มังกรดอก หรือ ‘เหี้ย’ ที่ไม่ได้เหี้ยอย่างที่คิด 

มังกรดอก หรือ ‘เหี้ย’ ที่ไม่ได้เหี้ยอย่างที่คิด 

สวัสดีปีใหม่ 2567 นะคะ ปีนี้ตรงกับปีนักษัตรมะโรง หรือปีมังกรนั่นเอง และเพื่อเป็นการต้อนรับปีมังกร แอดมินจะพาทุกท่านไปไขข้อสงสัยกับเจ้ามังกรดอก หรือ ‘เหี้ย’ ผู้ที่ได้รับสมญานามว่า ‘เทศบาลประจำระบบนิเวศ’ 

‘เหี้ย’ (Asian water monitor) เป็นสัตว์เลื้อยคลานขนาดใหญ่ มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Varanus salvator ในวงศ์ Varanidae เมื่อโตเต็มวัยมีขนาดตั้งแต่ปากถึงปลายหางได้ถึง 3 เมตร ตัวอ้วนใหญ่ สีน้ำตาลเข้ม มีลายดอกสีเหลืองพาดขวาง หางยาว อาศัยและหากินบริเวณใกล้แหล่งน้ำ 

ซึ่งน้องเหี้ยมีชื่อเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า ‘ตัวเงินตัวทอง’ เพื่อเพิ่มความพึงพอใจมากยิ่งขึ้น เมื่อพบเจอน้อง 

ทั่วทั้งโลกสามารถพบเหี้ยได้ประมาณ 81 ชนิด แบ่งออกเป็น 2 สกุลย่อย ได้แก่ สกุลย่อย Varanus (Varanus) พบกระจายพันธุ์ในทวีปแอฟริกาและทวีปเอเชีย และอีกสกุลย่อย Euprepiosaurus (Euprepiosaurus) พบกระจายพันธุ์ในออสเตรเลีย 

และในประเทศไทย สามารถพบเหี้ยได้ 4 ชนิด ได้แก่ (1) เหี้ย (Varanus salvator) เป็นเหี้ยที่พบได้บ่อยที่สุด พบกระจายพันธุ์ทั่วประเทศ (2) เห่าช้าง (Varanus salvator salvator) พบได้เฉพาะในภาคใต้ และมีรายงานการพบที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ จังหวัดนครราชสีมาด้วย (3) ตะกวด (Varanus salvator macromaculatus) พบกระจายพันธุ์ตั้งแต่ภาคกลางตอนบนไล่มาจนถึงภาคใต้ และแพร่กระจายอยู่ตามเกาะต่าง ๆ อย่างเกาะเต่า และ (4) ตุ๊ดตู่ (Varanus salvator komaini) พบกระจายพันธุ์ตั้งแต่ภาคตะวันตกไล่ลงมาถึงภาคใต้ 

เหี้ยเป็นสัตว์ที่ว่ายน้ำเก่ง สามารถดำน้ำได้ และชอบที่จะลงน้ำ ปรับตัวเก่ง สามารถอยู่ในสภาพแวดล้อมต่าง ๆ ได้เป็นอย่างดี อาศัยอยู่ในพื้นที่ที่มีแหล่งน้ำ เช่น ริมแม่น้ำ ลำคลอง บึง หนองน้ำ ป่าชายเลน ป่าดิบชื้น และป่าละเมาะ 

รวมถึงสามารถพบได้ทั่วไปในชุมชนเมืองใหญ่ เช่น หลายพื้นที่ของกรุงเทพมหานคร อย่างสวนลุมพินี สวนสัตว์ดุสิต ทำเนียบรัฐบาล พื้นที่รอบคลองผดุงกรุงเกษม และตามสวนสาธารณะต่าง ๆ 

เหี้ยเป็นสัตว์ที่มีความสำคัญต่อระบบนิเวศ โดยทำหน้าที่เป็นสัตว์ผู้ล่าระดับบน (Carnivore) ช่วยควบคุมประชากรสัตว์ขนาดเล็ก เช่น หนู นก กบ เขียด และเหี้ยเองก็ยังเป็นอาหารของสัตว์ขนาดใหญ่ เช่น เสือ จระเข้ นอกจากนี้ เหี้ยยังเป็นสัตว์กินซาก (Scavenger) อีกด้วย จึงช่วยกำจัดซากสัตว์ และเชื้อโรคต่าง ๆ ออกจากระบบนิเวศ 

