เสือปลา แมวป่านักล่าแห่งพื้นที่ชุ่มน้ำ กับความเสี่ยงที่จะสูญพันธุ์ 

เสือปลา แมวป่านักล่าแห่งพื้นที่ชุ่มน้ำ กับความเสี่ยงที่จะสูญพันธุ์ 

เสือปลา สัตว์ป่าใกล้สูญพันธุ์ของประเทศไทย และต้องดำเนินการอนุรักษ์โดยเร่งด่วน บทความนี้ชวนผู้อ่านทำความรู้จักเสือปลา ความสำคัญของพวกมันต่อระบบนิเวศ และโครงการอนุรักษ์ที่กำลังดำเนินการ

เสือปลากับสถานะใกล้สูญพันธุ์ 

เสือปลา (Fishing Cat) เป็นหนึ่งในสัตว์สายพันธุ์แมว (Felidae) ที่อาศัยอยู่ตามพื้นที่ชุ่มน้ำต่าง ๆ เช่น ป่าชายเลน หรือพื้นที่ที่มีแหล่งน้ำอย่างบึง เป็นสัตว์ที่ถูกจัดอยู่ในสถานะที่มีแนวโน้มใกล้สูญพันธุ์/เสี่ยงสูญพันธุ์ (Vulnerable) ตามรายงานขององค์การระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (IUCN Red List) และอยู่ในบัญชีที่ 2 ของอนุสัญญาการค้าระหว่างประเทศทั้งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ 

ส่วนในประเทศไทยเสือปลานั้นถูกจัดอยู่ในบัญชีสัตว์ป่าคุ้มครองตาม พ.ร.บ. สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562  โดยสาเหตุหลัก ๆ ของการเสี่ยงสูญพันธุ์มาจากการถูกล่าและการเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ที่ดิน ซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงต่อการสูญเสียที่อยู่ตลอดจนอาหารของเสือปลา

ความสำคัญของเสือปลาในฐานะตัวชี้วัดความอุดมสมบูรณ์ของพื้นที่ชุ่มน้ำ 

หากพิจารณาตามระบบนิเวศห่วงโซ่อาหาร จะพบว่าเสือปลานั้นอยู่เหนือสัตว์ทั้งปวงในพื้นที่ชุ่มน้ำ ซึ่งสามารถเปรียบเทียบได้กับเสือโคร่งในป่าที่เป็นผู้ล่าสูงสุดในห่วงโซ่อาหาร โดยอาหารหรือเหยื่อของเสือปลานั้นประกอบไปด้วย ปลา ปู หอย หนู นก และสัตว์ขนาดเล็กอื่น ๆ  

อย่างที่เราทราบกันดีถึงความสำคัญของห่วงโซ่อาหารในฐานะตัวชี้วัดความอุดมสมบูรณ์ของระบบนิเวศ ห่วงโซ่อาหารเป็นกระบวนการถ่ายทอดพลังงานที่ควบคุมความสมดุลของธรรมชาติเอาไว้ หากส่วนใดส่วนหนึ่งของโซ่ ไม่ว่าจะเป็น ส่วนต้น ตรงกลาง หรือส่วนท้ายหายไป ระบบนิเวศก็จะเสียสมดุล ยิ่งไปกว่านั้นการสูญเสียสมาชิกจุดใดจุดหนึ่งของห่วงโซ่อาหารไป ไม่ได้ส่งผลเพียงแค่ธรรมชาติหรือสัตว์ ทว่ามันกลับส่งผลถึงมนุษย์ด้วย

