‘All eye on papua’ การต่อสู้ของชนพื้นเมืองในอินโดนีเซียเพื่อปกป้องผืนป่าปาปัว

‘All eye on papua’ การต่อสู้ของชนพื้นเมืองในอินโดนีเซียเพื่อปกป้องผืนป่าปาปัว

เชื่อว่าทุกคนคงเคยเห็นวลีที่กำลังเป็นไวรัลอย่าง ‘All Eyes on Rafah’ หรือ “ทุกสายตาจับจ้องไปที่เมืองราฟาห์” ข้อความที่ใช้เรียกร้องสันติภาพจากสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ และกดดันให้อิสราเอลหยุดโจมตีราฟาห์ (Rafah) เมืองเล็กๆ ทางตอนใต้ในฉนวนกาซา ฐานที่มั่นสุดท้ายของผู้อพยพชาวปาเลสไตน์กว่าหนึ่งล้านคน 

ประชาคมโลกได้ออกมาเคลื่อนไหวเรียกร้องสันติภาพและประณามการโจมตีของอิสราเอล ผ่านโพสต์และภาพที่มีข้อความ และขอให้ทุกคนตระหนักและรับรู้ถึงภัยความรุนแรงที่คุกคามเสรีภาพในการดำรงชีวิต และการละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นรุนแรง 

นอกจากเหตุการณ์ที่เมืองราฟาห์แล้ว วลีดังกล่าวยังถูกนำมาใช้เรียกร้องสิทธิมนุษยชนและสิ่งแวดล้อมในประเทศอินโดนีเซียอย่าง ‘All Eyes on Papua’ หรือ ‘Semua mata tertuju pada Papua’ (ในภาษาอินโดนีเซีย) เพื่อสะท้อนถึงความกังวลของผู้คนจํานวนมากเกี่ยวกับชะตากรรมของผืนป่าในปาปัวตะวันตกเฉียงใต้ ทางทิศตะวันตกของเกาะนิวกินที่กำลังจะถูกทำลายจากการให้สัมปทานสวนน้ำมันปาล์ม 

สำหรับแคมเปญ ‘All Eyes on Papua’ นี้มีเกิดขึ้นขณะที่ชุมชนชนพื้นเมือง Awyu และ Moi ของปาปัวกำลังต่อสู้กับบริษัทน้ำมันปาล์มในชั้นศาลเรื่องที่ดินผืนใหญ่ ที่หน้าศาลฎีกาของอินโดนีเซียในกรุงจาการ์ตาเมื่อเดือนที่แล้ว 

ตามรายงานข่าวระบุว่าชนเผ่า Awyu ประกอบด้วยสมาชิก 20,000 คนที่พึ่งพาที่ดินเพื่อการยังชีพ กำลังยื่นอุทธรณ์คำตัดสินของศาลอินโดนีเซียที่อนุญาตให้บริษัทน้ำมันปาล์ม PT Indo Asiana Lestari (PT IAL) เข้าเคลียร์พื้นที่ป่าเพื่อทำการเพาะปลูกก โดยทาง PT IAL ได้รับสัมปทานจากรัฐบาลขนาด 225,000 ไร่ 

ขณะเดียวกันชนพื้นเมือง Moi ได้ยื่นฟ้องบริษัท PT Sorong Agro Sawitindo (SAS) ซึ่งมีแผนจะเคลียร์พื้นที่ป่าจำนวน 113,500 ไร่ สำหรับปลูกปาล์มน้ำมัน 

“เราถูกทรมานมาหลายปีแล้วจากการคุกคามพื้นที่ป่าด้วยสวนน้ำมันปาล์ม เราต้องการเลี้ยงลูกของเราด้วยความช่วยเหลือจากธรรมชาติ ทั้งอาหาร และวัสดุที่เราเก็บเกี่ยวจากป่า สวนน้ำมันปาล์มจะทําลายป่าของเรา เราไม่ต้องการมัน” Rikarda Maa หญิงพื้นเมืองชาว Awyu กล่าว

Global Forest Watch แพลตฟอร์มการตรวจสอบพื้นที่ป่าไม้ทั่วโลก ดําเนินการรโดย สถาบันทรัพยากรโลก กล่าวเมื่อเดือนที่แล้วว่าตั้งแต่ปี ค.ศ. 1950 เป็นต้นมา ป่าฝนอินโดนีเซียมากกว่า 462,500,000 ไร่ (ขนาดสองเท่าของประเทศเยอรมนี) ถูกทำลายลงจากการให้สัมปทานทำสวนปาล์ม ยูคาลิปตัส ต้นยาง และการทำเหมือง  

