‘บุหรี่’ ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างรุนแรง

‘บุหรี่’ ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างรุนแรง

‘บุหรี่’ คือสาเหตุของการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรของประชากรแปดล้านคน ต้นไม้ 600 ล้านต้น ที่ดินขนาด 200,000 เฮกตาร์ น้ำ 22 พันล้านตัน และปล่อยคาร์บอนราว 84 ล้านตันสู่ชั้นบรรยากาศโลก

‘บุหรี่’ ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างรุนแรง ตามรายงานฉบับล่าสุดโดยองค์การอนามัยโลกระบุว่าอุตสาหกรรมบุหรี่เป็นภัยคุกคามที่เลวร้ายรุนแรงมากกว่าที่หลายคนนึกถึงในฐานะหนึ่งในผู้ก่อมลภาวะอันดับต้นๆ ของโลก ที่สร้างขยะปริมาณมหาศาลและเป็นหนึ่งในต้นเหตุให้เกิดสภาวะโลกร้อน

รายงานโดยองค์การอนามัยโลกชื่อว่า Tobacco: Poisoning Our Planet เผยแพร่เมื่อเดือนที่ผ่านมาระบุว่า ‘บุหรี่’ คือสาเหตุของการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรของประชากรแปดล้านคน ต้นไม้ 600 ล้านต้น ที่ดินขนาด 200,000 เฮกตาร์ น้ำ 22 พันล้านตัน และปล่อยคาร์บอนราว 84 ล้านตันสู่ชั้นบรรยากาศโลก

รายงานฉบับดังกล่าวพบว่ารอยเท้าคาร์บอนจากการผลิตและขนส่งยาสูบคิดเป็นสัดส่วนเท่ากับหนึ่งในห้าของคาร์บอนที่ปลดปล่อยโดยอุตสาหกรรมสายการบินในแต่ละปีซึ่งเป็นสาเหตุของสภาวะโลกร้อน ข้อค้นพบดังกล่าวนับว่า “น่าหวาดหวั่น” ตามความคิดเห็นของ Ruediger Krech จากองค์การอนามัยโลก พร้อมระบุว่าอุตสาหกรรมดังกล่าวเป็น “หนึ่งในผู้ปลดปล่อยมลภาวะอันดับต้นๆ เท่าที่เรามีข้อมูล”

บุหรี่

นอกจากนี้ “ผลิตภัณฑ์ยาสูบยังเป็นสิ่งของที่ถูกทิ้งมากที่สุดในโลก มันประกอบด้วยสารอันตรายกว่า 7,000 ชนิดที่ปนเปื้อนเข้าสู่สิ่งแวดล้อม” Krech กล่าว

เขาระบุว่าก้นบุหรี่ถูกทิ้งลงสู่ธรรมชาติกว่า 4.5 ล้านล้านชิ้นในแต่ละปี ปนเปื้อนเข้าสู่มหาสมุทร แม่น้ำ ข้าวทางเท้า ชายหาด แต่ละชิ้นจะก่อให้เกิดมลภาวะในน้ำประมาณ 100 ลิตร ขณะที่เกษตรกรฟาร์มยาสูบราวหนึ่งในสี่จะเป็นโรคใบยาสูบสดซึ่งเป็นภาวะเป็นพิษจากนิโคตินที่ดูดซึมผ่านผิวหนัง

Krech เปิดเผยว่าเกษตรกรที่สัมผัสกับใบยาสูบสดทั้งวันจะได้รับสารนิโคตินเทียบเท่ากับการสูบบุหรี่ 50 มวนในแต่ละวัน นับเป็นเรื่องที่น่ากังวลสำหรับเด็กๆ ที่อยู่ในครัวเรือนของเกษตรกรที่ทำงานในฟาร์มยาสูบ “ลองจินตนาการถึงเด็กอายุ 12 ขวบที่เสมือนว่าสูบบุหรี่ 50 มวนในแต่ละวันดูสิครับ” เขากล่าว

พื้นที่เพาะปลูกยาสูบส่วนใหญ่อยู่ในประเทศยากจนซึ่งแหล่งน้ำและพื้นที่การเกษตรมักมีไม่เพียงพอ และการปลูกยาสูบก็มักต้องแลกมาด้วยทรัพยากรที่ควรจะนำไปใช้ปลูกพืชสำคัญ การปลูกยาสูบยังเป็นสาเหตุของการตัดไม้ทำลายป่าราว 5 เปอร์เซ็นต์ และใช้ทรัพยากรน้ำมหาศาล

นอกจากนี้ ผลิตภัณฑ์อย่างบุหรี่ ยาสูบไร้ควัน และบุหรี่ไฟฟ้า ยังเป็นสร้างขยะพลาสติกจำนวนมหาศาล ก้นกรองบุหรี่มีไมโครพลาสติกซึ่งหมายถึงพลาสติกขนาดเล็กที่พบทั่วทุกมุมโลกแม้แต่ร่องที่ลึกที่สุดในมหาสมุทร และยังเป็นมลภาวะพลาสติกที่พบได้มากที่สุดเป็นอันดับสองของโลก

บุหรี่

ถึงแม้อุตสาหกรรมยาสูบจะบอกว่าก้นกรองช่วยบรรเทาผลกระทบด้านสุขภาพ องค์การอนามัยโลกย้ำว่าไม่มีหลักฐานยืนยันคำกล่าวอ้างดังกล่าว เหล่าผู้ออกแบบนโยบายทั่วโลกจึงควรมองว่าก้นกรองบุหรี่เป็นพลาสติกใช้แล้วทิ้งและควรมีกฎหมายแบนนั่นเอง

องค์การอนามัยยังเรียกร้องให้มีการบังคับเก็บภาษีบุหรี่ที่มากยิ่งขึ้นโดยรวมเอาภาษีสิ่งแวดล้อมเข้าไปด้วย อีกทั้งรัฐบาลควรจะขยายบริการสนับสนุนให้คนเลิกบุหรี่อีกด้วย

เมื่อต้นปีที่ผ่านมา คณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเปิดเผยรายงานว่าประชากรกว่าครึ่งหนึ่งของโลกเข้าข่ายเป็นกลุ่มเปราะบางที่อาจได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

รัฐบาลนิวซีแลนด์วางแผนว่าจะห้ามการจำหน่ายให้กับประชาชนที่เกิดหลังปี พ.ศ. 2551 และเริ่มเพิ่มอายุที่อนุญาติให้สูบบุหรี่ตามกฎหมาย 1 ปีต่อเนื่องทุกปี เริ่มตั้งแต่ พ.ศ. 2570 กฎเกณฑ์ดังกล่าวตั้งเป้าที่จะสร้างประชากรปลอดบุหรี่เพื่อลดผู้สูบบุหรี่ในประเทศให้ลดลงเหลือน้อยกว่า 5 เปอร์เซ็นต์ในทุกกลุ่มอายุซึ่งคาดว่าจะบรรลุได้ภายในปี พ.ศ. 2568


ถอดความและเรียบเรียงจาก Tobacco industry causing huge environmental damage, WHO warns

ผู้เขียน

+ posts

บัณฑิตการเงินและการบัญชีที่สนใจความเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อม หมดเวลาส่วนใหญ่ไปกับการอ่าน เขียน เรียนคอร์สออนไลน์ และเลี้ยงลูกชายวัยกำลังน่ารัก