เส้นทางสู่กาญจนบุรี กับ ความมหัศจรรย์ของผืนป่า ผู้คน และกาแฟ

เส้นทางสู่กาญจนบุรี กับ ความมหัศจรรย์ของผืนป่า ผู้คน และกาแฟ

จังหวัดกาญจนบุรี เป็นหนึ่งในจังหวัดที่ผู้เขียนอยากมาเยือนสักครั้งในชีวิต ทั้ง ๆ ที่จังหวัดนี้ตั้งอยู่ไม่ไกลจากกรุงเทพฯ มากนัก แต่หลายต่อหลายครั้งผู้เขียนก็ต้องมีเหตุจำเป็นทำให้พลาดโอกาสเดินทางมายังจังหวัดนี้เป็นประจำ แต่ในครั้งนี้ผู้เขียนได้มีโอกาสเดินทางมาถึงจังหวัดกาญจนบุรีแล้ว พร้อมกับภารกิจสำคัญที่ได้รับมอบหมายให้มาเรียนรู้วัฒนธรรมของชาวบ้านและธรรมชาติผ่านเมล็ดกาแฟ 

ผู้เขียนคงต้องเปิดหัวเรื่องด้วยการบอกเล่าถึงความมหัศจรรย์ที่ทำให้ตัวผู้เขียนหลงใหลในจังหวัดกาญจนบุรีเสียก่อน กาญจนบุรีเป็นจังหวัดที่อยู่ใกล้กรุงเทพมาก ใช้เวลาไม่ถึง 3 ชั่วโมง ก็เดินทางมาถึงตัวเมืองแล้ว จังหวัดนี้มีพื้นที่ใหญ่เป็นอันดับ 3 ของประเทศไทย พื้นที่สามในสี่ของจังหวัดเป็นเทือกเขาสลับซับซ้อน เต็มไปด้วยธรรมชาติและระบบนิเวศหลากหลายรูปแบบ เป็นที่ตั้งของพื้นที่อนุรักษ์ที่สำคัญของประเทศหลายแห่งด้วย อาทิ อุทยานแห่งชาติเขื่อนศรีนครินทร์ อุทยานแห่งชาติเขาแหลม เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันตก ฯลฯ เป็นที่อยู่ของสัตว์ป่าหายากและใกล้สูญพันธุ์หลายชนิด เช่น แมวลายหินอ่อน นกเงือกคอแดง เสือโคร่ง 

นอกจากความหลากหลายทางธรรมชาติ กาญจนบุรียังเป็นจังหวัดที่มีความหลากหลายทางเชื้อชาติและวัฒนธรรมด้วย ประชากรประกอบด้วยกลุ่มชาติพันธุ์ที่หลากหลาย โดยเฉพาะในผืนป่าทุ่งใหญ่ฯ มีกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงอาศัยอยู่ ซึ่งพวกเขาเองก็มีวัฒนธรรมและวิถีชีวิตอันเป็นเอกลักษณ์ของกลุ่มพวกเขาเอง และเป็นจุดหมายของการเดินทางครั้งนี้ 

คงจะไม่ผิดนัก หากจะกล่าวว่าจังหวัดกาญจนบุรีเป็นจังหวัดที่มีความงดงามและความอุดมสมบูรณ์ของธรรมชาติ ตลอดจนวิถีชีวิตวัฒนธรรมของผู้คน ไม่แปลกเลยถ้าหากใครมาจังหวัดนี้แล้วจะตกหลุมรักสิ่งต่าง ๆ และบันทึกการเดินทางนี้จะนำผู้อ่านไปพบกับความมหัศจรรย์ของดินแดนแห่งขุนเขาและวัฒนธรรมแห่งนี้เอง  

การเดินทางจากเมืองสู่ป่า   

หลังจากที่ผู้เขียนได้เกริ่นให้ฟังถึงความมหัศจรรย์ของจังหวัดกาญจนบุรีไปบ้างพอสมควรแล้ว ก็มาถึงช่วงของบันทึกการเดินทางของผู้เขียนเองบ้างแล้ว ผู้เขียนออกเดินทางแต่เช้ามาที่กาญจนบุรี ขณะนั่งรถมาบนถนนที่กำลังแล่นเข้าสู่กาญจนบุรี ระหว่างทางก็ได้มองออกไปนอกหน้าต่างและได้เห็นกับหมอกบาง ๆ ยามเช้า ที่ปกคลุมทุ่งนาก่อนเข้าสู่ตัวจังหวัด ผู้เขียนคิดว่านี้คือสัญญาณที่ดีของธรรมชาติที่กำลังบอกผู้เขียนว่าความมหัศจรรย์ของธรรมชาติอีกมากมายรอผู้เขียนอยู่ข้างหน้า  

