จากอุ้มผาง สู่แม่จัน… การเดินทางบนสายใยผ้าทอ 

จากอุ้มผาง สู่แม่จัน… การเดินทางบนสายใยผ้าทอ 

‘อุ้มผาง’ ดินแดนที่ตั้งอยู่ท่ามกลางขุนเขา สายหมอก และกลิ่นอายของวัฒนธรรมท้องถิ่น จุดหมายปลายทางของใครหลายคนที่เดินทางมาที่จังหวัดตาก

การเดินทางมาที่อุ้มผางครั้งนี้ ไม่เพียงแต่จะได้รับการโอบกอดจากธรรมชาติ แต่ยังได้รับความอบอุ่นจากผู้คน – รอยยิ้มมากมายถูกส่งมาให้กับเรา คงไม่ผิดนัก หากจะกล่าวว่ารอยยิ้มเหล่านี้คือสัญลักษณ์แสดงการต้อนรับผู้มาเยือนจากต่างถิ่น 

สิ่งที่ทำให้อุ้มผางเป็นจุดหมายปลายทางในฝันของใครหลาย ๆ คนในครั้งหนึ่งของชีวิต อาจเป็นเพราะว่าที่นี่ตั้งอยู่ท่ามกลางภูเขาน้อยใหญ่ การมาใช้ชีวิตอยู่ที่อุ้มผางแม้เพียงแค่ 1-2 วัน ก็สัมผัสได้ถึงพลังงานบวกด้านจากทั้งผู้คนและธรรมชาติ

ผู้คนส่วนใหญ่ที่เดินทางมาอุ้มผางมักเลือกตัวเมืองอุ้มผางเป็นที่เที่ยว ที่พัก แต่บางคนอาจใช้เมืองอุ้มผางเป็นจุดตั้งต้นในการเดินทางต่อไปบนถนนที่แสนยาวไกล ถัดจากตัวเมืองอุ้มผางไปนิดนึงจะเข้าสู่เขตผืนป่าตะวันตก อันมีหมู่บ้านอีกมากมายตั้งอยู่ภายในผืนป่าแห่งนี้ 

เมื่อขับรถทะลุสายหมอกออกมาจากตัวเมืองอุ้มผางได้ไม่นานมากก็จะเดินทางถึงหมู่บ้านก้อทอ ตำบลแม่จัน โดยจะมีเนินเขาเล็ก ๆ ที่มีศูนย์การเรียนรู้ผ้าทอจอมป่า ตั้งตระหง่านอยู่บนเนิน ท่ามกลางวิวภูเขากว้างไกลกว่าหลายกิโลเมตร

โครงการผ้าทอจอมป่า… จากจุดเริ่มต้นสู่จุดมุ่งหมายของการเดินทาง 

นอกจากเป็นจุดมุ่งหมายของการเดินทางในครั้งนี้แล้ว ศูนย์การเรียนรู้ผ้าทอจอมป่ายังเป็นจุดเริ่มต้นของการเรียนรู้ที่มาที่ไปของโครงการผ้าทอจอมป่า ซึ่งถือได้ว่าเป็นหนึ่งในรูปธรรมความสำเร็จของการทำโครงการจัดการพื้นที่คุ้มครองอย่างมีส่วนร่วม หรือที่รู้จักกันในชื่อสั้นๆ ว่าโครงการจอมป่า

ถึงตรงนี้ขอท้าวความถึงโครงการจอมป่าสักนิด โครงการที่ว่าเกิดขึ้นเพื่อสร้างความร่วมมือระหว่างชุมชนในป่าใหญ่กับเจ้าหน้าที่ของรัฐ เพื่อนำไปสู่การร่วมรักษาป่าใหญ่ โดยมีมูลนิธิสืบนาคะเสถียรทำหน้าที่เป็นคนกลางในการประสานงานและอำนวยความสะดวก มีภารกิจหลัก ๆ ในการสร้างกฎกติกาให้คนอยู่กับป่าอย่างสันติสุข ขจัดความขัดแย้งระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐกับประชาชน รวมถึงหาทางออกด้านอาชีพเป็นมิตรกับผืนป่า เพื่อให้ชุมชนลดการพึ่งพิงทรัพยากรทางตรงจากป่า ซึ่งโครงการผ้าทอจอมป่า ก็เป็นหนึ่งในผลงานที่ผลิดอกออกผลมาจนถึงปัจจุบัน 

ก่อนหน้าเดินทางมาถึง ผู้เขียนได้ได้ยินชื่อและเคยชมความงามของผ้าทอจากโครงการนี้มาบ้างแล้วผ่านสื่อออนไลน์ต่าง ๆ การเดินทางหนนี้จึงความคาดหวังที่จะได้เห็นผ้าทอของจริง ที่คงต้องสวยกว่าในหน้าจอหลายเท่าเป็นแน่ ด้วยเหตุนี้การมาที่ศูนย์ผ้าทอฯ ในครั้งนี้ อนึ่งก็เพื่อมาชื่นชมความสวยงามของผ้าทอจอมป่าของจริงนั่นเอง 

