5 ผลลัพธ์สำคัญจากการประชุม COP26

5 ผลลัพธ์สำคัญจากการประชุม COP26

ประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสมัยที่ 26 หรือ COP26 ที่เมืองกลาสโกว์ สกอตแลนด์ สหราชอาณาจักร ได้จบลงแล้วเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมาโดยใช้เวลาเนิ่นนานกว่าที่ประมาณการไว้หนึ่งวัน นี่คือ 5 ประเด็นสำคัญที่เป็นผลลัพธ์จากการประชุมดังกล่าวที่ตัวแทนนานาประเทศเห็นพ้องต้องกัน
.

การลดการปล่อยแก๊สเรือนกระจก

แผนของนานาประเทศในการลดการปล่อยแก๊สเรือนกระจกภายในปี 2030 หรือที่เรียกว่าการมีส่วนร่วมที่ประเทศกำหนด (Nationally Determined Contributions)’ หรือ NDCs ยังไม่เพียงพอที่จะจำกัดอุณหภูมิไม่ให้เพิ่มขึ้นเกิน 1.5 องศาเซลเซียสตามรายงานการวิเคราะห์ซึ่งเผยแพร่ระหว่างการประชุมซึ่งคาดว่าแผนในปัจจุบันจะทำให้อุณหภูมิเพิ่มสูงขึ้นถึง 2.4 องศาเซลเซียส

มีเพียงชาติที่ปล่อยแก๊สเรือนกระจกอันดับต้นๆ ของโลกเพียงประเทศเดียวที่ปรับแผน NDC ในการประชุมนั่นคือ อินเดีย ดังนั้นการจำกัดการปล่อยแก๊สเรือนกระจกให้อยู่ในระดับ 1.5 องศาเซลเซียสยังเป็นงานที่ต้องทำอย่างต่อเนื่องหลังจากจบการประชุมที่กลาสโกว์

แม้ว่าข้อตกลงปารีสจะระบุให้แต่ละชาติปรับแก้ไข NDC ทุกๆ 5 ปีซึ่งครั้งต่อไปจะเป็นปี 2025 แต่การยึดกับแผนการเดิมอาจทำให้อุณหภูมิเพิ่มขึ้นเกิน 1.5 องศาเซลเซียสอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เป้าหมายหนึ่งของสหราชอาณาจักรผู้เป็นเจ้าภาพการประชุมคือการตกลงโรดแมปใหม่ที่จะเปิดทางให้แก้ไขแผน NDC รวดเร็วยิ่งขึ้น

การประชุมดังกล่าวบรรลุเป้าหมายนี้ โดยประเด็นเรื่องความถี่ในการปรับแก้ NDC จะมีการพูดคุยในการประชุม COP ครั้งหน้าซึ่งจะจัดที่ประเทศอียิปต์ โรดแมปดังกล่าวจะเปิดทางให้ประเทศที่ยังแสดงความมุ่งมั่นในการรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศไม่เพียงพอ มีโอกาสในการปรับแก้แผนของตนเองให้สอดคล้องกับนานาชาติ
.

ถ่านหิน

ถ่านหินคือเชื้อเพลิงฟอสซิลที่สกปรกที่สุด องค์การพลังงานสากลระบุอย่างชัดเจนว่าหากเรายังไม่ยุติการใช้ถ่านหินก็แทบไม่มีทางที่เราจะจำกัดอุณภูมิให้อยู่ในกรอบ 1.5 องศาเซลเซียส 

เพื่อบรรลุเป้าหมายนี้ โรงไฟฟ้าถ่านหิน 40 เปอร์เซ็นต์ทั่วโลกจะต้องปิดตัวลงภายในปี 2030 โดยไม่สร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินแห่งใหม่

คำที่มีการถกเถียงอย่างเข้มข้นที่สุดในการประชุมกลาสโกว์คือคำมั่นว่าจะทยอยลด การใช้ไฟฟ้าพลังงานถ่านหิน ซึ่งแรกเริ่มเดิมทีใช้คำว่าทยอยยุติ แต่อินเดียยืนกรานให้ปรับเปลี่ยน แม้ว่าประเทศกำลังพัฒนาแห่งอื่นๆ จะเรียกร้องให้คงเดิมไว้

