อนาคตสดใสของ ‘พลังงานแสงอาทิตย์’ ในภูมิภาคเอเชีย

อนาคตสดใสของ ‘พลังงานแสงอาทิตย์’ ในภูมิภาคเอเชีย

พลังงานแสงอาทิตย์ – แม้ว่าราคาแก๊สและถ่านหินจะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในปี พ.ศ. 2565 การเติบโตอย่างก้าวกระโดดของพลังงานแสงอาทิตย์ในประเทศจีน อินเดีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ เวียดนาม ฟิลิปปินส์ และไทยก็ช่วยบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายจากต้นทุนเชื้อเพลิงฟอสซิลมูลค่ามหาศาล

การผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในประเทศสำคัญ 7 แห่งในเอเชีย จีน อินเดีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ เวียดนาม ฟิลิปปินส์ และไทย สามารถลดภาระค่าใช้จ่ายเชื้อเพลิงฟอสซิลมูลค่าร่วม 34 พันล้านดอลลาร์ตั้งแต่เดือนมกราคมถึงมิถุนายนปีนี้ หรือคิดเป็นราว 9 เปอร์เซ็นต์ของค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับเชื้อเพลิงฟอสซิลในช่วงเวลาดังกล่าว

ห้าประเทศในเอเชียยังติด 1 ใน 10 เศรษฐกิจที่ผลิตพลังงานแสงอาทิตย์สูงที่สุดทั่วโลกอีกด้วย เมื่อทศวรรษที่ผ่านมา มีเพียงสองประเทศเท่านั้นที่ติดโผดังกล่าว ขณะที่กลุ่มประเทศสหภาพยุโรปคือผู้นำ แต่ปัจจุบันอินเดีย เวียดนาม และเกาหลีใต้ได้เดินเข้าสู่หนึ่งในสิบอันดับแรก

ศักยภาพในการผลิตพลังงานแสงอาทิตย์มีแนวโน้มเติบโตขึ้นอีก 22 เปอร์เซ็นต์ต่อปี จนถึงปี พ.ศ. 2573 ในประเทศแถบเอเชีย 5 แห่ง (จีน อินเดีย ฟิลิปปินส์ ญี่ปุ่น และอินโดนีเซีย)

แม้ว่าความต้องการใช้ไฟฟ้ามักจะถูกตีกรอบว่าต้องมาจากถ่านหิน แก๊สธรรมชาติ หรือนิวเคลียร์ อย่างไรก็ตาม พลังงานแสงอาทิตย์ก็เปรียบเสมือนคลื่นลูกใหม่มาแรงที่เติบโตอย่างรวดเร็วทั่วทั้งภูมิภาค ในทศวรรษที่ผ่านมาจีน อินเดีย เกาหลีใต้ เวียดนาม และญี่ปุ่น ต่างเพิ่มสัดส่วนพลังงานแสงอาทิตย์ในการผลิตไฟฟ้าของประเทศอย่างมีนัยสำคัญ

เมื่อต้นปี พ.ศ. 2553 จีนมีกำลังผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์เพียง 1 กิกะวัตต์ แต่เมื่อปลายปี พ.ศ. 2564 จีนมีกำลังการผลิตเพิ่มขึ้นเป็น 307 กิกะวัตต์ โดยในปีนั้นมีการเพิ่มโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์แห่งใหม่มากถึง 53 กิกะวัตต์ ในปี พ.ศ. 2565 คาดว่าจีนจะทุบสถิติปีที่ผ่านมาโดยคาดว่าจะเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ใส่โครงข่ายพลังงานราว 75 ถึง 90 กิกะวัตต์ซึ่งเทียบเท่ากับกำลังการผลิตพลังงานแสงอาทิตย์ทั้งประเทศของสหรัฐอเมริกา คิดเป็น 1.5 เท่าของประเทศเยอรมัน และ 4 เท่าตัวเมื่อเทียบกับออสเตรเลีย

Photo : 李大毛 没有猫

ภาคพลังงานแสงอาทิตย์ในอินเดียก็เติบโตอย่างก้าวกระโดดเช่นกัน โดยเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์จาก 0.07 กิกะวัตต์ในปีพ.ศ. 2553 เป็น 50 กิกะวัตต์ในปลายปี พ.ศ. 2564 นับเป็นการเปลี่ยนผ่านวิธีการผลิตพลังงานของอินเดียอย่างมีนัยสำคัญ

ญี่ปุ่นคือประเทศผู้นำด้านพลังงานแสงอาทิตย์ โดยติดผู้ผลิตพลังงานแสงอาทิตย์สูงที่สุด 5 อันดับแรกของโลกต่อเนื่องตลอด 11 ปี อย่างไรก็ตาม ศักยภาพในการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์เพิ่มขึ้นจาก 4 กิกะวัตต์ในปี พ.ศ. 2553 หรือคิดเป็นเพียง 0.3 เปอร์เซ็นต์ของกำลังการผลิตไฟฟ้าทั้งหมด เป็น 74 กิกะวัตต์ในปี พ.ศ. 2565 หรือคิดเป็น 9 เปอร์เซ็นต์ของกำลังการผลิตไฟฟ้า

ขณะที่กำลังการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ต่างก็เติบโตในฟิลิปปินส์และไทย แต่การเพิ่มขึ้นนับว่าน้อยมาก ปัจจุบันการผลิตพลังงานแสงอาทิตย์ในไทยคิดเป็นเพียงน้อยกว่า 3 เปอร์เซ็นต์ของกำลังการผลิตเท่านั้น ส่วนในฟิลิปปินส์คิดเป็นเพียง 2 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น

อย่างไรก็ตาม พลังงานแสงอาทิตย์ในเอเชียมีศักยภาพในการเติบโตอย่างรวดเร็วในอนาคต จากเป้าหมายของแต่ละประเทศของเขตเศรษฐกิจใหญ่ห้าแห่งของเอเชีย (จีน อินเดีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และญี่ปุ่น) เราคาดว่าจะเห็นการเติบโตของพลังงานแสงอาทิตย์ราว 22 เปอร์เซ็นต์ต่อปีจนถึงปี พ.ศ. 2573

การเติบโตดังกล่าวจะสูงอย่างยิ่งในประเทศจีนซึ่งกำลังการผลิตพลังงานแสงอาทิตย์เพียงอย่างเดียวคาดว่าจะสูงถึง 1,200 กิกะวัตต์ภายในปี พ.ศ. 2573 นอกจากนี้ เราก็คาดว่าจะเห็นการเติบโตอย่างมีนัยสำคัญในอินเดีย อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์เช่นกัน ซึ่งจำเป็นต้องมีนโยบายนวัตกรรมและการลงทุนในเทคโนโลยีจัดเก็บพลังงานที่มีความยืดหยุ่น รวมถึงการร่วมมือทางเศรษฐกิจและเทคโนโลยีครั้งใหญ่

ถอดความและเรียบเรียงจาก The sunny side of Asia

ผู้เขียน

+ posts

บัณฑิตการเงินและการบัญชีที่สนใจความเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อม หมดเวลาส่วนใหญ่ไปกับการอ่าน เขียน เรียนคอร์สออนไลน์ และเลี้ยงลูกชายวัยกำลังน่ารัก