เหตุการณ์ป่าแหว่งภูเก็ต อีกครั้งที่ป่าหาย และความทับซ้อนของพื้นที่นำไปสู่คดีที่ยังไม่สิ้นสุด

เหตุการณ์ป่าแหว่งภูเก็ต อีกครั้งที่ป่าหาย และความทับซ้อนของพื้นที่นำไปสู่คดีที่ยังไม่สิ้นสุด

ย้อนกลับไปเมื่อ 6 ปีก่อน เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2559 ได้ปรากฎภาพถ่ายทางอากาศบริเวณเชิงดอยสุเทพ ใกล้ห้วยตึงเฒ่า ที่มีสภาพผืนป่าที่แหว่งหายไป จนนำไปสู่การตั้งคำถามของประชาชนถึงสาเหตุของผืนป่าที่หายไป โดยคดีนี้กินระยะเวลามานานหลายปีกว่าที่จะหาข้อสรุปได้ จากเหตุการณ์ดังกล่าวจึงเป็นบทเรียนสำคัญให้กับประชาชนต่อการรักษาและหวงแหนผืนป่าของเราเอาไว้ 

ทว่าไม่นานมานี้กลับมีเหตุการณ์ลักษณะเดียวกันเกิดขึ้นอีกครั้ง เมื่อวันที่ 11 มกราคม พ.ศ. 2566 ที่ผ่านมาเฟซบุ๊กแฟนเพจขยะมรสุม MONSOONGARBAGE THAILAND ได้ออกมาเผยภาพและข้อมูลของผืนป่าในพื้นที่อุทยานแห่งชาติสิรินาถ อ.ถลาง จ.ภูเก็ต ที่มีลักษณะแหว่งหายไป ร่วมกับเรียกร้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาตรวจสอบหาข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น โดยเร็วที่สุด  

นับเป็นอีกครั้งกับเหตุการณ์ป่าแหว่งในเขตพื้นที่อุทยานฯ ป่าอันเป็นถิ่นที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่านานาชนิด เมื่อป่าหายไปย่อมหมายความถึง ชีวิตอีกหลายชีวิตที่พึ่งพิงป่าก็จะหายไปด้วย ประชาชนหลายฝ่ายที่เล็งเห็นถึงความสำคัญของผืนป่าจึงเร่งให้ทางอุทยานฯ ออกมาชี้แจงต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น มิฉะนั้นแล้วอาจมีผืนป่าถูกรุกรานมากขึ้นกว่านี้ก็เป็นได้ 

แถลงการณ์จากอุทยานแห่งชาติสิรินาถ

จากเสียงของประชาชนที่เรียกร้องต่อข้อเท็จจริงทำให้วันที่ 13 มกราคม 2566  นายสรศักดิ์ รณะนันทน์ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติสิรินาถออกมาชี้แจงต่อข้อเท็จจริงเกี่ยวกับกรณีป่าแหว่งที่เกิดเกิดขึ้นว่า พื้นที่ป่าบริเวณดังกล่าวตั้งอยู่ในพื้นที่ หมู่ที่ 1 ตำบลสาคู อำเภอถลาง จังหวัดภูเก็ต ซึ่งอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติสิรินาถ และอยู่ในพื้นที่สาธารณประโยชน์ทุ่งสงวนเลี้ยงสัตว์แหลมพิศ–ปากบาง 

โดยเมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2564 อุทยานฯ ร่วมกับเจ้าหน้าที่สำนักงานสนับสนุนการป้องกันและปราบปรามที่ 4 (ภาคใต้) และเจ้าหน้าที่ตำรวจ กก 5 บก. ปทส. ได้ดำเนินการตรวจยึดพื้นที่บริเวณดังกล่าว ซึ่งมีเนื้อที่ 15-3-71 ไร่ เป็นพื้นที่ควบระหว่างพื้นที่อุทยานและทุ่งสงวนเลี้ยงสัตว์ ด้วยเหตุนี้อุทยานฯ จึงได้จับกุมผู้ต้องหา 3 คน ตาม พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 มาตรา 19 (1)(2)(6) มาตรา 20 และมาตรา 40 พ.ร.บ.ป่าไม้ พุทธศักราช 2484 มาตรา 54 และได้นำเรื่องราวร้องทุกข์กล่าวโทษต่อสถานีตำรวจภูธรสาคู ปจว.ข้อ 8 คดีอาญาที่ 61/2564 ยึดทรัพย์ที่ 33/2564

อย่างไรก็ดีทางผู้ต้องหาทั้ง 3 คน ระบุว่าเป็นเจ้าของพื้นที่และมีเอกสารแบบแจ้งการครอบครองที่ดินส.ค.1 เลขที่ 283 ท้องที่หมู่ที่ 1 ตำบลสาคู อำเภอถลาง จังหวัดภูเก็ต ออกเมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2498  เนื้อที่ 12 ไร่  