เมื่อเข้าสู่ตัวจังหวัดกาญจนบุรีก็ต้องพบกับภูเขามากมายสองข้างทาง ภูเขาน้อยใหญ่ต่างก็เป็นเอกลักษณ์ที่โดดเด่นของจังหวัดนี้ การเดินทางมาที่จังหวัดนี้ทำผู้เขียนรู้สึกใกล้ชิดกับธรรมชาติตั้งแต่ยังอยู่ในตัวเมือง ไม่ต้องคิดเลยว่าสิ่งที่รออยู่ปลายทางข้างหน้าจะสวยงามขนาดไหน 

นั่งรถต่อมาอีกสักพักใหญ่ก็เดินทางเข้าสู่เขตอำเภอสังขละบุรี โดยคืนนี้ผู้เขียนจะพักที่บ้านของพี่น้อย นายมนตรี กุญชรมณี เจ้าหน้าที่ประสานงานป่าตะวันตก ซึ่งหมู่บ้านของพี่น้อยนั้นตั้งอยู่ท่ามกลางภูเขาและผืนป่าขนาดใหญ่ ทำให้อากาศที่นี้เย็นตลอดทั้งปี  

หลังจากนั้นไม่นานเราก็ได้เดินทางเข้าไปข้างในตัวอำเภอสังขละ เพื่อเข้าไปเรียนรู้วัฒนธรรมของชาวบ้านในผืนป่า และเรียนรู้ความมหัศจรรย์ของพืชที่เรียกว่ากาแฟ  

กาแฟ พืชสำคัญแห่งผืนป่าตะวันตก 

กาแฟเป็นพืชที่มีความสำคัญเป็นอย่างมากของผืนป่าตะวันตก โดยเฉพาะต่อบทบาทของการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันตก อีกทั้งยังเป็นพืชที่ช่วยยึดโยงชุมชน เจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่า และผืนป่าเอาไว้ร่วมกันด้วย  

วันนี้ผู้เขียนได้มีโอกาสมาสัมภาษณ์และพูดคุยกับ นายวันชัย สุดก้องหล้า ประธานกลุ่มวิสาหกิจผู้ผลิตกาแฟ ตำบลไล่โว่ ณ หน่วยพิทักษ์ป่าเกิงสะเดา ถึงเรื่องราวที่มาที่ไปของการปลูกกาแฟในพื้นที่ทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันตก รวมถึงความสำคัญของกาแฟต่อการอนุรักษ์ผืนป่าด้วย  

นายวันชัย สุดก้องหล้า ประธานกลุ่มวิสาหกิจผู้ผลิตกาแฟ ตำบลไล่โว่

แรกเริ่มเดิมทีกาแฟเป็นพืชที่ชุมชนในเขตป่าทุ่งใหญ่ฯ นั้นปลูกกันอยู่แล้ว แต่ชาวบ้านไม่ได้ให้ความสำคัญหรือใช้กาแฟเป็นพืชเศรษฐกิจมากเท่าไหร่ นายวันชัยเล่าว่า “ชาวบ้านไล่โว่นั้นปลูกและดื่มกาแฟเป็นกิจวัตรอยู่แล้ว แต่ก็ไม่ได้พัฒนาหรือนำกาแฟมาสร้างรายได้ต่อแต่อย่างใด”  

จุดเริ่มต้นการใช้กาแฟเป็นพืชเศรษฐกิจ เพิ่งมาเกิดขึ้นในช่วงระหว่างปี พ.ศ. 2558-2562 โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) ได้สนับสนุนงบประมาณดำเนินการในการจัดทำโครงการเสริมสร้างประสิทธิภาพและแรงจูงใจในการอนุรักษ์ป่าในผืนป่าตะวันตก ร่วมกับทางมูลนิธิสืบนาคะเสถียร และได้มีการดำเนินการในพื้นที่มรดกโลก “ทุ่งใหญ่-ห้วยขาแข้ง” ซึ่งเป็นพื้นที่อนุรักษ์ที่มีชุมชนอาศัยทั้งอยู่ภายในพื้นที่และอยู่ประชิดขอบป่าโดยรอบ โดยโครงการได้ดำเนินเรื่อยมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2558 จนถึง พ.ศ. 2563  

ทางมูลนิธิสืบนาคะเสถียรได้ดำเนินการส่งเสริมอาชีพที่เป็นมิตรแก่ผืนป่า ร่วมกับการสร้างส่วนร่วมในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติของชุมชนในพื้นที่ ทั้งนี้ก็เพื่อสร้างแรงจูงใจทางด้านอาชีพและเศรษฐกิจให้แก่ชาวบ้าน โดยจะมุ่งเน้นไปที่กิจกรรมหรือพืชที่มีอยู่ในชุมชนแต่แรกแล้ว หนึ่งในนั้นคือ กาแฟ ตามที่นายวันชัยเล่าในตอนต้น