การมีอยู่ของเสือปลาในฐานะสัตว์ผู้ล่านั้น ถือเป็นสิ่งที่สำคัญอย่างมาก เนื่องจากพวกมันเป็นผู้คอยควบคุมปริมาณสัตว์อื่น ๆ และรักษาสมดุลของระบบนิเวศพื้นที่ชุ่มน้ำเอาไว้ หากเสือปลาสูญพันธุ์ไปเมื่อไหร่ สิ่งมีชีวิตอื่น ๆ ที่อยู่ใต้เสือปลาในห่วงโซ่อาหารก็จะเกิดการเสียสมดุล สัตว์บางชนิดจะเพิ่มจำนวนมากขึ้น บางชนิดก็จะลดน้อยลง ซึ่งนั่นไม่ใช่เรื่องที่ดีแน่หากมีสิ่งใดสิ่งหนึ่งมากหรือน้อยเกินไปในธรรมชาติ ตัวอย่างเช่น หากไม่มีเสือปลาคอยกินหนู หนูก็จะเพิ่มปริมาณมากขึ้น โดยหนูเหล่านี้เป็นสัตว์พาหะที่อาจเผยแพร่เชื้อโรคมาสู่คนได้ ด้วยเหตุนี้ระบบนิเวศจึงจำเป็นต้องพึ่งพาเสือปลาในการควบคุมประชากรหนูนั่นเอง  

อาจกล่าวได้ว่าระบบนิเวศเปรียบเสมือนเครื่องคอมพิวเตอร์ที่มีห่วงโซ่อาหารเป็นซอฟต์แวร์คอยขับเคลื่อนให้ระบบการทำงานต่าง ๆ ภายในระบบนิเวศให้เดินหน้าต่อไปได้อย่างสมดุล หากขาดส่วนใดส่วนหนึ่งไป ระบบก็จะรวน สิ่งมีชีวิตทุกชนิดก็จะได้รับผลกระทบจากความเปลี่ยนแปลงในครั้งนี้ เพราะฉะนั้นแล้ว การที่จะดำรงไว้ซึ่งระบบนิเวศที่สมบูรณ์ จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องรักษาความสมดุลของห่วงโซ่อาหารนี้ไว้ 

การอนุรักษ์เสือปลาเพื่อการรักษาสมดุล 

ทางมูลนิธิสืบนาคะเสถียรได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของเสือปลาจึงได้จัดทำ “โครงการส่งเสริมการอนุรักษ์เสือปลา โดยกระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชน รอบพื้นที่อุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอด” ร่วมกับทาง Panthera Thailand มหาวิทยาลัยพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช และท้องถิ่น 

การจัดทำโครงการดังกล่าวไม่เพียงแต่จะรักษาความสมดุลทางธรรมชาติของพื้นที่ชุ่มน้ำเอาไว้เท่านั้น แต่ยังเพื่อต้องการศึกษาความเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ที่ดิน โดยในพื้นที่รอบอุทยานฯ นั้นได้มีการปรับเปลี่ยนการทำการเลี้ยงกุ้งจากแบบดั้งเดิมที่เลี้ยงด้วยบ่อดิน เป็นการใช้บ่อซีเมนต์แทน ซึ่งการเปลี่ยนแปลงการเลี้ยงกุ้งทำให้แหล่งอาหารของเสือปลาลดลง มูลนิธิสืบฯ จึงต้องการผลักดันให้เกิดการกลับมาใช้วิธีการเลี้ยงกุ้งแบบดั้งเดิม ตลอดจนการส่งเสริมอาชีพเสริมอื่น ๆ ของชุมชน อย่าง การท่องเที่ยวเสือปลา เป็นต้น 

