การตัดไม้ทำลายป่าทำให้ไวรัสแพร่จากสัตว์สู่มนุษย์ง่ายขึ้น

การตัดไม้ทำลายป่าทำให้ไวรัสแพร่จากสัตว์สู่มนุษย์ง่ายขึ้น

การทำลายป่าจากป่าใหญ่จนกลายเป็นป่าเล็กเป็นหย่อม ๆ นั้นเพิ่มโอกาสที่ไวรัส และเชื้อโรคอื่น ๆ ในการแพร่ระบาดจากสัตว์ป่าสู่มนุษย์ อ้างอิงจากการศึกษาของมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดที่ตีพิมพ์ในเดือนเมษายน ค.ศ.2020

งานวิจัยนี้ได้ทำการศึกษาการแพร่ระบาดของโรคระหว่างมนุษย์ และสัตว์ในอูกันดาตะวันตก มุ่งเน้นไปที่การศึกษาบทเรียนที่ได้จากการระบาดของโรค coronavirus ในตอนนี้ และการค้นหากลยุทธ์เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดในครั้งต่อ ๆ ไป

Laura Bloomfield หัวหน้าทีมในงานวิจัยนี้กล่าวว่า “บทเรียนหนึ่งที่ Covid-19 สอนเราคือเมื่อเกิดการระบาดใหญ่ขึ้นมา มันยากที่จะควบคุมได้ ถ้าเราสามารถลดโอกาสการสัมผัสระหว่างผู้คนกับสัตว์ป่าได้ มันจะเป็นวิธีหนึ่งที่ช่วยลดโอกาสการแพร่ระบาดลงได้”

ประชากรของประเทศยูกันดาในตอนนี้กำลังเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว สิ่งนี้ส่งผลให้มีการตัดไม้ทำลายป่ามากขึ้น เพื่อเป็นที่อยู่อาศัย และสถานที่ผลิตอาหารสำหรับผู้คน

ในปัจจุบันแผ่นดินมากกว่าหนึ่งในสามของแผ่นดินโลกได้ถูกมนุษย์นำไปใช้ในการเกษตร อัตราการถูกทำลายของป่าเขตร้อนในหลายปีให้หลังมานี้สูงมากจนสามารถชนะสถิติเก่า หรือไม่ก็เกือบ ๆ จะชนะได้ ตัวอย่างเช่น ในอเมซอน และในประเทศอินโดนีเซีย ป่าดิบชื้นกำลังถูกทำลายเพื่อใช้พื้นที่ในการปลูกผลิตผลทางการเกษตร เช่น ถั่วเหลือง ปาล์มน้ำมัน และการปศุสัตว์ ในขณะนี้การตัดไม้ทำลายป่าในอเมซอน ประเทศบราซิล ได้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วภายใต้การควบคุมของรัฐบาลของประธานาธิบดี Jair Bolsonaro

ป่าที่อยู่ติดกับสวนปาล์มถูกเผาในปีที่แล้วที่ Kamipang ประเทศอินโดนีเซีย (Ulet Ifansasti for The New York Times)

ศ.ดร. Eric Lambin ศาสตราจารย์ด้านวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับระบบของโลกที่มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด และหนึ่งในผู้ร่วมวิจัยครั้งนี้ได้กล่าวว่า “ในสหรัฐอเมริกามีตัวอย่างของโรคที่ระบาดจากสัตว์สู่คน ซึ่งเชื่อมโยงกับที่ชุมชนชานเมือง และชนบทอยู่ใกล้กับป่า เช่น โรค Lyme แพร่กระจายจากสัตว์ป่าสู่มนุษย์โดยเห็บ เราอาจจะเห็นภาพว่าสาเหตุของการติดเชื้อในมนุษย์หลาย ๆ โรคนั้นเกิดมาจากสัตว์ แต่ที่จริงแล้วมันเป็นเพราะว่ามนุษย์เองนั่นแหละที่รุกล้ำเข้าไปในที่อยู่อาศัยของสัตว์”

