เตรียมเดินหน้ากลไกค้าคาร์บอนระดับโลก

เตรียมเดินหน้ากลไกค้าคาร์บอนระดับโลก

ผู้ปล่อยมลภาวะรายใหญ่ทั่วโลกทำกำไรมูลค่ามหาศาลในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมาท่ามกลางระดับการปล่อยแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ที่เพิ่มขึ้นเช่นเดียวกับอุณหภูมิทั่วโลก แม้ตัวเลขดังกล่าวจะน่ากังวล รวมทั้งมีความเข้าใจอย่างดีเยี่ยมเกี่ยวกับผลกระทบจากวิกฤติภูมิอากาศ แต่ที่ผ่านมามีความพยายามเพียงน้อยนิดที่จะติดป้ายราคาบนมลภาวะ

.
แต่สถานการณ์กำลังจะเปลี่ยนแปลงไปภายหลังความก้าวหน้าครั้งสำคัญที่การประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติ เรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสมัยที่ 26 หรือ COP26 ที่เมืองกลาสโกว์ สกอตแลนด์ สหราชอาณาจักร ซึ่งกำหนดหลักการที่จะสามารถบังคับให้ผู้ปล่อยมลภาวะต้องจ่ายเงินในท้ายที่สุด

ตลาดคาร์บอนส่วนใหญ่จะอยู่ใน 2 รูปแบบ แบบแรกคือการบังคับ เช่น โครงการซื้อขายคาร์บอนของรัฐบาลที่กำหนดให้ผู้ปล่อยคาร์บอนรายใหญ่จะต้องจ่ายค่าส่วนต่างซึ่งมีการซื้อขายอยู่ในตลาดเหมือนสินค้าโภคภัณฑ์ชนิดหนึ่ง แบบที่สองคือแบบสมัครใจที่ผู้ปล่อยมลภาวะสามารถซื้อคาร์บอนไดออกไซด์เพื่อหักกลบลบกันกับปริมาณการปล่อยแก๊สคาร์บอนของบริษัทโดยการสนับสนุนโครงการ เช่น การปลูกต้นปี แทนที่จะลดการปล่อยแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ที่บริษัทปล่อย 

การเจรจาใช้เวลาเกือบ 6 ปีในมิติต่างๆ เพื่อกำหนดกฎเกณฑ์ที่จะรวมเอาตลาดคาร์บอนทั่วโลกให้เป็นตลาดเดียวกัน ข้อเสนอนี้เกิดขึ้นครั้งแรกในข้อที่ 6 ของข้อตกลงปารีส (Paris Agreement) ปัจจุบัน รัฐบาลทั่วโลกได้ตกลงชุดเครื่องมือชุดเดียวกันซึ่งจะทำให้ตลาดคาร์บอนสามารถดำเนินการได้ทั่วโลก นำไปสู่การลงทุนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมูลค่าล้านล้านดอลลาร์สหรัฐที่เรียกว่าโครงการชดเชยคาร์บอน

ข้อตกลงนี้สร้างกรอบแนวคิดในการร่วมมือในระดับนานาชาติ” Hæge Fjellheim ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยด้านคาร์บอนที่ Refinitiv กล่าวกรอบดังกล่าวค่อนข้างเข้มข้นเพื่อป้องกันไม่ให้มีการนับซ้ำการปล่อยแก๊สคาร์บอนไดดออกไซด์เมื่อมีการซื้อชายเครดิตข้ามประเทศ

ที่ผ่านมาโครงการซื้อขายคาร์บอนมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา มันได้รับการออกแบบโดยกำหนดเพดานที่สามารถซื้อคาร์บอนมาชดเชยได้ให้ลดลงเรื่อยๆ เพื่อให้มั่นใจว่าราคาคาร์บอนจะสูงขึ้นและส่งสัญญาณที่ชัดเจนผ่านตลาดว่าบริษัทต้องลดการปล่อยแก๊สเรือนกระจก ในตลาดดังกล่าว บริษัทที่ลดการปล่อยแก๊สคาร์บอนยังสามารถขายเครดิตที่พวกเขาไม่ได้จำเป็นต้องใช้เพื่อทำกำไรได้อีกด้วย ส่วนบริษัทที่ยังปล่อยแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ก็จะยังต้องจ่ายต้นทุนที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ผู้ปล่อยมลภาวะรายใหญ่ในอดีต เช่น บริษัทน้ำมันขนาดใหญ่ ค่อนข้างเห็นชอบกับกลไกตลาดคาร์บอนซึ่งเป็นกลไกที่จัดตั้งได้ยากอย่างยิ่ง แต่ในขณะเดียวกัน เบื้องหลังของบริษัทก็พยายามล็อบบี้ผู้กำหนดนโยบายให้ชะลอโครงการดังกล่าว แต่เมื่อไม่นานมานี้ การตัดสินใจของพวกเขาก็เริ่มแสดงให้เห็นถึงสัญญานที่จะส่งผลกระทบต่อผู้ก่อมลภาวะ

เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ระบบซื้อขายคาร์บอนของสหภาพยุโรปซึ่งเป็นหนึ่งในตลาดคาร์บอนที่เก่าแก่ที่สุดในโลก มีราคาซื้อขายคาร์บอนทุบสถิติที่ 67 ยูโรต่อหนึ่งตันหลังจากการประชุมที่กลาสโกว์ เนื่องจากบริษัทและโรงงานผลิตไฟฟ้าต่างแก่งแย่งกันซื้อคาร์บอนเครดิตเพื่อให้สอดคล้องกับการปล่อยแก๊สเรือนกระจกที่เพิ่มขึ้นหลังจากการระบาด ส่วนตลาดคาร์บอนของสหราอาณาจักรก็มีแนวโน้มไปในทิศทางเดียวกัน

ตลาดคาร์บอนในลักษณะเดียวกันที่มีมูลค่ารวมเกือบ 272 พันล้านดอลลาร์สหรัฐอยู่ในระหว่างก่อตั้งหรือกำลังดำเนินการทั่วโลกทั้งในแคนาดา จีน ญี่ปุ่น นิวซีแลนด์ เกาหลีใต้ สวิตเซอร์แลนด์ และสหรัฐอเมริกา

ข้อตกลงที่กลาสโกว์วางรากฐานในตลาดเหล่านี้สามารถเชื่อมโยงกันได้โดยไม่มีความเสี่ยงที่จะนับซ้ำปริมาณคาร์บอนที่ลดได้ เป็นการเพิ่มศักยภาพในการทำกำไรสำหรับบริษัทที่สามารถลดการปล่อยแก๊สเรือนกระจกได้อย่างรวดเร็วในระดับโลก ตัวอย่างเช่น ถ้าโรงไฟฟ้าถ่านหินในจีนสามารถลดการปล่อยแก๊สเรือนกระจก ในทางทฤษฎีแล้วก็จะสามารถขายส่วนต่างที่ลดลงได้ให้กับผู้ผลิตเหล็กกล้าของอังกฤษเพื่อทำกำไร

แต่ขนาดและความรวดเร็วที่จำเป็นต้องการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในทศวรรษนี้ อาจมีความจำเป็นที่รัฐบาลจะต้องจัดการทางตรงกับคาร์บอน เช่น การกำหนดภาษีคาร์บอน ภาษีศุลกากรคาร์บอน หรือการกำหนดภาระทางการเงินต่อประเทศที่มีการปล่อยมลภาวะมากที่สุด

Molly Scott Cato โฆษกของพรรคกรีนกล่าวว่าฉันรู้สึกไม่มั่นใจนักในกลไกตลาดคาร์บอนเนื่องจากพวกเราทราบว่ามีล็อบบี้ยิสต์จากอุตสาหกรรมเชื้อเพลิงฟอสซิลพยายามหาทางเอาชนะระบบ และผลักดันให้ภาครัฐบิดเบือนกลไกตลาดเพื่อให้พวกเขาได้ประโยชน์

Scott Cato คือหนึ่งในผู้สนับสนุนอย่างแข็งขันให้มีการกำหนดราคาคาร์บอนแต่เธอต้องการให้อยู่ในรูปแบบของภาษีนี่คือนโยบายของพรรคกรีนซึ่งพวกเราพบว่าจะช่วยให้รัฐบาลสหราชอาณาจักรระดมเงินภาษีได้เพิ่มถึง 80 พันล้านปอนด์ต่อปี อีกทั้งยังเป็นการส่งสัญญาณต่อตลาดที่ชัดเจนอีกด้วยเธอกล่าว

ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา การกำหนดภาษีคาร์บอนประกอบการการซื้อคาร์บอนเครดิตทำให้อุตสาหกรรมถ่านหินหมดไปจากประเทศเนื่องจากกลไกดังกล่าวส่งผลให้โรงไฟฟ้าถ่านหินกลายเป็นทางเลือกราคาแพงเมื่อเทียบกับการผลิตไฟฟ้าทางเลือกอื่น แต่มันก็นำมาซึ่งผลพวงทางเศรษฐกิจเพราะอุตสาหกรรมหนักของอังกฤษกลับเสียเปรียบในการแข่งขันกับประเทศ เช่น จีน ซึ่งไม่ต้องเผชิญกับต้นทุนดังกล่าว

ภาวะนี้เรียกว่าการรั่วไหลของคาร์บอนซึ่งเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้การปล่อยแก๊สเรือนกระจกยังเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องแม้ว่าสหราชอาณาจักรและสหภาพยุโรปจะลดการปล่อยแก๊สคาร์บอนลงอย่างมากแล้วก็ตาม

