‘โรคฝีดาษลิง’ อันตรายของโรคจากสัตว์ป่าสู่คนคืออะไร ?

‘โรคฝีดาษลิง’ อันตรายของโรคจากสัตว์ป่าสู่คนคืออะไร ?

‘โรคฝีดาษลิง’ คือหนึ่งในพาดหัวข่าวสำคัญในสัปดาห์ที่ผ่านมา และหลายคนอาจสงสัยว่ามีโรคนี้มีความเสี่ยงเช่นเดียวกับโควิด-19 หรือไม่

จนถึงขณะนี้ ตรวจพบผู้ป่วยเกือบ 100 ราย ใน16 ประเทศ (ที่โรคฝีดาษลิงไม่ได้เป็นโรคประจำถิ่น) ได้แก่ สเปน โปรตุเกส แคนาดา อังกฤษ เบลเยียม สหรัฐอเมริกา เยอรมนี อิตาลี เนเธอร์แลนด์ อิสราเอล ออสเตรเลีย ออสเตรีย สวีเดน กรีซ สวิสเซอร์แลนด์ และเดนมาร์ก

ตัวเลขสูงสุดอยู่ในสหราชอาณาจักร พบผู้ป่วยมากถึง 56 ราย

อาการต่างๆ ของผู้ที่ติดเชื้อไวรัส ได้แก่ มีไข้ หนาวสั่น ปวดหัว เจ็บคอ บวม ปวดหลัง ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ อ่อนเพลีย ต่อมน้ำเหลืองโต และมีผื่นพุพอง

การระบาดครั้งก่อนในสหราชอาณาจักรและอิสราเอลเชื่อมโยงมาจากการเดินทางไปยังแอฟริกากลางและแอฟริกาตะวันตก

โดยทั่วไปแล้ว ไม่มีการบันทึกผู้เสียชีวิตในกลุ่มผู้ป่วยในยุโรป อเมริกาเหนือ หรือออสเตรเลีย หรือในประเทศที่ไม่ได้มีโรคนี้เป็นโรคประจำถิ่น

ซึ่งผู้เชี่ยวชาญขององค์การอนามัยโลก (WHO) ชี้ว่าการแพร่กระจายของโรคฝีดาษลิงนั้นแตกต่างจากโควิด-19 และง่ายต่อการควบคุม

โดยผู้ติดเชื้อไวรัสนี้ส่วนใหญ่มีอาการไม่รุนแรง บางครั้งคล้ายกับอาการของโรคอีสุกอีใส (chickenpox) และหายเองได้ภายในไม่กี่สัปดาห์

‘โรคฝีดาษลิง’ อาจมีอาการรุนแรงมากขึ้นได้ในบางกรณี และเคยมีรายงานว่า ทำให้มีผู้เสียชีวิตมาแล้วหลายคนในแอฟริกาตะวันตก

โดยอัตราการตายสูงสุดอยู่ในกลุ่มเด็กเล็ก ซึ่งอาจสูงถึง10 เปอร์เซ็นต์ (อัตราทั่วไปอยู่ที่ 3-6 เปอร์เซ็นต์)

อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าความรุนแรงของโรคจะต่างกันอย่างไร ทั้งโควิด-19 และฝีดาษลิงต่างก็มีความคล้ายคลึงกันในฐานะโรคที่เกิดจากสัตว์และสามารถถ่ายทอดสู่คนได้

โรคฝีดาษลิง
photo UN Environment Programme

โรคฝีดาษลิง – โรคจากสัตว์สู่คนคืออะไร?

คาดว่าโควิด-19 แพร่กระจายจากค้างคาวในตลาดสดของประเทศจีน โรคจากสัตว์สู่คนอื่นๆ ที่แพร่กระจายจากสัตว์สู่คนได้แก่ เอชไอวี/เอดส์ แอนแทรกซ์ และอีโบลา

สำหรับโรคฝีดาษลิง ถูกพบครั้งแรกในลิงเมื่อปี 1958 และพบผู้ป่วยรายแรกที่มีบันทึกคือในปี 1970 (ในสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก)

ในประเทศแถบแอฟริกาซึ่งพบการระบาดบ่อย พบหลักฐานการเกิดไวรัสจากสัตว์หลายชนิด เช่น หนู กระรอก กระต่าย และลิงหลายสายพันธุ์

การติดต่อจากสัตว์สู่คนสามารถเกิดขึ้นได้จากการถูกกัดหรือข่วน โดยพาหะที่มีแนวโน้มมากที่สุดคือหนู