อาจฟังดูเป็นเรื่องน่าเหลือเชื่อที่สาเหตุหลักในการเกิดวิกฤติภูมิอากาศอย่างลดการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลไม่เคยถูกกล่าวถึงในผลลัพธ์การประชุมนับตั้งแต่สนธิสัญญาเกียวโตที่มีการลงนามเมื่อปี 1997 สะท้อนให้เห็นถึงการต่อต้านอย่างรุนแรงจากประเทศผู้ผลิตน้ำมันและถ่านหิน และเหล่าประเทศที่ต้องพึ่งพาเชื้อเพลิงฟอสซิลดังกล่าว ผลลัพธ์การประชุมครั้งนี้จึงนับว่าเป็นความก้าวหน้าครั้งสำคัญ แม้ว่าจะมีการลดความรุนแรงของคำลงก็ตาม
.

การปรับตัวและการสนับสนุนเงินทุน

ประเทศร่ำรวยให้คำมั่นในปี 2009 ว่าประเทศยากจนจะได้รับเงินอย่างน้อย 100 พันล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปีนับตั้งแต่ปี 2020 จากแหล่งภาครัฐและภาคเอกชนเพื่อช่วยลดการปล่อยแก๊สเรือนกระจกและรับมือผลกระทบจากวิกฤติภูมิอากาศ แต่ภายในปี 2019 ซึ่งปรากฏข้อมูลล่าสุด เงินช่วยเหลือนี้มีมูลค่าเพียง 80 พันล้านดอลลาร์สหรัฐเท่านั้น

ประเทศกำลังพัฒนาไม่พอใจอย่างมากจากเรื่องนี้ สะท้อนจากผลการประชุมและคำมั่นว่าจะมีการเพิ่มการสนับสนุนเงินช่วยเหลือใน 5 ปีข้างหน้าให้เทียบเท่ากับ 500 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ 

งบประมาณก้อนนี้มีความจำเป็นสำหรับใช้เพื่อรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นหลักมากกว่าใช้เพื่อลดการปล่อยแก๊สเรือนกระจก

นี่คือเรื่องสำคัญเพราะแหล่งเงินทุนส่วนใหญ่มีให้สำหรับการลดการปล่อยแก๊สเรือนกระจก เช่น พลังงานหมุนเวียน ในประเทศรายได้ปานกลางสามารถดำเนินโครงการเหล่านี้เองได้ไม่ยากโดยไม่ต้องรอความช่วยเหลือ เพราะปัจจุบันธุรกิจดังกล่าวสามารถทำกำไรได้ แต่สำหรับประเทศที่ยากจนอย่างยิ่ง พวกเขาจำเป็นต้องการเงินทุนเพื่อปรับตัวรับมือกับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศซึ่งหาแหล่งทุนยากอย่างยิ่ง

ในท้ายที่สุดแล้ว ข้อตกลงระบุว่าจะเพิ่มสัดส่วนเงินลงทุนด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเพื่อใช้ปรับตัว สหประชาชาติและบางประเทศเรียกร้องให้สัดส่วนดังกล่าวอยู่ที่ระดับครึ่งต่อครึ่ง แม้ว่าผลลัพธ์ที่ได้จากการประชุมอาจไม่เป็นไปตามเป้าแต่ก็นับเป็นความก้าวหน้าครั้งสำคัญ
.