บทสรุปคดีป่าแหว่งจังหวัดภูเก็ต 

ด้วยความซับซ้อนของประเด็นเรื่องพื้นที่เลี้ยงสัตว์ที่ทับซ้อนกับพื้นที่อุทยานฯ ทำให้ท้ายที่สุดแล้วอัยการจังหวัดมีคำสั่งไม่ฟ้องผู้ต้องหาทั้ง 3 โดยมีคำวินิจฉัยว่า “ผู้ต้องหาทั้งสามเข้าใจว่าได้ครอบครองที่ดินดังกล่าวมาโดยชอบด้วยกฎหมายและมีอำนาจอยู่ และทำประโยชน์ในที่ดินดังกล่าวต่อไปได้ คดีนี้ผู้ต้องหาทั้งสามให้การปฏิเสธและมีพยานเอกสารประกอบจนรับฟังได้ว่า ไม่มีเจตนาบุกรุกพื้นที่ป่าและพื้นที่ในเขตอุทยานแห่งชาติ คดีมีพยานหลักฐานไม่พอฟ้อง” 

ในส่วนของความผิดฐานร่วมกันกระทำการหรืองดเว้นกระทำการไม่ว่าจงใจหรือประมาทเลินเล่อโดยมิชอบด้วยกฎหมาย และก่อความเสียหายแก่อุทยานแห่งชาติ ตามพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 จะต้องรับผิดชอบในค่าเสียหายแก่รัฐ ซึ่งไม่ใช่โทษทางอาญาและไม่ใช่อัตราโทษปรับ ดังนั้น ข้อกล่าวหาไม่มีบทกำหนดโทษทางอาญาไว้ และไม่มีมูลความรับผิดทางอาญาแต่อย่างใด แต่จะต้องดำเนินการกับผู้ต้องหาทั้งสามทางแพ่งแทน โดยมีกองนิติการพิจารณาดำเนินการเพื่อจะฟ้องคดีแพ่งต่อผู้กระทำการละเมิดทั้งสามต่อไป 

ทางกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เองก็ไม่ได้นิ่งนอนใจต่อกรณีป่าแหว่งที่เกิดขึ้น จึงได้ตรวจสอบและพบว่าแบบแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค.1) เลขที่ 283 ไม่ตรงกับตำแหน่งที่ดินที่ครอบครอง พื้นที่มีสภาพเป็นป่าที่อยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติ จึงได้มีหนังสือ ฉบับลงวันที่ 22 พฤศจิกายน 2564 เรียนผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต ขอให้จังหวัดภูเก็ตแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบพิสูจน์ตำแหน่งที่ดินของแบบแจ้งการครอบครองที่ดิน (สค. 1) เลขที่ 283 หมู่ที่ 1 ตำบลสาคู อำเภอถลาง จังหวัดภูเก็ต 

ทำให้กรมอุทยานฯ ขอให้พิจารณาจำหน่าย ส.ค.1 เลขที่ 283 ออกจากทะเบียนการครอบครองที่ดินตามระเบียบราชการ ทว่าสุดท้ายแล้วทางจังหวัดภูเก็ตระบุว่าการครอบครองดังกล่าวนั้นไม่ได้เป็นการครอบครองโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายแต่อย่างใด จึงไม่ได้ดำเนินการจำหน่าย ส.ค. 1 

แต่ถึงอย่างนั้นกรมอุทยานฯ ก็ไม่ได้ปล่อยให้ประเด็นเรื่องป่าแหว่งหยุดนิ่งแต่อย่างใด เพื่อที่จะรักษาผืนป่าอันมีคุณค่าเอาไว้ กรมอุทยานฯ จึงได้ขออนุเคราะห์ให้กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) รับเรื่องและพิจารณาสอบสวนกรณีดังกล่าว โดยกรมสอบสวนคดีพิเศษได้ส่งมอบหมายให้กองคดีทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้พิจารณาต่อไป  

จากกรณีดังกล่าว ในฐานะภาคประชาชนจึงต้องจับตามองกันต่อเพื่อไม่ให้เรื่องนี้เงียบหาย ซึ่งจากภาพถ่ายทางดาวเทียมที่ได้แสดงให้เห็นถึงพื้นที่ป่าที่แหว่งหายไปเป็นบริเวณกว้าง ขณะเดียวกันการจัดการที่ดินของภาครัฐเองก็คงต้องมีความชัดเจนและเหมาะสม เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์เช่นนี้ขึ้นอีก 

อ้างอิง 

ผู้เขียน

+ posts

หนุ่มน้อยผู้หลงรักความไม่สมบูรณ์แบบ ออกเดินทางเพื่อเก็บภาพความงดงามของธรรมชาติ และชอบอ่านวรรณกรรมเป็นชีวิตจิตใจ