รวมถึงการสัมผัสโดยตรงกับเลือด สารคัดหลั่ง หรือตุ่มหนองของสัตว์ที่ติดเชื้อ

โรคจากสัตว์สู่คนอื่นๆ สามารถถ่ายทอดผ่านการทานเนื้อสัตว์ หรืออาหารที่ปรุงไม่ถูกสุขลักษณะ เช่น การแพร่ระบาดของโรคแอนแทรกซ์ในขั้นต้น

สำหรับการแพร่เชื้อจากคนสู่คนในปัจจุบันในประเทศที่ไม่ได้มีโรคนี้เป็นโรคประจำถิ่น มาจากการสัมผัสใกล้ชิดกับสารคัดหลั่งจากระบบทางเดินหายใจ รอยโรคที่ผิวหนังของผู้ติดเชื้อ หรือวัตถุที่ปนเปื้อน

เนื่องจากความหนาแน่นของประชากรที่เพิ่มมากขึ้นโดยเฉพาะอย่างยิ่งในเขตเมือง และสามารถแพร่กระจายไปยังทวีปต่างๆ ผ่านการเดินทาง

photo REUTERS

โรคจากสัตว์สู่คนมีอันตรายอย่างไร?

แม้ว่าโรคอย่างเช่น โควิด-19 และอีโบลาจะเป็นภัยคุกคามต่อชีวิตมากกว่าโรคฝีดาษลิง แต่โรคจากสัตว์สู่คนกลับสร้างความไม่มั่นคงให้กับประชากรมนุษย์โดยเฉพาะ

ระหว่างการระบาดใหญ่ เราได้เห็นในแบบเรียลไทม์ว่าจะเกิดอะไรขึ้นเมื่อเชื้อโรคชนิดใหม่เริ่มแพร่ระบาดในกลุ่มประชากรที่ไม่มีภูมิคุ้มกัน

ทั้งก่อให้เกิดความเครียดในการหาวิธีรักษาและวัคซีน ตลอดจนกระทบต่อสภาพเศรษฐกิจและสังคม

ตัวอย่างเช่น ต้องใช้เวลาหลายสิบปีในการพัฒนาวิธีการรักษาเอชไอวีได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงเช่นในปัจจุบัน

เราจะป้องกันโรคจากสัตว์ป่าสู่คนได้อย่างไร?

การศึกษาทำความเข้าใจเป็นวิธีหนึ่งในการป้องกันโรคจากสัตว์สู่คน เพราะยังมีคนอีกมากที่ยังไม่รู้ว่าโรคจากสัตว์สู่คนนั้นแพร่กระจายได้อย่างไร

ตัวอย่างเช่น การสอนผู้คนถึงอันตรายของการกินเนื้อสัตว์ป่า หรือจากสัตว์ที่ตายโดยไม่ทราบสาเหตุ

และไม่ควรทานเนื้อสัตว์ที่ไม่ได้ถูกปรุงสุกอย่างถูกสุขลักษณะ สิ่งเหล่านี้สามารถหยุดการแพร่เชื้อได้

ในทำนองเดียวกัน การเสริมสร้างการศึกษาด้านการอนุรักษ์ และความจำเป็นในการปฏิบัติตามข้อบังคับการเที่ยวชมสัตว์ป่า (กรณีกลุ่มลิงขนาดใหญ่ ควรสวมหน้ากาก เว้นระยะทาง 10 เมตร และจำกัดการดู 1 ชั่วโมง) ในภาคการท่องเที่ยวสามารถจำกัดการแพร่กระจายได้

การบังคับใช้กฎหมายป้องกันการล่าสัตว์ป่า ก็สามารถลดการติดต่อระหว่างมนุษย์กับสัตว์ เช่นเดียวกับการยุติการตัดไม้ทำลายป่าและการบุกรุกของมนุษย์ในแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่า

เหนือสิ่งอื่นใด เราพึงต้องตระหนักว่า สุขภาพคน สุขภาพสัตว์ สุขภาพสิ่งแวดล้อม ล้วนเป็นเรื่องเดียวกัน สิ่งนี้จะนำไปสู่การมีสุขภาพที่ดีโดยองค์รวม

หรือที่เรียกว่า One Health

มนุษย์มิสามารถอยู่ได้อย่างโดดเดี่ยว แต่เราเป็นเพียงเสี้ยวหนึ่งของระบบนิเวศที่ยิ่งใหญ่มหาศาล

ซึ่งแต่ละองค์ประกอบของระบบนิเวศล้วนมีหน้าที่ ที่เชื่อมโยงถึงกัน และส่งผลกระทบต่อกัน


เรียบเรียงจาก

อ้างอิงข้อมูลเพิ่มเติมจาก

ผู้เขียน

Website | + posts

โซเชียลมีเดียที่เขียนบันทึกประเด็นปัญหาสิ่งแวดล้อมในยุคแอนโทโปรซีน