ชวนเยาวชนมาเรียนรู้การทำงานของเหล่าผู้พิทักษ์ป่า ผ่าน กิจกรรม ‘ผู้พิทักษ์ป่าตัวน้อย’ ที่โรงเรียนอำนวยศิลป์ 

ชวนเยาวชนมาเรียนรู้การทำงานของเหล่าผู้พิทักษ์ป่า ผ่าน กิจกรรม ‘ผู้พิทักษ์ป่าตัวน้อย’ ที่โรงเรียนอำนวยศิลป์ 

มูลนิธิสืบนาคะเสถียรร่วมกับทีมเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแม่วงก์ นำโดย นายเนรมิต สงแสง หัวหน้าอุทยานแห่งชาติแม่วงก์ ได้เข้าร่วมเป็นวิทยากรเพื่อให้ความรู้และสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับงานผู้พิทักษ์ป่าแก่นักเรียนระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 4-5 ณ โรงเรียนอำนวยศิลป์ กรุงเทพมหานครฯ 

กิจกรรมครั้งนี้ต่อเนื่องมาจากกิจกรรมการเรียนรู้เรื่องราวผู้พิทักษ์ป่าในชั้นเรียน และกิจกรรมระดมทุนให้กับกองทุนเพื่อผู้พิทักษ์ป่า หลังจากสิ้นสุดกิจกรรมดังกล่าวทางโรงเรียนอำนวยศิลป์ได้ประสานกับมูลนิธิสืบฯ เพื่อรับมอบเงินจากการจัดกิจกรรม ตลอดจนจัดกิจกรรม ‘ผู้พิทักษ์ป่าตัวน้อย’ เพื่อให้นักเรียนได้มีความเข้าใจถึงบทบาทและหน้าที่ของผู้พิทักษ์ป่าเพิ่มมากขึ้น 

ทีมเจ้าหน้าที่จากอุทยานแห่งชาติแม่วงก์ได้บรรยายในหัวข้อ ‘SMART Patrol’ หรือ ‘การลาดตระเวนเชิงคุณภาพ’ เพื่อให้นักเรียนที่เข้าร่วมกิจกรรมทราบถึงวิธีทำงานของเหล่าผู้พิทักษ์ป่า ตลอดจนการสร้างความรู้เกี่ยวกับผืนป่าและสัตว์ป่า 

เนื้อหาไล่มาตั้งแต่การให้นิยามและความหมายของ SMART Patrol กล่าวคือ ระบบ SMART Patrol เป็นระบบการลาดตระเวนที่พัฒนาขึ้นจากระบบลาดตระเวนแบบเดิมให้ทันสมัยขึ้น ผ่านการนำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาเสริมการทำงานของผู้พิทักษ์ป่า โดยใช้ระบบฐานข้อมูล ที่เรียกว่า SMART (Spatial Monitoring And Reporting Tool) ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่ถูกพัฒนาขึ้นเพื่อการจัดการและดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติอย่างมีประสิทธิภาพ  

และเพื่อให้เห็นภาพชัดเจนมากยิ่งขึ้น ทีมเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่ายังเปิดคลิปจากกล้องดักถ่ายภาพเหล่าสรรพสัตว์ในป่าให้นักเรียนได้รับชม โดยสัตว์ที่สร้างความตื่นเต้นและเป็นที่ชื่นชอบกันมากที่สุดคือ ‘เสือโคร่ง’ นักล่าแห่งพงไพร พร้อมบรรยายให้ความรู้และปลูกฝังเรื่องการอนุรักษ์ประชากรเสือโคร่งให้เด็ก ๆ ได้เรียนรู้ 

ต่อมาเหล่าพี่ ๆ ผู้พิทักษ์ป่าได้นำอุปกรณ์การลาดตระเวนที่บรรจุภายในเป้สนามที่ใช้ในการลาดตระเวนจริงให้นักเรียนได้สัมผัสของจริง อาทิ เปลสนาม ผ้ายางกันน้ำ เตาแก๊สขนาดเล็ก รวมถึงอุปกรณ์ที่มีความสำคัญที่สุดในการลาดตระเวนอย่าง เครื่องหาพิกัดด้วยสัญญาณดาวเทียมแบบพกพา (GPS / Global Positioning System) โดยให้นักเรียนได้ทดลองใช้อุปกรณ์ดังกล่าวในการระบุพิกัด เพื่อให้เข้าใจวิธีการทำงานของอุปกรณ์ลาดตระเวนมากขึ้น 

ปิดท้ายด้วยการร่วมทำกิจกรรมกันระหว่างนักเรียนกับเจ้าหน้าที่ผู้พิทักษ์ป่า ในกิจกรรมจำลองการจำแนกรอยตีนสัตว์ป่า ซึ่งเป็นกิจกรรมที่ได้ให้เด็ก ๆ ได้เรียนรู้ข้อมูลของสัตว์นานาชนิด เช่น ช้าง เสือโคร่ง สมเสร็จ ตัวนิ่ม ฯลฯ เพื่อได้รู้จักการจำแนกรอยตีนสัตว์ 

เหนือสิ่งอื่นใด นอกจากความรู้เกี่ยวกับผู้พิทักษ์ป่าและการลาดตระเวนที่เด็ก ๆ ได้รับ สิ่งที่สำคัญกว่านั้นคือเด็ก ๆ สามารถนำเอาความรู้จากการบรรยายมาทำกิจกรรมในช่วงท้ายได้อย่างถูกต้องและสนุกสนาน ทางมูลนิธิสืบฯและเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าอุทยานแห่งชาติแม่วงก์จึงมั่นใจได้ว่าเยาวชนกลุ่มนี้จะเป็นหนึ่งในพลังสำคัญของการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติป่าไม้และสัตว์ป่าต่อไปในอนาคตอย่างแน่นอน

อ้างอิง