ความเสียหาย

ประเด็นเรื่องความเสียหายมักจะอ้างถึงหายนะจากวิกฤติภูมิอากาศที่รุนแรงเกินกว่าหลายประเทศจะรับมือไหว เช่น เฮอร์ริเคน ไซโคลน หรืออุทกภัยของพื้นที่ราบต่ำ

หลายประเทศพูดถึงประเด็นความเสียหายมานับทศวรรษ แต่การพูดคุยยังไม่มีความก้าวหน้าสักเท่าไหร่ ประเทศกำลังพัฒนากล่าวว่าพวกเขาใช้เงินก้อนใหญ่ในงบประมาณที่แสนจะจำกัดเพื่อรับมือกับความเสียหายที่เกิดขึ้นจากวิกฤติภูมิอากาศ แต่ประเทศพัฒนาแล้วก็ยังกังวลว่าการพูดคุยในประเด็นนี้อาจจบลงที่การเรียกร้องให้พวกเขาจ่ายเงินชดเชยหรือช่วยเหลือจากความเสียหายที่เกิดขึ้น ซึ่งเป็นเรื่องรับไม่ได้เพราะจะเปิดทางสู่ภาระทางกฎหมายที่ไร้ที่สิ้นสุด

การประชุม COP ครั้งล่าสุดมีการผลักดันประเด็นนี้ไปถึงการตั้งฐานข้อมูล ระบบการสื่อสาร และระบบการรายงานเรียกว่าโครงข่ายซานติเอโก (Santiago Network) ประเทศกำลังพัฒนาหลายแห่งหวังว่า COP26 จะช่วยนำไปสู่การตั้งกลไกส่งมอบเงินช่วยเหลือเมื่อเกิดความเสียหาย แม้ว่ามันจะยังไม่เกิดขึ้นแต่ประเด็นนี้ก็จะมีการอภิปรายต่อในปีหน้า
.

การยืนยันตามข้อตกลงปารีส

บางประเทศเดินทางมายังกลาสโกว์เพื่อปฏิเสธที่จะดำเนินการอะไรมากกว่านี้ พร้อมทั้งบอกว่าการสนใจตัวเลข 1.5 องศาเซลเซียส จะเป็นการหยิบข้อตกลงปารีสมาพูดคุยใหม่ ซึ่งเป้าหมายหลักคือจำกัดอุณหภูมิไม่ให้เพิ่มขึ้นเกิน” 2 องศาเซลเซียสก่อนการปฏิวัติอุตสาหกรรม และพยายามอย่างยิ่งที่จะจำกัดอุณหภูมิไม่ให้เพิ่มเกิน 1.5 องศาเซลเซียส

สหราชอาณาจักรเจ้าภาพการประชุม และจอห์น เคอร์รี จากสหรัฐอเมริกาต่างย้ำหลายต่อหลายครั้งว่าไม่ให้เพิ่มขึ้นเกิน” 2 องศาเซลเซียส ย่อมไม่ได้หมายถึง 1.9 หรือ 1.8 องศาเซลเซียส ความหมายของคำนี้อาจรวมถึงการเพิ่มขึ้นต่ำกว่า 1.5 องศาเซลเซียสด้วยซ้ำ พวกเขายังย้ำถึงข้อความที่ว่าความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ที่ดีที่สุดซึ่งได้ไปไกลมากนับตั้งแต่ข้อตกลงปารีส อีกทั้งวิทยาศาสตร์ยังยืนยันอีกว่าการจำกัดอุณหภูมิที่ 1.5 องศาเซลเซียสปลอดภัยกว่า 2 องศาเซลเซียสอย่างยิ่ง

ผลลัพธ์จากการประชุมที่กลาสโกว์จึงเป็นการยืนยันเป้าหมาย 1.5 องศาเซลเซียสอีกครั้ง ซึ่งนับเป็นความสำเร็จของสหราชอาณาจักรเจ้าภาพการประชุมและดีต่อโลกรวมถึงมนุษยชาติอีกด้วย

 


ถอดความและเรียบเรียงจาก What are the key points of the Glasgow climate pact?

ผู้เขียน

+ posts

บัณฑิตการเงินและการบัญชีที่สนใจความเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อม หมดเวลาส่วนใหญ่ไปกับการอ่าน เขียน เรียนคอร์สออนไลน์ และเลี้ยงลูกชายวัยกำลังน่ารัก