มหาเศรษฐีอาจทำให้โลกไม่บรรลุเป้าหมายรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

มหาเศรษฐีอาจทำให้โลกไม่บรรลุเป้าหมายรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

งานวิจัยชิ้นใหม่ชี้ว่าการปล่อยแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ของคนที่ร่ำรวยที่สุด 1 เปอร์เซ็นต์กำลังจะเทียบเท่ากับปริมาณ 30 เท่าของระดับที่ทุกคนควรจะปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ได้

.
หากต้องการให้อุณหภูมิโลกเพิ่มขึ้นมากกว่า 1.5 องศาเซลเซียส นักวิทยาศาสตร์จึงกระตุ้นเตือนให้รัฐบาล “จำกัดการปล่อยแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์เพื่อวิถีชีวิตหรูหรา” เช่น เครื่องบินส่วนตัว เรือสำราญขนาดใหญ่ และการท่องเที่ยวในอวกาศ

เพื่อให้เป้าหมายภูมิอากาศตามข้อตกลงปารีสเป็นไปได้ ทุกคนบนโลกจำเป็นต้องลดการปล่อยแก๊สเรือนกระจกเฉลี่ย 2.3 ตันภายในปี พ.ศ. 2573 หรือคิดเป็นราวครึ่งหนึ่งของระดับการปลดปล่อยแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ในปัจจุบัน

“เราพบว่ากลุ่มชนชั้นนำเพียงหยิบมือได้บัตรผ่านพิเศษที่จะปล่อยมลภาวะเท่าไหร่ก็ได้” Naftoke Dabi จากอ็อกซ์แฟมซึ่งเป็นองค์กรที่สนับสนุนทุนวิจัยให้กับ Stockholm Environment Institute และ the Institute for European Environmental Policy เธอเสริมอีกว่า “การปล่อยแก๊สเรือนกระจกในปริมาณมหาศาลจะทำให้สภาพภูมิอากาศสุดขั้วมีความเลวร้ายลงทั่วโลกและเป็นภัยต่อเป้าหมายการจำกัดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิของนานาประเทศ”

งานวิจัยชิ้นนี้เผยแพร่ครั้งแรกในวาระที่ผู้นำทั่วโลกร่วมการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสมัยที่ 26 หรือ COP26 โดยที่ผู้เข้าร่วมจำนวนหนึ่งเดินทางมางานประชุมนี้ด้วยเครื่องบินส่วนตัว อาทิ บอริส จอห์นสัน นายกรัฐมนตรีอังกฤษ เจ้าฟ้าชายชาลส์ และเจฟฟ์ เบซอส องค์กรไม่แสวงหากำไรต่างแสดงความต้องการให้คนที่ร่ำรวยที่สุดเหล่านี้ทำอะไรสักอย่างเพื่อลดการปล่อยแก๊สเรือนกระจกให้สอดคล้องกับข้อตกลงปารีสและใช้อิทธิพลรวมทั้งเงินสนับสนุนเพื่อผลักดันเศรษฐกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

เจมี ลิฟวิงสตัน (Jamie Livingstone) ประธานอ็อกซ์แฟมประจำสก็อตแลนด์ระบุว่า COP26 คือ “การเปิดเผยข้อเท็จจริงในการรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ” เขากล่าวว่า “ผู้นำทั่วโลกจะต้องบรรลุข้อตกลงเพื่อลดการปล่อยแก๊สเรือนกระจกและจำกัดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลก พวกเขาต้องทำในทันทีและที่กลาสโกว์แห่งนี้ ความล่าช้าหมายถึงการสูญเสียชีวิตประชาชน”

ในต้นปีนี้ เบซอสเดินทางไปยังอวกาศในยาน New Shepard ส่วนเซอร์ริชาร์ด แบรนสัน (Sir Richard Branson) ไปเยือนขอบก่อนถึงอวกาศในกระสวย Virgin Galactic และบริษัทของอีลอน มัสก์ (Elon Musk) ให้สัญญาว่าจะพามนุษย์ไปเยือนดาวอังคาร การปล่อยแก๊สเรือนกระจกของการทะยานกระสวยสู่อวกาศในชั่วระยะเวลา 11 นาทีเท่ากับ 75 ตันคาร์บอน ซึ่งมากกว่าการปล่อยคาร์บอนของทั้งชีวิตคนที่ยากจนที่สุดหนึ่งในหลายพันล้านคน 

ทิม กอร์ (Tim Gore) หนึ่งในผู้เขียนงานวิจัยระบุว่ารายงานฉบับดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าการต่อสู้เพื่อคงไว้ซึ่งการจำกัดอุณหภูมิไม่ให้เพิ่มขึ้นเกิน 1.5 องศาเซลเซียสยังมีความเป็นไปได้ เป้าหมายดังกล่าวไม่ได้ถูกขัดขวางโดยการบริโภคของคนส่วนใหญ่บนโลก แต่เป็นคนจำนวนหยิบมือที่ปล่อยแก๊สเรือนกระจกในปริมาณมหาศาลนั่นคือเหล่าคนที่ร่ำรวยที่สุด 

นับเป็นข้อเท็จจริงที่น่าตื่นตะลึง เพราะการปล่อยแก๊สเรือนกระจกของคนที่ร่ำรวยที่สุด 10 เปอร์เซ็นต์ของโลกก็มากพอที่จะเกินงบประมาณการปล่อยแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ภายใต้เป้าหมาย 1.5 องศาเซลเซียส ไม่ว่าคน 90 เปอร์เซ็นต์ที่เหลือจะทำอะไรก็ตาม

กอร์ย้ำว่า “เพื่อปิดช่องว่างการปล่อยแก๊สเรือนกระจกภายในปี พ.ศ. 2573 รัฐบาลมีความจำเป็นจะต้องกำหนดมาตรการไปที่กลุ่มผู้ร่ำรวยที่ปล่อยแก๊สเรือนกระจกสูงสุดซึ่งจะทำให้เราสามารถแก้ไขวิกฤติความเหลื่อมล้ำและปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศไปพร้อมกัน ตัวอย่างเช่นมาตรการจำกัดกิจกรรมหรูหราที่ปล่อยคาร์บอนสูง อาทิเรือสำราญ เครื่องบินส่วนตัว การท่องเที่ยวในอวกาศ และลดการลงทุนที่จะเป็นภาระต่อโลก เช่นการถือหุ้นในอุตสาหกรรมเชื้อเพลิงฟอสซิล”

 


ถอดความและเรียบเรียงจาก ‘Luxury carbon consumption’ of top 1% threatens 1.5C global heating limit

ผู้เขียน

+ posts

บัณฑิตการเงินและการบัญชีที่สนใจความเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อม หมดเวลาส่วนใหญ่ไปกับการอ่าน เขียน เรียนคอร์สออนไลน์ และเลี้ยงลูกชายวัยกำลังน่ารัก