เกษตรอินทรีย์ตัวจริง ไม่ใช่คนโลกสวย แต่ต้องปลูกด้วยความอดทน

เกษตรอินทรีย์ตัวจริง ไม่ใช่คนโลกสวย แต่ต้องปลูกด้วยความอดทน

เกษตรอินทรีย์ คือการทำเกษตรที่มีกระบวนการในการผลิตแบบพึ่งพิงระบบนิเวศทางธรรมชาติ ไม่ใช้สารเคมี ส่งผลดีต่อสุขภาพของผู้ผลิตและผู้บริโภค อีกทั้งยังรักษาความหลากหลายทั้งชีวภาพในพื้นที่เพาะปลูก เป็นการเกษตรรักษ์โลกที่น่าสนใจในกลุ่มผู้บริโภคที่ต้องการดูแลรักษาสุขภาพ และช่วยโลกไปพร้อม ๆ กัน 

ซึ่งเมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2567 ในงาน มหัศจรรย์ข้าวไทย 2024 ได้มีเวทีเสวนาหนึ่งที่พูดการทำเกษตรอินทรีย์ไว้อย่างน่าสนใจว่า “เกษตรอินทรีย์ตัวจริง ไม่ใช่คนโลกสวย ปลูกด้วยความอดทน สร้างความสุขผ่านผลิตภัณฑ์คุณภาพ” โดยมีคุณวันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ อดีตรองผู้อำนวยการสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส นักเขียนสารคดี นักวิจารณ์สังคม การเมือง และสิ่งแวดล้อม และดร.สรณรัชฎ์ กาญจนะวณิชย์ นักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อม และเป็นอดีตประธานมูลนิธิลูกโลกสีเขียว เป็นผู้เล่าเรื่อง

เรื่องราวเริ่มต้นจาก ทั้งสองท่านตัดสินใจซื้อผืนนาแห่งหนึ่ง ทำทุ่งน้ำนูนีนอย ตั้งอยู่ในอำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ ด้วยความสงสัยในแรกเริ่มว่าตัวเกษตรอินทรีย์ที่เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการฟื้นฟูธรรมชาติและความหลาหลายทางชีวภาพ ที่ทำควบคู่ไปกับการผลิตอาหาร จะเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาอย่างยั่งยืนได้หรือไม่

โดยตั้งจุดประสงค์หลักๆ ในการทำการเกษตรอินทรีย์ในพื้นที่ทุ่งน้ำนูนีนอย ประกอบด้วย พื้นที่ดังกล่าวให้บริการทางนิเวศวิทยา ดึงความหลากหลายทางชีวภาพที่มีอยู่แต่เดิมกลับมาสู่พื้นที่และใช้หลัก Rewilding Food Production ที่หมายถึงการฟื้นฟูความหลากหลายทางชีวภาพในพื้นที่ผลิตอาหาร จากนั้นตั้งเป้าปลูกข้าวอินทรีย์ กุหลาบ และถั่วเหลือง โดยไม่ใช้สารเคมี และไม่ใช้เครื่องจักรขนาดใหญ่ในการปลูก แต่จะหันมาส่งเสริมแรงงานท้องถิ่น เพื่อเป็นการกระจายรายได้ให้กับชุมชน 

ดร.สรณรัชฎ์ ได้กล่าวว่า ‘เรายังอยากรักษาพื้นที่ให้เป็นทุ่งนา ไม่ได้อยากจะเปลี่ยนเป็นระบบนิเวศแบบอื่น เพราะว่าพื้นที่แห่งนี้มีความสัมพันธ์ทางวัฒนธรรมด้วย เราอยากรักษาไว้ พร้อมกับฟื้นฟูความหลากหลายทางชีวภาพ’ ภายใต้ข้อพิสูจน์ที่ประเทศไทยมีการใช้สารเคมีในการสร้างผลผลิตทางการเกษตรมากเกินไป อันเป็นปัจจัยในการทำลายสุขภาพร่างกายของผู้บริโภค ลดความสามารถของคุณภาพดิน นอกจากนี้สารเคมีในการเกษตรยังเป็นปัญหาระดับโลก เนื่องจากก่อให้เกิดก๊าซเรือนกระจกในกระบวนการผลิต และเกิดมลภาวะในแหล่งน้ำส่งต่อไปสู่ท้องทะเลทำให้สัตว์น้ำสูญพันธ์ได้ในอนาคต

ส่วนคุณวันชัยได้ตั้งข้อสังเกตว่า ปริมาณของคนปลูกข้าวอินทรีย์ มีจำนวนประมาณ 100,000 คน  ให้ผลผลิตประมาณ 1,500,000 ไร่  ในขณะที่การปลูกข้าวด้วยการใช้สารเคมี มีจำนวนประมาณ 20 ล้านคน ให้ผลผลิตจำนวนประมาณ 30 ล้านไร่ ทำให้เกิดข้อสงสัยว่า หากเกษตรอินทรีย์ดีจริงทำไมเกษตรกรยังเลือกใช้สารเคมีในการสร้างผลผลิตอยู่เป็นจำนวนมาก