ในประเทศยูกันดานักวิจัยได้รวมข้อมูลดาวเทียมเข้ากับการสำรวจแบบตัวต่อตัวของประชาชนกว่า 900 คนที่อยู่ในพื้นที่ใกล้อุทยานแห่งชาติ Kibale เพื่อวิเคราะห์ปัจจัยทางภูมิศาสตร์ และลักษณะพฤติกรรมที่นำไปสู่การมีปฏิสัมพันธ์ทางกายภาพที่เพิ่มขึ้นระหว่างมนุษย์และสัตว์ป่า

ในบรรดาการติดต่อทางกายภาพระหว่างมนุษย์ และสัตว์ป่า นี่คือตัวอย่างสถานการณ์ เช่น เด็กชายคนหนึ่งถูกลิง Colobus สีดำขาวกัดระหว่างทำสวน ชายคนหนึ่งได้พยายามที่จะช่วยลิง L’hoest จากการโดนสุนัขของเขากัด และหญิงคนหนึ่งจัดการกับศพของลิง Vervet ที่ตายแล้วในไร่ข้าวโพดของเธอ ปฏิสัมพันธ์เหล่านี้เพิ่มโอกาสให้กับไวรัสในการแพร่ระบาดจากสัตว์ป่าสู่มนุษย์

ในขณะที่นักวิจัยคาดว่าจะเห็นการปฏิสัมพันธ์ระหว่างสัตว์ป่ากับมนุษย์ที่สูงที่สุดใกล้กับที่อยู่อาศัยที่มีประชากรหนาแน่น แต่จากการสำรวจพวกเขาพบสิ่งที่ตรงกันข้าม ปฏิสัมพันธ์เหล่านี้กลับเกิดในพื้นที่การเกษตร (ซึ่งส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ป่ามาก่อนแล้วมนุษย์ค่อยบุกรุกไปทีหลัง) ที่ใกล้กับชายป่าที่ซึ่งบางทีผู้คนก็เข้าไปในป่าเพื่อหาของป่า และสัตว์ป่าก็ได้เข้ามาในพื้นที่เพาะปลูกของมนุษย์เพื่อหาอาหาร 

นักวิจัยได้กล่าวว่าป่าที่มีสุขภาพดีนั้นควรเป็นป่าผืนใหญ่ที่มีความหลากหลายทางชีวภาพสูง ปัญหาหลักที่ควรได้รับการแก้ไขในตอนนี้คือป่าที่มีอยู่อย่างเป็นหย่อม ๆ ที่เกิดจากการบุกรุกโดยมนุษย์ ซึ่งป่าในลักษณะหย่อม ๆ นี้มีพรมแดนติดต่อระหว่างเขตป่า และเขตที่อยู่อาศัยของมนุษย์เยอะ จึงเพิ่มโอกาสในการเกิดปฏิสัมพันธ์ระหว่างสัตว์ป่ากับมนุษย์ขึ้นด้วย ซึ่งควรทำควบคู่ไปกับการพัฒนาเศรษฐกิจเพื่อสร้างความยั่งยืนให้กับผู้คนไม่ต้องเข้ายึดครองพื้นที่ป่าเพิ่มเพื่อทำการเกษตรสำหรับยังชีพ

งานวิจัยอีกชิ้นที่ทำโดย Royal Society B ในเดือนเมษายน ค.ศ.2020 ได้ทำการศึกษาโรคที่ติดเชื้อจากสัตว์สู่คน ผลลัพธ์ของงานวิจัยนี้สนับสนุนความคิดเรื่องการแพร่ระบาดของโรคว่ามีความสัมพันธ์แบบแปรผันตรงกับการมีปฏิสัมพันธ์ของสัตว์ป่ากับมนุษย์

Laura Bloomfield ได้กล่าวปิดท้ายว่า “โรคติดเชื้อจากสัตว์สู่คนนั้นมีมานานมากแล้ว แต่มันน่าเสียดายกว่าที่ผู้คนจะหันมาสนใจปัญหานี้ Covid-19 ก็ได้คร่าชีวิตไปเป็นจำนวนมากเสียแล้ว”

 


ถอดความและเรียบเรียงจาก Animal Viruses Are Jumping to Humans. Forest Loss Makes It Easier.
ถอดความและเรียบเรียงโดย วณัฐพงศ์ ศิริวิภานันท์ เจ้าหน้าที่ฝ่ายวิชาการ มูลนิธิสืบนาคะเสถียร