ทางแก้ไขปัญหาอาจเป็นการใช้ภาษีศุลกากรคาร์บอนซึ่งจะกำหนดให้ผู้นำเข้าต้องจ่ายผลกระทบคาร์บอนของสินค้าที่ใช้คาร์บอนในการผลิตจำนวนมาก ไม่ว่าผลิตภัณฑ์ดังกล่าวจะผลิตมาจากแหล่งไหนก็ตาม กฎเกณฑ์นี้อาจช่วยลดการปล่อยแก๊สเรือนกระจกพร้อมทั้งยกระดับสนามการแข่งขันของผู้ผลิตในท้องถิ่น

แต่แนวคิดดังกล่าวก็ใช่ว่าจะไม่มีข้อเสีย สถาบันคลังสมอง The European Council on Foreign Relations เตือนว่าความพยายามของสหภาพยุโรปในการกำหนดภาษีศุลกากรคาร์บอนอาจส่งผลเลวร้ายต่อเป้าหมายด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโดยรวมของทั้งโลก เพราะมันอาจจูงใจให้ประเทศอย่างจีนและรัสเซียเร่งลงทุนในการผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมก็จริง แต่คู่ค้าในประเทศแถบแอฟริกาซึ่งไม่มีเงินสำหรับลงทุนในนวัตกรรมสีเขียวอาจตัดสินใจขายผลิตภัณฑ์ให้กับประเทศที่มีมาตรฐานทางสิ่งแวดล้อมที่ต่ำกว่า

หลากหลายมิติของผลกระทบที่ไม่ได้ตั้งใจอาจเป็นส่วนหนึ่งของเหตุผลที่ทำให้หลายประเทศต่างเห็นชอบกับการจัดตั้งกลไกตลาดในการซื้อขายคาร์บอน เน้นย้ำให้เห็นถึงความสำคัญของผลลัพธ์การประชุมที่กลาสโกว์

แม้ว่าตลาดคาร์บอนในระดับโลกหรือภาษีคาร์บอนที่บังคับใช้ทั่วโลกคงไม่เกิดขึ้นในเร็ววันนี้ แต่มันก็เป็นสัญญาณแนวโน้มที่ชัดเจนว่าต้นทุนในการปล่อยมลภาวะคาร์บอนกำลังเพิ่มขึ้นทั่วโลก” Fjellheim กล่าว

การให้คำมั่นเพื่อรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจากหลากหลายบริษัท ทั้งบริษัทน้ำมันและสายการบินนำไปสู่โครงการจำนวนมากที่ตั้งเป้าว่าจะช่วยลดการปล่อยแก๊สเรือนกระจก อย่างไรก็ดี กฎเกณฑ์ใหม่ซึ่งตกลงกันในการประชุม COP26 ในเดือนนี้จะทำให้อุตสาหกรรมดังกล่าวเติบโตอย่างรวดเร็วยิ่งขึ้นโดยการใช้กลไกตลาดที่เปิดทางให้ทุกประเทศเลือกโครงการที่สอดคล้องกับเป้าหมายในระดับประเทศ

ตัวอย่างเช่น ประเทศที่กำลังกระเสือกกระสนที่จะทำตามเป้าหมายของสหประชาชาติ อาจลงทุนมหาศาลในโครงการปลูกป่าในประเทศบราซิลหรือโครงการพลังงานหมุนเวียนในประเทศไนจีเรียเพื่อทำให้สำเร็จตามเป้า

กฎเกณฑ์ของกลไกส่วนกลางจะทำให้แต่ละประเทศสามารถซื้อขายคาร์บอนเครดิตจากโครงการที่ระบุว่าช่วยลดการปล่อยแก๊สเรือนกระจกได้ อีกทั้งยังขจัดความเสี่ยงที่จะนับซ้ำอีกด้วย

ผู้เสนอกลไกดังกล่าวระบุว่านี่อาจเป็นช่องทางของเงินลงทุนมูลค่าหลายล้านล้านดอลลาร์สหรัฐไปยังประเทศกำลังพัฒนาซึ่งหากไม่มีกลไกดังกล่าวก็คงไม่มีแหล่งทุนเพื่อจะลงทุนในโครงการปลูกป่าหรือพลังงานคาร์บอนต่ำ แต่หลายฝ่ายก็ยังตั้งคำถามต่อความน่าเชื่อถือเกี่ยวกับโครงการที่จัดทำในประเทศกำลังพัฒนา รวมทั้งการตรวจสอบและรับรองในระดับพื้นที่ พร้อมทั้งคำถามว่าใครที่จะได้ประโยชน์ทางการเงินตัวจริง

 


ถอดความและเรียบเรียงจาก Polluters face price pain as global carbon trading system moves forward

ผู้เขียน

+ posts

บัณฑิตการเงินและการบัญชีที่สนใจความเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อม หมดเวลาส่วนใหญ่ไปกับการอ่าน เขียน เรียนคอร์สออนไลน์ และเลี้ยงลูกชายวัยกำลังน่ารัก