พร้อมกล่าวต่อว่า ‘ประการแรกคุณต้องใช้ความอดทนในสามปีแรก คือต้องปรับปรุงดินไม่ต้องปลูกอะไรเลยในสามปีแรก’ การฟื้นฟูดิน คือการให้ดินที่มีสารเคมีอยู่ได้พักยังไม่ต้องปลูกผลผลิตอย่างน้อย 1 ปี หลังจากนั้นสามารถฟื้นฟูด้วยวิธีอื่นๆ  อย่างเช่นการปลูกถั่วให้มีการตรึงไนโตรเจนในดินเพื่อฟื้นฟูสภาพพื้นดิน ซึ่งขั้นตอนในการพักฟื้นดินเพื่อนำไปปลูกผลผลิตแบบอินทรีย์จึงใช้ระยะเวลา 3 – 5 ปี นับเป็นระยะเวลาที่มีความยาวนานส่งผลให้เกษตรกรที่มีหนี้สินอยู่ ไม่สามารถหยุดทำการเกษตรแบบใช้สารเคมีได้ เพราะเกษตรกรจะไม่มีรายได้ในระยะพักฟื้นดินหากหยุดใช้กระทันหันผลผลิตก็ไม่ได้คุณภาพ อีกทั้งกระบวนการตรวจสอบสารปนเปื้อนก่อนการจัดจำหน่ายผลผลิตจากการเกษตรอินทรีย์ยังมีมูลค่าสูง 

ดร.สรณรัชฎ์ ได้กล่าวเสริมว่า ‘คนที่สร้างปัญหาได้รับการสนับสนุนอย่างเต็มที่ เกษตรอินทรีย์ทั้งที่มีแต่เรื่องดี ๆ แต่กลับไม่ได้รับการสนับสนุน’ 

พร้อมกับให้ความเห็นว่า รัฐบาลควรจะมีกองทุนสนับสนุนให้กับเกษตรกรที่ต้องการทำการเกษตรแบบอินทรีย์ และส่งเสริมให้ผลผลิตที่ได้จากการทำการเกษตรแบบอินทรีย์มีส่วนแบ่งทางการตลาดมากขึ้นเพื่อพัฒนาไปเป็นเกษตรอินทรีย์ที่มีความยั่งยืน ไม่ต้องพึ่งพาสารเคมี

เพราะจากการทดลองการทำเกษตรอินทรีย์มาเป็นระยะเวลา  20  ปีของสองท่าน ทำให้เห็นได้อย่างชัดเจนว่า การนำความหลากหลายทางชีวภาพกลับมาเป็นดังเดิมก่อนใช้สารเคมีในพื้นที่เพาะปลูก ทำให้ระบบนิเวศกลับมาพึ่งพากันตามธรรมชาติ ยกตัวอย่างเช่น ถ้าหากพื้นที่ชุ่มน้ำมีแมลงเต่าทองมากก็ช่วยกำจัดเพลี้ยที่เป็นศัตรูพืช โดยไม่ต้องใช้สารเคมี มีชีปะขาวแสดงว่าน้ำสะอาด เป็นต้น  

เมื่อข้าวอินทรีย์เป็นที่ต้องการของตลาดโลก แต่รัฐบาลกลับไม่จริงจังกับนโยบายที่ช่วยส่งเสริมผลผลิตที่ได้จากการทำเกษตรอินทรีย์และคอยแต่ผลักภาระต้นทุนให้กับเกษตรกร จึงทำให้แหล่งทำเกษตรอินทรีย์ขนาดใหญ่ในภาคอีสาน เลือกส่งออกผลผลิตให้กับสหภาพยุโรป (The European Union : EU) เพราะทำมูลค่าได้มากกว่าส่งขายในประเทศไทย

ซึ่งทางคุณวันชัยได้เน้นย้ำจากประสบการณ์ส่วนตัว พืชเกษตรอินทรีย์ดีต่อทุกคน เพราะช่วยในเรื่องของสิ่งแวดล้อม สุขภาพร่างกายของผู้บริโภคและผู้ผลิต เพียงแต่ระยะเปลี่ยนผ่านต้องใช้ความอดทนหากรัฐบาลเข้ามาช่วยดูแล เพื่อให้เกษตรกรปรับตัวได้ ก็จะส่งผลดีต่อทุกฝ่าย ทั้งนี้เกษตรกรจะได้มีส่วนร่วมในการช่วยลดสภาวะโลกเดือดควบคู่กันไปอีกด้วย

สุดท้ายแล้วหากรัฐบาลยังเอื้อเฟื้อผลประโยชน์ให้กับแหล่งทุนเอกชน ไม่หันมาเหลียวแลเกษตรกร เศรษฐกิจไทยคงก้าวหน้าไปพร้อมกับการพัฒนาอย่างยั่งยืนได้ยาก เพราะเมื่อรัฐบาลไม่เข้ามาดูแลให้จริงจรัง ทรัพยากรของประเทศไทยในอนาคตอาจจะลดน้อยลงจนไม่เหลือสิ่งใดให้พัฒนาอีกแล้ว

ถอดความและเรียบเรียงโดย อารียา เลยไธสง นักศึกษาฝึกงาน จากวงเสวนา เล่าเรื่องข้าวเกษตรอินทรีย์ คุณวันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์และดร.สรณรัชฎ์ กาญจนะวณิชย์

ภาพประกอบ Nunienoi