เพราะอะไร ‘เม่น’ จึงชอบกินกระดูกและเขาสัตว์ที่ถูกผลัด ?

เพราะอะไร ‘เม่น’ จึงชอบกินกระดูกและเขาสัตว์ที่ถูกผลัด ?

เม่น (Porcupine) เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดเล็กจัดอยู่ในอันดับสัตว์ฟันแทะ (Rodentia) ที่มีลักษณะฟันตัดคู่บนและล่างขนาดใหญ่สำหรับการกัดแทะพืชเป็นอาหารหรือลับฟันให้แข็งแรง วงศ์ Hystricidae มีทั้งหมด 30 ชนิดทั่วโลก สามารถปรับตัวให้อยู่ในสภาพแวดล้อมได้หลากหลาย ทั้งป่าดั้งเดิมและป่าเสื่อมโทรมหรือขอบป่าที่ติดกับพื้นที่เกษตรกรรม มีการแพร่กระจายอย่างกว้างขวางทั่วยุโรป เอเชีย แอฟริกา และนิวซีแลนด์ 

ด้วยลักษณะตัวอ้วนกลมเลยทำให้เคลื่อนไหวได้ช้า เมื่อเจอกับสัตว์นักล่าเม่นจะหันหลังใส่แล้ววิ่งหนี แต่ถ้าศัตรูยังตามตื้ออยู่มันจะใช้ขนหนามที่แหลมและแข็งแรงนี้กระแทกใส่ศัตรูเพื่อเป็นการป้องกันตัว ซึ่งคนส่วนใหญ่มักเข้าใจผิดคิดว่าเม่นมันจะสลัดขนใส่ แต่ตรงกันข้ามมันเลือกที่จะพองขนและสั่นขนขู่เพื่อเตือนให้ศัตรูล่าถอย ศัตรูของเม่นส่วนใหญ่ที่โดนขนของเม่นปัก เกิดจากการที่พวกมันเข้าไปจู่โจมเม่นในระยะประชิดตัว ขนของเม่นเลยปักติดไปกับสัตว์เหล่านั้นกลับมา

นิสัยการกินอาหารที่เป็นเอกลักษณ์ของเม่นแตกต่างจากสัตว์ฟันแทะชนิดอื่น เนื่องจากเม่นมีอีกหนึ่งบทบาทที่สำคัญในการย่อยสลายซากสัตว์ โดยเฉพาะ ‘กระดูกจากเขาสัตว์’ อาทิ เขาของเก้งหรือเขาของกวาง โดยเม่นจะกินเขาที่สัตว์จำพวกนี้ผลัดทิ้งไว้ เพื่อเป็นการเพิ่มแร่ธาตุให้แก่ร่างกาย และเม่นจะใช้แร่ธาตุที่ได้เพิ่มเติมนี้ไปใช้ประโยชน์ในการสร้างขนหนามที่แข็งแรง อีกทั้งยังช่วยขัดฟันเม่นไม่ให้ยาวเกินไป เนื่องจากฟันเม่นสามารถเจริญเติบโตได้ตลอดอายุขัย

การกำจัดซากเขาสัตว์ของเม่นยังช่วยลดการแพร่ระบาดของเชื้อโรค ซึ่งไม่เพียงจะเป็นประโยชน์ต่อเม่นเท่านั้น ยังรวมถึงสุขภาพโดยรวมของชุมชนสัตว์ป่าในวงกว้าง ยิ่งไปกว่านั้นเมื่อเม่นออกหาอาหารและขุดหากระดูกยังช่วยเติมอากาศให้กับดิน ปรับปรุงโครงสร้าง ทำให้สุขภาพของดินดียิ่งขึ้น พฤติกรรมเหล่านี้มีส่วนช่วยหมุนเวียนสารอาหารบนพื้นดินเพื่อคงความสมดุลให้แก่ระบบนิเวศอีกด้วย

เม่นมีการกระจายตัวอยู่ในหลายทวีป สำหรับในเอเชียส่วนมากจะพบ ‘เม่นใหญ่’ (Malayan porcupine) สามารถพบเห็นได้ในหลายประเทศ อาทิ เนปาล อินเดีย (ภาคตะวันออกฉียงเหนือ) ภูฏาน ตอนกลางและตอนใต้ของจีน บังคลาเทศ พม่า ไทย ลาว เวียดนาม กัมพูชา มาเลเซีย สิงคโปร์ เกาะสุมาตรา เกาะบอร์เนียว

ในประเทศไทย พบเม่นในธรรมชาติ 2 ชนิด ได้แก่ เม่นใหญ่แผงคอยาว (Hystrix brachyura) และเม่นหางพวง (Atherurus macrourus) ซึ่งแต่เดิมเคยจัดให้ เม่นใหญ่แผงคอสั้น (Hystrix hodgsoni) มีอยู่ด้วย แต่ปัจจุบันได้กลายเป็นชนิดย่อยของเม่นใหญ่แผงคอยาวไป เม่นเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง และมีสถานภาพ ‘ใกล้ถูกคุกคาม’ (Near Threatened) ทั้งคู่ ตามรายงาน ‘ชนิดพันธุ์สัตว์ที่ถูกคุกคามของประเทศไทย’ ของสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ปรับปรุงล่าสุด ธันวาคม 2566)

ในปัจจุบันเม่นใหญ่ได้เผชิญกับภัยคุกคามจากการทำลายถิ่นที่อยู่อาศัยและการลักลอบล่าสัตว์ป่า เนื่องจากมีความเชื่อว่าขนของพวกมันมีคุณค่าในด้านการแพทย์แผนโบราณและเป็นของประดับตกแต่ง รวมถึงผู้คนยังมีความเชื่อว่า เนื้อเม่นเป็นสุดยอดของเนื้อสัตว์ขนาดเล็ก จึงเกิดการล่าเพื่อบริโภค เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้ประชากรเม่นลดจำนวนลง

อ้างอิง

ผู้เขียน

+ posts

ชายหนุ่มผู้หลงไหลในกาแฟไม่ใส่น้ำตาล รักการเดินทางไปกับสินค้าของแบรนด์ Patagonia