อย่างไรก็ดี ทุกความสวยงามล้วนมีเรื่องราวอยู่เบื้องหลัง ผ้าทอจอมป่าก็เช่นกัน ก่อนที่จะไปเดินชมผ้าทอและผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ภายในศูนย์ผ้าทอฯ ก็ต้องมาเรียนรู้ประวัติความเป็นมาก่อนว่า กว่าจะมาเป็นผ้าทอแต่ละผืนนั้นมีเรื่องราวความเป็นมาอย่างไร 

ในช่วงระยะแรกของการดำเนินโครงการฯ จุดเริ่มต้นของโครงการผ้าทอไม่ได้ริเริ่มจาก ‘ศูนย์’ แต่อย่างใด เป็นที่ทราบกันว่าสตรีชาวกะเหรี่ยงนั้นจะทอผ้าใช้เอง ซึ่งเป็นความเชื่อและวัฒนธรรมมาแต่โบราณ ทางมูลนิธิสืบฯ ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของภูมิปัญญาการทอผ้าของชาวกะเหรี่ยง จึงต้องการที่จะส่งเสริมและอนุรักษ์วัฒนธรรมดังกล่าวเอาไว้ให้ยังคงอยู่ 

เริ่มแรก มูลนิธิสืบฯ ทำหน้าที่คอยสนับสนุนและซื้อด้ายสำหรับทอผ้า ซึ่งภายหลังก็ได้จัดตั้งกองทุนด้ายในแต่ละชุมชนขึ้นมาเพื่อบริหารจัดการซื้อด้ายทอผ้าด้วยกลุ่มของตัวเอง ตลอดจนศึกษาเรียนรู้และพัฒนาองค์ความรู้ด้านต่าง ๆ เพิ่มเติม อาทิ การย้อมด้ายด้วยสีจากวัสดุธรรมชาติ การตลาด การประชาสัมพันธ์  เป็นต้น ทั้งหมดนี้เป็นส่วนหนึ่งของการต่อยอดและพัฒนาเพื่อเพิ่มมูลค่าของผ้าทอให้มากขึ้น 

ระยะต่อมาจึงได้เกิดการรวบรวมผลงาน ทั้งในส่วนของการผลิตและการบริหารจัดการกลุ่มผ้าทอ จนกลุ่มผ้าทอริเริ่มสร้างแบรนด์เป็นของตัวเอง ต่อยอดจนเป็นกลุ่มวิสาหกิจชุมชนอย่างจริงจัง เพื่อสร้างความมั่นใจต่อสมาชิกผ้าทอว่าสินค้าที่ทุกคนผลิตออกมาจะถูกนำลงสู่ตลาดแน่นอน ด้วยความมั่นคงของโครงการผ้าทอ จึงนำไปสู่การก่อตั้งศูนย์การเรียนรู้ผ้าทอจอมป่าขึ้น โดยศูนย์การเรียนรู้นี้จึงเป็นเครื่องการันตีความสำเร็จของโครงการจอมป่า ที่สามารถดึงเอาคนในชุมชนมารวมเป็นกลุ่มเพื่อพัฒนาและต่อยอดภูมิปัญญาของตัวเองออกมาจนสามารถสร้างรายได้จากผ้าทอได้

หลังจากได้เรียนรู้ความเป็นมาของโครงการผ้าทอจอมป่ามาพอสมควรแล้ว แน่นอนว่าอีกหนึ่งเป้าหมายของการเดินทางในครั้งนี้ คือ การได้มาเห็นความสวยงามของบรรดาด้ายหลากหลายสีที่ถูกนำมาทอเป็นเสื้อผ้ามากมายหลายรูปแบบให้เลือกสรร  บ้างก็เป็นชุดคลุมยาว บ้างก็เป็นเสื้อตัวสั้น แต่ทั้งหมดล้วนมีสีสันและลวดลายที่งดงามเป็นเอกลักษณ์โดดเด่นไม่ซ้ำใคร คงจะไม่เกินจริงหากจะกล่าวว่า ผ้าทอและผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ นั้นสวยกว่าที่คาดหวังไว้เสียอีก ดังนั้น รับประกันได้เลยว่าหากได้มาที่ศูนย์ผ้าทอแห่งนี้คุณอาจจะได้ของฝากติดไม้ติดมือกลับไปอย่างแน่นอน 

