ไม่เพียงแค่สัตว์น้ำในมหาสมุทร แต่นกและสัตว์เลี้ยงบกก็ถูกคุกคามจากพลาสติกเช่นกัน

ไม่เพียงแค่สัตว์น้ำในมหาสมุทร แต่นกและสัตว์เลี้ยงบกก็ถูกคุกคามจากพลาสติกเช่นกัน

มนุษย์ได้สร้างพลาสติกจำนวนมากกระจายอยู่ทั่วตั้งแต่ยอดเขาเอเวอเรสต์ไปจนถึงร่องลึกใต้มหาสมุทร

.
เมื่อเรานึกถึงผลกระทบจากพลาสติกต่อสัตว์ป่า ภาพแรกๆ ที่ปรากฏในหัวมักจะเป็นเหล่าวาฬที่หางติดกับแห หรือเหล่าเต่าทะเลที่กินถุงพลาสติกเพราะคิดว่าเป็นแมงกะพรุน แต่ความเสี่ยงดังกล่าวไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะกับสัตว์น้ำในมหาสมุทร รายงานล่าสุดของโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติสรุปว่าสัตว์น้ำจืดและสัตว์บกก็ได้รับผลกระทบจากมลภาวะพลาสติกเช่นกัน

รายงานดังกล่าวเน้นพื้นที่เอเชียแปซิฟิกโดยระบุผลกระทบของพลาสติกต่อสัตว์บกและสัตว์น้ำภายใต้อนุสัญญาว่าด้วยการอนุรักษ์ชนิดพันธุ์สัตว์ป่าที่อพยพย้ายถิ่น (Convention on the Conservation of Migratory Species of Wild Animals) อนุสัญญาดังกล่าวริเริ่มตั้งแต่ปี พ.. 2522 เพื่อปกป้องสัตว์ป่าที่อพยพย้ายถิ่น รายงานฉบับดังกล่าวหยิบยกกรณีศึกษาจากแม่น้ำสำคัญสองสายประจำภูมิภาคคือแม่โขงและคงคาซึ่งส่งต่อมลภาวะพลาสติกกว่า 200,000 ตันต่อปีสู่มหาสมุทรอินเดียและแปซิฟิกในแต่ละปี

งานวิจัยทางวิทยาศาสตร์ส่วนใหญ่ที่เกี่ยวกับผลกระทบต่อสัตว์ป่ามักจะเน้นผลกระทบในมหาสมุทร ไม่ว่าจะเป็นขยะพลาสติกที่ไปเกี่ยวพันสัตว์ทะเลขนาดใหญ่ หรือผลกระทบของไมโครพลาสติกขนาดจิ๋ว” Amy Fraenkel ให้สัมภาษณ์กับเว็บไซต์ Mongabay “รายงานฉบับนี้ถือเป็นครั้งแรกที่เราเน้นผลกระทบของพลาสติกต่อสัตว์บกและสัตว์น้ำจืดที่อพยพ

ผลลัพธ์ของรายงานดังกล่าวนับว่าน่ากังวล การติดพันพลาสติกและการกินพลาสติกโดยตรงจะทำร้ายชนิดพันธุ์สัตว์อพยพทั่วทั้งภูมิภาค ไม่ว่าจะอยู่บนบกหรือในน้ำ นอกจากจะเสี่ยงต่อการเสียชีวิตแล้ว การสัมผัสพลาสติกยังเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม กระทบต่อสุขภาพ และโอกาสอยู่รอดในระยะยาว

ในระบบนิเวศน้ำจืด สัตว์น้ำเสี่ยงต่อการจมน้ำตายเนื่องจากติดพันกับเครื่องมือจับสัตว์น้ำที่ถูกทิ้งลงสู่แหล่งน้ำ รายงานอ้างถึงโลมาแม่น้ำคงคา (Platanista gangetica) ที่เหลืออยู่เพียง 3,500 ชีวิต และโลมาอิรวดี (Orcaella brevirostris) แห่งแม่น้ำโขงซึ่งอาจมีเหลือไม่ถึง 100 ตัว สัตว์สองชนิดนี้นับว่าเป็นกลุ่มเปราะบาง

ในกรณีของพะยูน (Dugong dugon) ถึงแม้ว่าติดพันกับขยะพลาสติกคือสาเหตุสำคัญคือทำให้เสียชีวิต แต่การกินพลาสติกก็เป็นสาเหตุของการตายของพะยูนหลายตัวในอินเดียและไทยในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ข้อเท็จจริงที่ว่าอุปกรณ์ตกปลาคือภัยคุกคามสำคัญในแม่น้ำโขงและแม่น้ำคงคา คือประเด็นเร่งด่วนที่รัฐต้องให้ความสนใจ 