เหี้ยมีลิ้นแยกเป็นสองแฉกคล้ายงู ทำหน้าที่รับกลิ่นของซากที่จะเป็นอาหารได้ ถึงแม้ซากนั้นจะอยู่ห่างไกลหลายเมตรก็ตาม โดยสัมผัสกับโมเลกุลของกลิ่น ปลายลิ้นจะสัมผัสกับประสาทที่ปลายปาก เพื่อส่งต่อข้อมูลไปยังสมอง ให้รับรู้ว่าอาหารอยู่ตรงไหนนั่นเอง 

และด้วยความที่เหี้ยเป็นสัตว์กินเนื้อและสัตว์กินซาก จึงทำให้เหี้ยมีฟันคล้ายใบเลื่อย เหมาะสำหรับการบดอาหารที่มีความอ่อนนุ่มอย่างเนื้อสัตว์โดยเฉพาะ และมีวิวัฒนาการในเรื่องของระบบย่อยอาหาร โดยกระเพาะของเหี้ยมีน้ำย่อยที่มีความเป็นกรดรุนแรง รวมถึงมีเจ้าโปรโตซัวที่มีความเข้มแข็ง คอยกัดกินแบคทีเรียและเชื้อโรคต่าง ๆ ให้หมดไป 

และยังมีกระบวนการเผาผลาญพลังงานสูง (High metabolism rate) จึงทำให้น้องเหี้ยต้องกินอาหารบ่อย ๆ และออกล่าเป็นประจำ 

และจากงานวิจัยพบว่า เลือดของเหี้ยมีฤทธิ์ในการทำลายเซลมะเร็ง ไวรัส และแบคทีเรียหลายชนิด จากผลการศึกษาและวิจัยของ รองศาสตราจารย์ ดร. นายสัตวแพทย์จิตรกมล ธนศักดิ์ อาจารย์ประจำภาควิชาเวชศาสตร์คลินิกและการสาธารณสุข คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งอาจเป็นความหวังในการควบคุมโรคอุบัติใหม่ เช่น ไข้หวัดใหญ่ ไข้หวัดนก และ COVID-19 อีกด้วย 

ปัจจุบันจำนวนประชากรเหี้ยในธรรมชาติมีแนวโน้มลดลง เนื่องจากถูกล่าเพื่อเอาเนื้อและหนัง รวมไปถึงการสูญเสียถิ่นที่อยู่อาศัย เหี้ยจึงถูกจัดเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 

แต่ในบางพื้นที่อย่างชุมชนเมืองที่มีประชากรมากเกินไป และไม่มีผู้ล่าที่อยู่บนกว่ามาควบคุม ก็อาจจะเกิดปัญหาตามมา เพราะแน่นอนว่าอะไรที่มีมากเกินความพอดี ไม่สมดุล ก็จะมีโทษมากกว่าคุณ ทั้งนี้ต้องมีการดูแล และควบคุมโดยหน่วยงานภาครัฐให้มีความเหมาะสม และสมดุลกับระบบนิเวศด้วย 

สุดท้าย อยากให้ทุกท่านลองนึกภาพตามว่า หากในโลกนี้ไม่มีน้องเหี้ยเลย จะเกิดอะไรขึ้น? แหล่งน้ำอาจจะเต็มไปด้วยซากสัตว์เน่าเปื่อย น้ำเน่าเสีย เกิดมลพิษทั้งทางน้ำและทางบก ประชากรขนาดเล็กที่เป็นแหล่งสะสมเชื้อโรคเยอะขึ้น เกิดโรคระบาด และติดต่อมายังมนุษย์ในที่สุด เพราะสุดท้ายแล้วเป็นมนุษย์เองนี่แหละ ที่จะได้รับผลกระทบจากเรื่องนี้โดยตรง 

อ้างอิง 

ผู้เขียน

+ posts

สาวแว่นทาสแมวที่ชอบบอกเล่าเรื่องราวผ่านลายเส้น มีธรรมชาติช่วยฮีลใจ และหลงใหลในพระจันทร์เสี้ยว