ไม่เพียงเท่านี้ ถ้าหากใครสนใจถึงขั้นตอนการทอผ้า ตลอดจนกระบวนการต่าง ๆ ก่อนที่จะมาเป็นผ้าทอ ทางศูนย์การเรียนรู้ผ้าทอจอมป่าก็ได้มีหลักสูตรฝึกอบรมการส่งเสริมกลุ่มอาชีพผ้าทอวิถีกะเหรี่ยง ซึ่งได้รับการพัฒนาโดย คุณพัชราภรณ์ ต๊ะกู่ เจ้าหน้าที่ส่งเสริมผ้าทอ (โครงการพัฒนาวิสาหกิจชุมชนในป่าตะวันตก) ด้วยการรวบรวมองค์ความรู้ต่าง ๆ มาใช้ในการอบรม เพื่อส่งเสริมกระบวนการกลุ่มให้เกิดการพัฒนาการผลิตและการบริหารจัดการกลุ่มผ้าทอ โดยจะแบ่งออกเป็น 3 หลักสูตร ตามวัตถุประสงค์ของกลุ่มเป้าหมาย คือ 1.) การเรียนรู้ระดับเยาวชนหรือบุคคลทั่วไป 2.) การเรียนรู้เพื่อเป็นมืออาชีพด้านผ้าทอ 3.) การเรียนรู้การเป็นนักส่งเสริมอาชีพผ้าทอพื้นเมืองในพื้นที่อนุรักษ์

ถึงแม้ว่าในโลกออฟไลน์โครงการผ้าทอจะประสบความสำเร็จมากมาย แต่เมื่อโลกออนไลน์กลายเป็นฟันเฟืองหลักในการขับเคลื่อนโลกของเรา ด้วยเหตุนี้ช่องทางออนไลน์จึงเป็นอีกหนึ่งช่องทางที่ร่วมขับเคลื่อนโครงการผ้าทอจอมป่าให้สาธารณชนได้รับรู้ด้วยเช่นกัน ทำให้ผู้ที่สนใจสามารถติดตามความเคลื่อนไหวของศูนย์การเรียนรู้ผ้าทอจอมป่าได้ ช่องทางหลักคือ Facebook Page “ผ้าทอ จอมป่า” ดังนั้น ช่องทางออนไลน์เปรียบเสมือนบอร์ดนิทรรศการที่ผู้คนจากทั่วทุกสารทิศสามารถเข้ามาเรียนรู้ นอกจากนี้ช่องทางออนไลน์ยังมีความสำคัญในการเป็นพื้นที่สำหรับจัดแสดงและขายสินค้าให้กับผู้คนที่มีความสนใจแต่อาจไม่มีเวลาได้เดินทางมาที่ศูนย์ผ้าทอหรือบูธ อาจกล่าวได้ว่าช่องทางออนไลน์คือตัวเชื่อมคนกับโครงการผ้าทอให้ใกล้กันมากขึ้น ทุกคนก็สามารถเข้าใจที่มาที่ไป รวมถึงความสำคัญของภูมิปัญญาท้องถิ่นที่ถูกนำเสนออกมาผ่านผืนผ้าได้  

นอกจากจะได้รับรู้ข้อมูลของศูนย์ผ้าทอ ร่วมกับการเดินชมผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ แล้ว ยังได้มีโอกาสพูดคุยกับคุณพัชราภรณ์ถึงบทบาทและความสำคัญของผ้าทอด้วย กล่าวคือ ผ้าทอจอมป่าไม่ได้เพียงแต่จะนำเสนออัตลักษณ์และภูมิปัญญาของชาวกะเหรี่ยงเท่านั้น แต่ยังมีส่วนในการลดการพึ่งพิงป่าของชาวบ้านอีกด้วย เนื่องจากแต่ก่อนชาวบ้านจะใช้ป่าเป็นพื้นที่ในการทำมาหากิน รายได้ส่วนใหญ่ล้วนอิงอยู่กับป่า ทว่าเมื่อมีส่งเสริมการทอผ้าจนสามารถสร้างรายได้ให้แก่ชุมชนได้ ความจำเป็นในการใช้ป่าก็ลดลงด้วยเช่นกัน โครงการผ้าทอจึงเป็นอีกหนึ่งเครื่องมือสำคัญในการรักษาผืนป่าเอาไว้

ถนนเส้นนี้ไม่ได้มุ่งสู่จุดหมายปลายทางเพียงอย่างเดียว แต่มันกลับเป็นถนนที่นำไปสู่จุดเริ่มต้นของการอนุรักษ์ผ่านการได้มาเรียนรู้ความสำคัญของผืนป่า รวมถึงวัฒนธรรมและภูมิปัญญาของชาวกะเหรี่ยงที่ทั้งหมดได้ถูกถักทอและร้อยเรียงผ่านผืนผ้า การเดินทางในครั้งนี้จึงนับเป็นอีกหนึ่งการเดินทางที่มอบทั้งประสบการณ์และความรู้มากมาย 

ความงดงามของทุกสิ่งที่บรรยายมา ไม่ใช่ทั้งหมดของสิ่งที่ได้พบเจอมาระหว่างการเดินทาง แต่อาจเป็นเพียงเศษหนึ่งส่วนสิบหรือมากกว่านั้น ของความงามทั้งหมดที่รอให้ผู้อ่านทุกท่านได้เดินทางไปสัมผัส

ผู้เขียน

+ posts

หนุ่มน้อยผู้หลงรักความไม่สมบูรณ์แบบ ออกเดินทางเพื่อเก็บภาพความงดงามของธรรมชาติ และชอบอ่านวรรณกรรมเป็นชีวิตจิตใจ