ทั่วทั้งภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก สัตว์ป่าต่างเจอกับมลภาวะพลาสติกจนแทบเป็นเรื่องปกติ มีการพบช้างเอเชีย (Elephas maximus) ในประเทศศรีลังกาที่หากินกับกองขยะ ส่วนในเกาหลีใต้ นกปากช้อน (Platalea minor)  ก็นำเอาซากพลาสติกไปใช้ทำรัง เกาะหลายแห่งที่กระจายตัวอยู่ในมหาสมุทรแปซิฟิกก็มีรายงานว่าพบนกนางนวลกินขยะพลาสติกจำนวนมาก อีกทั้งยังนำขยะดังกล่าวไปป้อนให้กับลูกนกอีกด้วย

รายงานฉบับนี้ย้ำว่าชนิดพันธุ์ที่ต้องอพยพย้ายถิ่นฐานจะมีความเปราะบางเป็นพิเศษเนื่องจากการอพยพของมันจะทำให้ต้องผ่านระบบนิเวศที่หลากหลาย เพิ่มความเป็นไปได้ที่จะต้องเคลื่อนที่ผ่านเขตอุตสาหกรรมหรือสภาพแวดล้อมที่ปนเปื้อนมลภาวะสูง

นอกจากนี้ ความสามารถในการจัดการพลาสติกทั่วโลกยังเติบโตไม่ทันการใช้พลาสติกของประชาชน เนื่องจากความคงทนของมัน การปนเปื้อนของพลาสติกในแหล่งน้ำมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในอนาคตอันใกล้ งานวิจัยที่ตีพิมพ์เมื่อปี พ.. 2563 ในวารสาร Science คาดว่าแม้ทั่วโลกจะพยายามลดและจัดการขยะพลาสติกอย่างเต็มที่ แต่ภายในปี พ.. 2573 ขยะพลาสติกปริมาณ 53 ล้านตันก็จะปนเปื้อนสู่แม่น้ำและมหาสมุทร โดยตัวเลขดังกล่าวอาจเพิ่มขึ้นเป็น 90 ล้านตันต่อปี

ความเข้าใจในแวดวงวิทยาศาสตร์ถึงผลกระทบต่อไมโครพลาสติกต่อห่วงโซ่อาหาร รวมทั้งการปนเปื้อนในร่างกายสัตว์ป่าและมนุษย์ก็ยังไม่มีความก้าวหน้ามากนักเราจำเป็นต้องทำวิจัยอย่างเร่งด่วนเพื่อดำเนินมาตรการแก้ไขปัญหาที่เหมาะสม ไม่ว่าจะเป็นภัยคุกคามต่อสิ่งแวดล้อมหรือสุขภาพของเราก็ตาม” Fraenkel กล่าวเราให้ความสำคัญกับการทำความสะอาดมหาสมุทรซึ่งตอนนี้อาจจะสายเกินไป เราจำเป็นต้องหาทางแก้ไขปัญหาและป้องกันการปนเปื้อนของพลาสติกตั้งแต่ต้นทาง

รายงานฉบับดังกล่าวเรียกร้องให้มีการปฏิรูปอย่างเร่งด่วน ทั้งการลดการใช้ผลิตภัณฑ์พลาสติก พร้อมทั้งมาตรการต่างๆ เพื่อจำกัดปริมาณพลาสติกไม่ให้ปนเปื้อนสู่สิ่งแวดล้อม ภาครัฐควรดำเนินนโยบายจัดการขยะและรีไซเคิลที่เคร่งครัดยิ่งขึ้น นักออกแบบผลิตภัณฑ์ควรพยายามลดการใช้พลาสติกและมองหาวัสดุทดแทนอื่นที่ส่งผลกระทบน้อยกว่า รวมทั้งการรณรงค์เพื่อสร้างความตระหนักรู้และลดการใช้พลาสติกในชีวิตประจำวัน พร้อมกับการนำเอาการลดพลาสติกไปเป็นส่วนหนึ่งของเป้าหมายเพื่อการอนุรักษ์

 

ร่วมรักษาป่าใหญ่ ผ่านระบบ Thai QR Code

 


ถอดความและเรียบเรียงจาก Not just sea life: Migratory fish, birds and mammals also fall foul of plastic

ผู้เขียน

+ posts

บัณฑิตการเงินและการบัญชีที่สนใจความเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อม หมดเวลาส่วนใหญ่ไปกับการอ่าน เขียน เรียนคอร์สออนไลน์ และเลี้ยงลูกชายวัยกำลังน่ารัก