่อระบบนิเวศ” เพียตต์กล่าวสรุป


ถอดความและเรียบเรียงจาก Giant Ocean Heatwave Called ‘The Blob’ Has Caused The Biggest Seabird Die-Off on Record โดย David Nield
ถอดความและเรียบเรียงโดย รพีพัฒน์ อิงคสิทธิ์