ซึ่งด้านการส่งเสริมอาชีพทที่เป็นมิตรกับผืนป่านั้น มีเป้าหมายเพื่อสร้างแรงจูงใจทางด้านอาชีพและเศรษฐกิจ สนับสนุนในเชิงเศรษฐกิจพอเพียงให้กับชุมในพื้นในพื้นที่อนุรักษ์ เพื่อลดปัญหาการใช้ทรัพยากรธรรมชาติแบบมีส่วนร่วม

การส่งเสริมการปลูกกาแฟในพื้นที่ทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันตกนั้น ชุมชนได้รับการพัฒนาความรู้ การพัฒนาผลิตภัณฑ์ตัวอย่างและส่งเข้าสู่ตลาด การจัดซื้อจัดหาเครื่องมือหรืออุปกรณ์ในการพัฒนาการผลิต จนถึงการเรียนรู้การประชาสัมพันธ์ และการสร้างสัญลักษ์สินค้า รวมถึงเรื่องราวความเป็นมาให้สาธารณชนรับรู้ ถึงตอนนี้ มี 5ชุมชนด้วยกันที่ยึดถือเอาการปลูกกาแฟเป็นอาชีพหลัก ประกอบด้วย สะเนพ่อง กองม่องทะ เกาะสะเดิ่ง สะลาวะ และไล่โว่ ซึ่งภายหลังมีการจัดการส่งเสริมชาวบ้านในพื้นที่ก็มีรายได้จากการขายและส่งออกกาแฟ โดยการนำกาแฟที่อยู่แล้วมาคัดสรร พัฒนา แปรรูปให้กลายเป็นสินค้าที่สร้างรายได้ให้กับชุมชน จนกระทั่งมีการจัดตั้งกองทุนกลุ่มวิสาหกิจชุมชนผู้ผลิตกาแฟตำบลไล่โว่ในเวลาต่อมา จึงอาจกล่าวได้ว่ากาแฟได้กลายเป็นพืชเศรษฐกิจของชุมชนทั้ง 5 ในผืนป่าทุ่งใหญ่ฯ ไปแล้ว

นอกจากการที่กาแฟมีส่วนสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของชุมชนแล้ว อีกหนึ่งความมหัศจรรย์ของพืชชนิดนี้คือ กาแฟเป็นพืชที่มีบทบาทอย่างมากต่อการอนุรักษ์ผืนป่า กาแฟที่ทางมูลนิธิสืบนาคะเสถียรได้ส่งเสริมวิธีการปลูกแบบไม่พึ่งพิงสารเคมี ประโยชน์ที่เกิดขึ้นโดยตรงนั้นช่วยให้ชุมชนลดรายจ่ายในการซื้อสารเคมีกำจัดศัตรูพืช เมื่อไม่มีการใช้สารเคมีสุขภาพของผู้คนก็ดี แต่ที่สำคัญที่สุด คือ การช่วยให้ระบบนิเวศของผืนป่าไม่ปนเปื้อนสารเคมี เป็นมิตรต่อสัตว์และความหลากหลายของระบบนิเวศ

ตัวผู้เขียนเองก็ดื่มกาแฟเป็นกิจวัตรอยู่แล้ว แต่ก็พึ่งมาได้เรียนรู้เรื่องราวมหัศจรรย์ของกาแฟที่นี้ ไม่เกินจริงนักหากจะกล่าวว่ากาแฟเป็นพืชที่ช่วยผสานคน ป่า และสัตว์ป่าไว้ด้วยกัน เมื่อคนลดการพึ่งพิงป่า สัตว์ป่าก็มีที่อยู่อาศัยและแหล่งอาหาร นี่จึงถือได้ว่าเป็นอีกหนึ่งของความสำเร็จของมูลนิธิสืบนาคะเสถียรที่สามารถส่งเสริมให้ชุมชนเกิดการร่วมมือกันในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ  

การได้มาจังหวัดกาญจนบุรีในครั้งนี้ ผู้เขียนได้คำตอบแล้วว่าทำไมกาญจนบุรีถึงเป็นจังหวัดที่มีความมหัศจรรย์ ทั้งธรรมชาติและผู้คน หลายคนถึงเลือกมาที่นี้กัน รวมถึงการได้มาเรียนรู้เรื่องราวของกาแฟก็เป็นอีกหนึ่งสิ่งที่เปิดโลกของผู้เขียนพอสมควร  หลายสิ่งหลายอย่างที่ได้รับมาจากการมาเยือนกาญจนบุรีในครั้งนี้ผู้เขียนถือว่าเป็นความมหัศจรรย์ที่ควรค่าแก่การเรียนรู้และอนุรักษ์ไว้ ทั้งหมดนี้ต่างก็เป็นส่วนประกอบที่สำคัญที่ทำให้ผู้เขียนตกหลุมรักจังหวัดนี้

ผู้เขียน

+ posts

หนุ่มน้อยผู้หลงรักความไม่สมบูรณ์แบบ ออกเดินทางเพื่อเก็บภาพความงดงามของธรรมชาติ และชอบอ่านวรรณกรรมเป็นชีวิตจิตใจ