ด้าน Iwan Misthohizzaman ผู้อํานวยการบริหารของ International NGO Forum on Indonesian Development (INFID) กล่าวว่า “การกวาดล้างพื้นที่ป่าในปาปัวโดยการใช้ใบอนุญาตของรัฐเป็นการทำลายสิ่งแวดล้อมระดับล้างผลาญ (Ecocide) ที่อาจทําลายความสามารถของนิเวศบริการที่เอื้อต่อการดํารงชีวิต และยังเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน”  

สำหรับชนพื้นเมืองปาปัว ป่าไม้ไม่ได้เป็นเพียงทรัพยากร แต่เป็นส่วนสำคัญของอัตลักษณ์และความอยู่รอด ซึ่งเป็นแกนหลักของวิถีชีวิตแบบดั้งเดิม

ชนพื้นเมืองทั้ง Moi และ Awyu ถือเป็นแนวหน้าของการต่อสู้กับบริษัทน้ำมันปาล์มขนาดใหญ่ที่คุกคามผืนแผ่นดินของบรรพบุรุษ แม้ก่อนหน้านี้จะแพ้ในศาลชั้นต้น แต่ก็ยังคงต่อสู้ต่อในชั้นศาลฎีกา โดยในการชุมชนประท้วงหน้าศาลเมื่อเดือนที่ผ่านมา ทีมกฎหมายของชนพื้นเมืองในอ่านแถลงการณ์มีความตอนหนึ่งว่า “คณะกรรมการตุลาการจําเป็นต้องจัดลําดับความสําคัญของแง่มุมต่างๆ ของคดีที่เกี่ยวข้องกับความยุติธรรมด้านสิ่งแวดล้อมและสภาพอากาศ ซึ่งผลกระทบไม่เพียงแต่เกิดขึ้นกับชนพื้นเมือง Awyu และ Moi เท่านั้น แต่ยังรวมถึงชาวอินโดนีเซียทั้งหมดด้วย” 

ขณะที่ทาง INFID ได้แสดงความเห็นและเรียกร้องให้ศาลฎีกาไม่เป็นส่วนหนึ่งของการทำลาพื้นที่ป่านนอกจากนี้ องค์กรยังขอให้รัฐบาลเพิกถอนใบอนุญาตของบริษัทและคืนป่าพื้นเมืองให้กับชุมชนพื้นเมืองของปาปัว 

ทั้งนี้ หากการอนุญาตให้สัมปทานยังดำเนินต่อไป ชุมชนพื้นเมืองในปาปัวจะสูญเสียพื้นที่อยู่อาศัยจำนวนมาก และจะเกิดการทำลายล้างป่าฝนอันบริสุทธิ์ของปาปัวราวๆ ครึ่งหนึ่งของกรุงจาการ์ตา นำไปสู่การเสียอ่างกักเก็บคาร์บอน (Carbon Sinks) ที่ดูดซับปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์ได้มากกว่า 25 ล้านตัน และจะทำให้เกิดวิกฤตการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมีความรุนแรงขึ้น เป็นอันตรายต่อระบบนิเวศทั้งในระดับท้องถิ่นและระดับโลก 

โดยสรุป ‘All Eyes on Papua’ ได้เน้นย้ำถึงความเชื่อมโยงที่สำคัญระหว่างสิทธิของชนพื้นเมืองและความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม ผ่านการแสวงหาความสามัคคีระดับโลกเพื่อปกป้องป่าไม้ในปาปัวและชุมชนที่ต้องพึ่งพาป่าไม้เพื่อการดำรงชีวิต การเคลื่อนไหวดังกล่าวตอกย้ำข้อกำหนดเร่งด่วนสำหรับแนวทางปฏิบัติด้านการพัฒนาที่ยั่งยืนที่ให้เกียรติสิทธิในที่ดินของชนเผ่าพื้นเมืองและให้ความสำคัญกับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม

อ้างอิง

ผู้เขียน

+ posts

ชายหนุ่มผู้หลงไหลในกาแฟไม่ใส่น้ำตาล รักการเดินทางไปกับสินค้าของแบรนด์ Patagonia

Website | + posts

ทำงานอิสระที่เกี่ยวข้องกับหนังสือ การเขียน เรื่องสิ่งแวดล้อมและดนตรีนอกกระแส - เวลาส่วนใหญ่ของชีวิตใช้ไปกับการนั่งมองความเคลื่อนไหวของใบไม้และสายลม