นอกจากนี้ ทางมูลนิธิสืบฯ ยังต้องการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งที่เกิดขึ้นระหว่างชุมชนและเสือปลาที่อาศัยอยู่บริเวณโดยรอบเขตอุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอดด้วย เนื่องจากเสือปลาได้รบกวนและล่าไก่ชนที่ชุมชนเลี้ยงไว้ ซึ่งเป็นสัตว์ที่มีความสำคัญและมีมูลค่าสูง ด้วยเหตุนี้จึงนำไปสู่ความขัดแย้งอย่างรุนแรงระหว่างชาวบ้านที่เลี้ยงไก่ชนและเสือปลา ตลอดจนทำให้เกิดการวางกับดักล่าเสือปลา ส่งผลต่อจำนวนประชากรเสือปลาที่ลดลง ประกอบกับการมีรั้วรางรถไฟขนาดสูงที่ปิดกั้นการเคลื่อนย้ายไปอีกฝั่งของแนวรางรถไฟได้ ทำให้จำนวนประชากรมีจำนวนที่จำกัด นำไปสู่ภาวะเลือดชิดจากการถ่ายทอดพันธุกรรมภายในครอบครัวด้วยกันเอง เพราะไม่สามารถไปผสมพันธุ์กับครอบครัวอื่นได้ ทางมูลนิธิสืบฯ ได้เห็นว่าปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นภายในพื้นที่อุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอดนี้ อาจนำไปสู่การลดจำนวนของเสือปลา และในท้ายที่สุดอาจทำให้เสือปลานั้นสูญพันธุ์ จึงได้ริเริ่มโครงการอนุรักษ์ในครั้งนี้ขึ้น 

แผนที่ขอบเขตโครงการส่งเสริมการอนุรักษ์เสือปลา โดยกระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชนรอบพื้นที่อุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอด

โดยโครงการนี้จะเป็นการต่อยอดโครงการด้านการวิจัย และการสนับสนุนการมีส่วนร่วมของชุมชนในพื้นที่ 27 หมู่บ้าน อำเภอ สามร้อยยอด และอำเภอกุยบุรี จังหวัด ประจวบคีรีขันธ์ ในการอนุรักษ์ประชากรเสือปลาในพื้นที่ พร้อมทั้งส่งเสริมการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในการจัดการสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ ทั้งนี้เพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์ประชากรเสือปลาในพื้นที่อุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอด และพื้นที่โดยรอบ 

เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม ที่ผ่านมา (20 ตุลาคม พ.ศ. 2565) ทางมูลนิธิสืบนาคะเสถียร ได้จัดประชุมเปิดตัวโครงการฯ ร่วมกับองค์กร Panthera และมหาวิทยาลัยพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) ณ อุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอด จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ โดยมีทางตัวแทนชุมชนในพื้นที่อำเภอ สามร้อยยอด และ อำเภอกุยบุรี มาร่วมอภิปรายและหารือการดำเนินโครงการ 

เบื้องต้นทางมูลนิสืบฯ ได้กล่าวรายงานแผนการดำเนินงานและกิจกรรมภายใต้โครงการฯ รวมถึงแผนยุทธศาสตร์ 3 ปี (พ.ศ. 2566-2568) ร่วมกับกิจกรรมลงพื้นที่เพื่อสำรวจจำนวนประชากรที่ได้รับผลกระทบจากเสือปลา ตลอดจนนำข้อมูลจากการสำรวจมาออกแบบและจัดทำกรงเลี้ยงไก่ให้ชาวบ้าน เพื่อใช้ในการป้องกันการถูกเสือปลากิน ในส่วนขององค์กร Panthera ได้กล่าวรายงานความก้าวหน้างานวิจัยศึกษานิเวศวิทยาเสือปลา โดยการติดปลอกคอวิทยุสัญญาณดาวเทียม สุดท้ายทางมหาวิทยาลัยพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) ได้กล่าวรายงานความก้าวหน้างานวิจัยประชากรของเสือปลา ท้ายที่สุดทางมูลนิธิสืบฯ องค์กร Panthera และมจธ. จะนำข้อมูลที่ได้จากการอภิปรายและหารือของชุมชนจากการประชุมเปิดตัวโครงการฯ เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม ไปพัฒนาและแสวงหาทางออกให้แก่ชุมชน ร่วมกับการอนุรักษ์เสือปลาอย่างยั่งยืนต่อไป

ผู้เขียน

+ posts

หนุ่มน้อยผู้หลงรักความไม่สมบูรณ์แบบ ออกเดินทางเพื่อเก็บภาพความงดงามของธรรมชาติ และชอบอ่านวรรณกรรมเป็นชีวิตจิตใจ